เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 จากกรณีมีการแชร์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “นี่คือยางของใบกระท่อม ในน้ำใบกระท่อม 1 ลิตร ที่ต้มแล้ว ทิ้งไว้ 1 คืนจะได้ยางกระท่อมประมาณ 200 กรัม เมื่อกินน้ำกระท่อมแล้วยางตัวนี้จะไปติดอยู่ที่ไตของเรา ซึ่งไตเราไม่สามารถขับออกมาเป็นปัสสาวะได้ อาจเสี่ยงเป็นโรคไตได้” ในสื่อสังคมออนไลน์ ล่าสุด กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวผ่านเพจเฟซบุ๊กในประเด็นนี้ ว่า
การต้มน้ำกระท่อมหลังการต้มอาจมีตะกอนหรือเศษใบกระท่อมหลงเหลืออยู่ ควรมีการกรองก่อนนำไปรับประทาน ใบกระท่อมไม่สามารถย่อยทำให้มีการตกตะกอนในลำไส้ซึ่งไม่สามารถขับถ่ายออกมาได้ทำให้เกิดพังผืดหุ้มรัดรอบก้อนกากกระท่อมนั้น เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้
ข้อควรระวังในการใช้ใบกระท่อม
1.ไม่ควรใช้ในเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี
2.ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
3.ควรระวังในผู้ที่มีการทำงานของตับและไตบกพร่อง เนื่องจาก เป็นข้อควรระวังในการใช้ยาทุกชนิด เพราะยาส่วนใหญ่จะถูกเมทาบอลิซึมที่ตับแล้วขับออกทางไตรวมทั้งพืชกระท่อมด้วยเช่นกัน
4.การใช้ใบกระท่อมสดโดยไม่ลอกก้านใบออกจากตัวใบและกลืนกากกระท่อม อาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ได้
5.อาจเกิดอาการท้องผูกในกลุ่มผู้ใช้ที่เคี้ยวใบกระท่อมสด วิธีการป้องกัน คือ ให้ดื่มน้ำตามมากๆ
6.อาจทำให้เกิดอาการเมากระท่อมในผู้ใช้ครั้งแรกหรือใช้ในปริมาณมาก
7.อาจเกิดการติดกระท่อมได้ แต่ก็อาจขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการใช้ปริมาณและความถี่ในการใช้กระท่อมของแต่ละบุคคล
ข้อมูลเพิ่มเติม : หนังสือแนวทางการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม https://drive.google.com/file/d/18WU-zx7KtzsmLDhG84manYa0W5VsNnK1/view
สอบถามเพิ่มเติม : กลุ่มงานวิชาการสมุนไพรไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย โทร 02-591-7007 ต่อ 3513
- 006