เป็นคดี “สะเทือนขวัญ” และ “เขย่าวงการสีกากี” กับเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 6 ก.ย.2566 ที่ ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม ในงานเลี้ยงของ “กำนันนก” ประวีณ จันทร์คล้าย ซึ่งเปิดบ้านสังสรรค์กับตำรวจหลายสิบนาย และ “หน่อง” ธนัญชัย ท่าผา ลูกน้องกำนันนก ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สารวัตร สถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกํากับการ 2 กองบังคับการตํารวจทางหลวง เสียชีวิต
และแม้ “หน่อง” จะถูกวิสามัญฆาตกรรมไปเมื่อเช้าวันที่ 8 ก.ย.2566 ขณะตำรวจเข้าปิดล้อมบริเวณโรงเจล้างหลังวัดพระแท่นดงรัง ต.พระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี หลังระดมกำลังไล่ล่าและสืบทราบว่าไปหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่คดีนี้ยังไม่จบง่ายๆ โดยเฉพาะคำถามจากสังคมประเด็นความสัมพันธ์ระหว่าง “กำนันนก” กับกลุ่มตำรวจที่ไปร่วมงานเลี้ยง รวมไปถึงความร่ำรวยของกำนันนก ถึงขั้นที่ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาดูแลการสืบสวนด้วยตนเอง
หนึ่งในเจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายคดีนี้ ปรากฎชื่อของ “ผกก.เปียก” พ.ต.อ.เขมรินทร์ พิศมัย ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดจันทบุรี ซึ่ง “บิ๊กโจ๊ก” ดึงมาร่วมทีม เป็นอีกหนึ่งใน “มือปราบ” ที่ผ่านงานสำคัญมาแล้วหลายหน้าที่ ไล่ตั้งแต่เริ่มรับราชการตำแหน่งพนักงานสอบสวน สบ.1 สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง , รองสารวัตรป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน , รองสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลคลองตัน , รองสารวัตรงานตรวจพิสูจน์มลภาวะกองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจจราจร , นายเวร สบ.2 ผู้บัญชาการศึกษา ,
สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 6 เกาะกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง , สารวัตรกองกำกับการสืบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 , สารวัตรกองกำกับการสืบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 , รองผู้กำกับการสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางกอกใหญ่ , รองผู้กำกับการสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง , ผู้กำกับการ สภานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา จ.ชลบุรี , ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบ้านกร่ำ จ.ระยอง , ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตราด จนล่าสุดดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดจันทบุรี
รวมถึงงานราชการพิเศษ อาทิ หัวหน้าชุดปฏิบัติการปราบปรามการฉ้อโกงผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , ชุดปฏิบัติการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและมือปืนรับจ้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ , คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีการพนันออนไลน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , หัวหน้าชุดปฏิบัติการปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์และจักรยานยนต์กองบัญชาการตำรวจนครบาล , หัวหน้าชุดปฏิบัติการปราบปรามการแข่งรถในทางสาธารณะกองบัญชาการตำรวจนครบาล
พ.ต.อ.เขมรินทร์ พิศมัย เป็นบุตรชายของ พ.ต.อ.สำพันธ์ พิศมัย และ นางรัศมี พิศมัย สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 35 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 51 ในขณะที่ศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนเตรียมทหารโดยเป็นหัวหน้าทีมรักบี้ฟุตบอลของโรงเรียนเตรียมทหารนำทีมเข้าแข่งขันรายการชิงให้ชนะเลิศแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศและได้รับคัดเลือกเป็นนักกีฬายอดเยี่ยมของนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 35
