‘นายกฯเศรษฐา’เซ็นตั้ง 3 มือดีตรวจสอบคดีค้นบ้าน‘บิ๊กโจ๊ก’ ลูกน้องโยงเว็บพนัน ดึง 3 หน่วยงาน‘ปลัดฉิ่ง-ชาติพงษ์-วินัย’ร่วมทีม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่247/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้นบ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหะสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศ ระบุว่า ตามที่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังเข้าค้นบ้านพักข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเคหะสถานอื่นอีกหลายสิบแห่งในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากพบว่ามีข้อมูลเชื่อมโยงเส้นทางการเงินเกี่ยวกับเว็บไซต์การพนันออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. และที่จะดำเนินการต่อเนื่องไปนั้น
โดยที่กรณีดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งกระทบกระเทือนต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขจัดผู้มีอิทธิพล และการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพนันออนไลน์ ให้หมดสิ้นไปอย่างจริงจังสมควรที่สังคมจะมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติกรรมและพฤติการณ์ของบุคคลผู้เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้น บ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย
1.นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ
2.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ
3.พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจำนวนไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ 2 คณะกรรมการตามข้อ 1 มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าค้นบ้านพักข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหะสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 25 ก.ย.และที่จะดำเนินการต่อเนื่องไป แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน30วัน
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่จำเป็นนายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปอีก ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุกสิบวัน
ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจเชิญ หรือประสานขอความร่วมมือ หรือขอเอกสารต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงาน ของรัฐที่ได้รับเชิญหรือขอความร่วมมือ ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโดยถือเป็นลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่สุด
ข้อ 4 ให้คณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อพิจารณาศึกษาหรือ ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ โดยให้คณะทำงานได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
เบี้ยประชุมตามวรรคหนึ่ง และค่าตอบแทนตามวรรคสอง ให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะกรรมการทั้ง 3 คนที่นายเศรษฐา ตั้ง ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อตรงและความสามารถ อาทิ
+ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ หรือปลัดฉิ่ง อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ชนะการเลือกตั้ง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ประเภท (ข) อันดับ 1ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่า เหตุที่ได้รับการทาบทามมาเป็นประธานกรรมการ เพื่อมาตรวจสอบและคานอำนาจตำรวจเรื่องเส้นทางการเงิน อีกทั้งบุคลิกนายฉัตรชัย เคยเป็นนักปกครองที่มีผลงาน ความสามารถ และมีประสบการณ์
+ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด สำหรับชื่อนี้ในวงการอัยการเป็นที่รู้จักกันอย่างดี เนื่องจาก นายชาติพงษ์ ขึ้นชื่อในฝีมือเรื่องปราบการทุจริตฯ มีประสบการณ์มาก เคยนั่งรองอธิบดีอัยการคดีพิเศษ เเละอธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจ เป็นหัวหน้าคณะทำงานที่คุมคดีสำคัญ ของสำนักงานคดีพิเศษหลายคดี เช่น คดีนิติบุคคล ฟิลิป มอร์ริส นำเข้าบุหรี่โดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ซึ่งขณะนี้มีกรณีพิพาท ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฟิลิปปินส์ ในเรื่องนี้ที่องค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ ,คดีทุจริต สหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเกี่ยวพันถึงคดีทุจริตฟอกเงินเครือข่ายวัดธรรมกาย คดีธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร รวมถึงคดีทุจริตการฟอกเงินในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
อีกทั้งเป็นกรรมการสอบวินัยร้ายแรงนายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้องคดี “บอส” ที่ถูกเลือกเข้ามาเป็น 1 ใน 3 กรรมการทั้งที่ไม่ได้เป็น ก.ตร.ถือเป็นกรรมการคนกลางอย่างแท้จริงที่ถูกเลือกเข้ามาทำหน้าที่ตรงไปตรงมา เนื่องจากมีความรู้เรื่องในวงการตำรวจเป็นอย่างดีเพราะเป็นบุตรชาย พล.ต.อ.สุพาสน์ จีระพันธุ อดีต ผบช.ก. ปัจจุบันเป็นอัยการอาวุโส สำนักงานชี้ขาดคดีสำนักงานอัยการสูงสุด
+ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรอง ผบ.ตร. และเป็น ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากอดีตข้าราชการตำรวจ และนายกสมาคมตำรวจ ทั้งยังเคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คุมเมืองหลวง ซึ่งที่ผ่านมามีผลงานบทบาทผลักดันในเรื่องการปฏิรูปตำรวจ และออกมาสนับสนุน ข้าราชการตำรวจที่ดี ไม่มีเส้น ไม่มีผู้ใหญ่หนุนหลัง ในการการพิจารณาตำแหน่ง เลื่อนขั้น ด้วยหลักคุณธรรม ความสามารถ อาวุโส และสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง ก.ตร.จากข้าราชการตำรวจ แบบศาลกับอัยการ ซึ่งการถูกเลือกเข้ามาของ พล.ต.อ.วินัย เนื่องจากเป็นคนซื่อตรงและกล้าที่จะเข้ามาแกปัญหาอย่างตรงไปตรงมาเพื่ออนาคตของข้าราชการตำรวจต่อไป
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี