แนะแก้ปัญหา‘ขาดแรงงาน-ทักษะไม่ตรง’ต้องเป็นภารกิจร่วมข้ามกระทรวง ชี้ยังมีอีก 7 กลุ่มให้พัฒนาได้
25 ก.ย. 2566 ที่ รร.เจดับบลิว แมริออท ซ.สุขุมวิท 2 กรุงเทพฯ ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการ เศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ตลาดแรงงานไทย: ข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2566 ในหัวข้อ“ตลาดแรงงานไทย: ข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย” จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ตอนหนึ่งระบุว่า นอกจากแรงงานรุ่นใหม่และแรงงานที่กำลังทำงานอยู่ ยังมีแรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่สามารถพัฒนาได้
อาทิ 1.กลุ่มนีท (NEET) หมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ทั้งในระบบการศึกษา การฝึกอบรมและการทำงาน ซึ่งงานวิจัยของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่ากลุ่มนี้มีมากถึง 1.3 ล้านคน ตัวอย่างเช่น แม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียน ผู้ทำผิดกฎหมายต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจ กลุ่มนี้นโยบายที่ควรมีคือส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะที่เชื่อมโยงกับระบบธนาคารเครดิต (Credit Bank) หมายถึงเมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้วสามารถเก็บเทียบเป็นหน่วยกิตหรือวุฒิการศึกษาได้
2.แรงงานที่สูญเสียงานไปเป็นเวลานาน นโยบายที่เหมาะสมคือการฝึกอบรมทักษะ 3.แรงงานเกษตรกรซึ่งจะว่างงานในช่วงที่อยู่นอกฤดูเก็บเกี่ยว นโยบายที่ควรมีคือ การสร้างงาน การฝึกอบรม พัฒนาวิสาหกิจชุมชน 4.แรงงานสูงอายุ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยยแล้ว สามารถสนับสนุนด้วยมาตรการทางภาษีที่จูงใจให้จ้างงานผู้สูงอายุ การจับคู่งาน การขยายอายุเกษียณ 5.ผู้พิการ ใช้มาตรการจูงใจแบบเดียวกับแรงงานสูงอายุ
6.ทหารเกณฑ์ ซึ่งเคยมีการให้ทำงานในภาคการขนส่ง อันเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ขาดแคลนแรงงาน เช่น มีรถยนต์แต่ไม่มีคนขับ จุดนี้น่าจะนำทหารเกณฑ์มาฝึกได้ แต่ก็ต้องประสานความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมด้วย เพราะทหารเกณฑ์ก็เป็นกำลังแรงงานอีกส่วนที่แข็งแรง มีเวลาว่างและต้องการหารายได้ และ 7.แรงงานข้ามชาติในทักษะที่จำเป็น เช่นตัวอย่างจาก สหรัฐอเมริกา มีนโยบายต่อวีซ่าให้กับนักศึกษาต่างชาติที่จบการศึกษาในสาขาที่ประเทศต้องการเพื่อให้สามารถอยู่ทำงานต่อได้
“โดยสรุปถ้าผมจะแบ่งแรงงานที่เป็นข้อจำกัด แบ่งได้ 3 กลุ่มด้วยกัน 1.แรงงานในอนาคต หรือแรงงานใหม่ สามารถพัฒนาได้ผ่านระบบการศึกษา ทวิภาคี สหกิจศึกษา 2.แรงงานปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว สามารถพัฒนาได้จากคุณวุฒิวิชาชีพ กลไกค่าจ้าง ฝึกอบรม การจ้างงานแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ และ 3.กลุ่มแรงงานอื่นๆ ที่หลุดหายไป จะเห็นว่า 3 กลุ่มนี้คือการมองตลาดแรงงานที่เป็นบูรณาการมากกขึ้นกว่าแรงงานที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน” ศ.ดร.พิริยะ กล่าว
ศ.ดร.พิริยะ กล่าวต่อไปว่า แรงงานมีสถานะที่หลากหลาย จึงไม่สามารถแก้ไขด้วยนโยบายแบบตัดเสื้อขนาดเดียวสำหรับทุกคน (One Size Fit All) และต้องทำงานบูรณาการร่วมกันไม่ใช่เฉพาะแต่กระทรวงแรงงานเพียงหน่วยงานเดียว อาทิ งานภาคขนส่งต้องเชื่อมโยงกับกระทรวงคมนาคม หรืองานนวดสปาก็เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข หรืองานด้านการท่องเที่ยว ก็จะเกี่ยวข้องกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และข้อจำกัดอย่างหนึ่งในการพัฒนาทักษะของแรงงานในประเทศไทย คือข้อจำกัดระหว่างหน่วยงาน
ทั้งนี้ มีตัวอย่างจากแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ของกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการจับคู่งานต่างๆ กับคนที่มีทักษะนั้น ปัญหาคือฐานข้อมูลยังไม่ละเอียดมากพอ เช่น คำว่า “แม่บ้าน” สำหรับกระทรวงแรงงานอาจหมายถึงแม่บ้านที่ทำความสะอาดสำนักงาน แต่ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อาจหมายถึงแม่บ้านทำงานในโรงแรมที่ต้องมีทักษะการปูเตียง การทำความสะอาดห้องพัก และเข้าใจมาตรฐาน SHA ของภาคธุรกิจโรงแรม เป็นต้น
“งานขนส่ง พนักงานขับรถระหว่างขับรถในบริษัท กับขับรถขนส่งที่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ หรือการขับรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ก็เป็นคนละทักษะกันอีกเช่นเดียวกัน ในคำว่าพนักงานขนส่งก็ไม่เพียงพอกับแพลตฟอร์มนี้ เรามีแพลตฟอร์มในการจับคู่งานอยู่แล้ว แต่มีรายละเอียดต่างๆ มากมายที่มันต้องแก้ไข ซึ่งมันต้องการการเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงต่างๆ ศ.ดร.พิริยะ ระบุ
ศ.ดร.พิริยะ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันแล้ว ยังต้องมีการประสานงานกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการ เพราะภาครัฐคงไม่สามารถทำอะไรได้หากผู้ประกอบการไม่แสดงออกว่าต้องการแรงงานที่มีทักษะแบบใด หรือสถาบันการศึกษา หากไม่มีการให้ข้อมูล ให้ดัชนีชี้นำ ให้องค์ความรู้ต่างๆ ก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้