ย้อนไปเมื่อเดือน พ.ค.2563 พ.ต.อ.เขมรินทร์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ สภานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เคยให้สัมภาษณ์กับรายการ “ตำรวจอินดี้” ว่า สมัยเรียนชั้น ม.4 ที่ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ตนนั้นเป็นนักกีฬารักบี้ของโรงเรียน เวลานั้นมีการเปิดรับสมัครนักเรียนเตรียมทหารในโครงการ “นักกีฬาช้างเผือก” จึงเข้าไปสมัครสอบในโควตาดังกล่าว และไม่ใช่เรื่องยากในการปรับตัว เพราะคุ้นชินกับระบบการฝึกวินัย ระบบรุ่นพี่-รุ่นน้อง มาตั้งแต่เป็นนักเรียน ร.ร.วชิราวุธวิทยาลัย
“จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจในปี 2541 ตำแหน่งแรกที่เลือกลง สมัยนั้นก็ยังให้เลือกลงจากลำดับที่สอบ จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจปี 4 ผมจบที่ 35 จากประมาณ 300 คน ผมก็เลือกลงเป็นพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง อยู่นางเลิ้งได้ 1 ปี 8 เดือน ก็รู้สึกตัวเองกับงานสอบสวนเคมีไม่ค่อยจะตรง ไม่ค่อยจะถูกจริตกับผมเท่าไร ผมไม่ชอบนั่งตั้งรับ ทำงานอยู่ในสำนักงานนั่งโต๊ะ ก็เลยขอย้ายตัวเองไปอยู่เป็นรอง สวป.สน.มักกะสัน ตรงนี้ก็เริ่มได้เรียนรู้ที่จะปกครองบังคับบัญชาลูกน้องหน่วยเล็กๆ แล้ว 10 - 20 คน เป็นหัวหน้าสายตรวจ” พ.ต.อ.เขมรินทร์ กล่าว
หลังรับราชการอยู่หลายปี พ.ต.อ.เขมรินทร์ ค้นพบว่า “งานสืบสวน” เป็นงานที่ “ตรงใจ” ตนเองมากที่สุด โดยมองว่าเป็นงานที่สามารถออกแบบแนวทางการทำงานได้เอง “คดีเดียวกันนักสืบแต่ละคนอาจทำงานต่างวิธีกัน” และมีความท้าทายกับเป้าหมายที่ต้องค้นหาพยานหลักฐานให้เพียงพอที่เมื่อส่งฟ้องแล้วผู้ต้องหาจะได้รับโทษตามกฎหมาย แน่นอนหลายครั้งยอมรับว่าเหนื่อยกับปัญหาที่พบระหว่างการทำงาน แต่ก็ไม่เคยท้อแท้จนถึงขั้นอยากเลิกทำหน้าที่
พ.ต.อ.เขมรินทร์ เล่าย้อนไปเมื่อครั้งเริ่มงานฝ่ายสืบสวน ในตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลคลองตัน ว่า นักสืบสมัยก่อนเริ่มต้นจาก “การเดิน” และเป็นการเดินอย่างจริงจังจนบางครั้งกางเกงยีนส์ที่ใส่นั้นขาด ลัดเลาะไปตามชุมชนต่างๆ ตลอดจนสถานที่อโคจร เป็นระยะทางหลายกิโลเมตรต่อวัน “อะไรไม่รู้ก็ต้องเรียนรู้” นายตำรวจชั้นประทวน “จ่า-ดาบ” เหล่านี้เป็น “ครู” ได้ทั้งสิ้น แม้กระทั่งคดีดังๆ ที่เป็นข่าว ซึ่งตำรวจท้องที่อื่นๆ สามารถจับกุมคนร้ายได้ ตนก็ยังพยายามหาช่องทางเข้าไปพูดคุยกับชุดสืบสวนที่คลี่คลายคดีนั้น เพื่อศึกษาและเก็บเป็น “คลังความรู้” นำมาปรับใช้ในการทำงานของตนเองต่อไป
สำหรับ “ความกลัว” ในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากงานสืบสวนหลายครั้งต้องเข้าปิดล้อมจับกุมคนร้าย และมักตามด้วยการใช้อาวุธต่อสู้กัน พ.ต.อ.เขมรินทร์ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “กลัว..แต่ก็ต้องใช้ความกลัวเป็นสิ่งเตือนใจ” เตือนไม่ให้ประมาท การวางแผนต้องรอบคอบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การติดตาม การเฝ้า การสืบสวนหาข่าว การเข้าเกลียววางสาย ทุกอย่างไม่อาจเชื่อใครได้ จนกว่าจะได้พิสูจน์ทราบด้วยทีมงานของตนเอง หรือด้วยหูและตาของตนเท่านั้น
“ถ้าเรากลัวเรายิ่งต้องละเอียด เราต้องไม่ประมาท แต่ไม่ใช่ว่ากลัวแล้วไม่ทำ กลัวยิ่งต้องทำ ถ้าตำรวจกลัวภัยอันตรายโจรผู้ร้าย แล้วสังคมจะอยู่อย่างไร ตำรวจไม่ทำแล้วใครจะทำ” พ.ต.อ.เขมรินทร์ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี