อีกไม่กี่วันก็จะกลับเข้าสู่ช่วง “เปิดเทอม” กันแล้ว ในภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2566 ซึ่ง “การเดินทาง” ก็จะเป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ โดยหากเป็นในเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) คงหนีไม่พ้นการจราจรติดขัด หรือไม่ก็ภาระค่าครองชีพด้านค่าเดินทางรวมถึง “อุบัติเหตุบนท้องถนน” ทั้งด้วยเด็กและเยาวชนขับขี่ยานพาหนะเองหรือพ่อแม่ผู้ปกครองพาไปส่ง และที่เกี่ยวข้องกับ “รถรับ-ส่งนักเรียน” ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นสักครั้งหนึ่งจะสร้างอันตรายให้กับเด็กจำนวนมาก ยิ่งในปัจจุบันที่เป็น “ยุคเด็กเกิดน้อย” เรื่องนี้ยิ่งสำคัญ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) จัดประชุม (ออนไลน์) หัวข้อ “สร้างอย่างไร..? ความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียน” ซึ่ง ธชวุฒิ จาดบันดิสถ์ นักวิชาการประจำศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ศวปถ. เก็บข้อมูลอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถรับ-ส่งนักเรียนมาแล้ว 6 ปี ซึ่งพบว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับรถรับ-ส่งนักเรียน 30 ครั้ง แยกเป็นอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน 27 ครั้ง ภัยธรรมชาติ 2 ครั้ง และการลืมเด็กไว้ในรถ 1 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 274 รายเสียชีวิต 2 ราย
ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2566 ยังไม่ทันครบปีก็เกิดอุบัติเหตุไปแล้ว 27 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ339 คน เสียชีวิต 2 ราย “ทั้งนี้ สถิติอุบัติเหตุรถรับ-ส่งนักเรียนลดลงอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่เมื่อการใช้ชีวิตกลับสู่ภาวะปกติก็กลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง” ด้วยความเสี่ยง เช่นเปิดเทอมวันแรก สภาพรถไม่พร้อม ไม่ได้ขับนานหรือไม่ชินเส้นทาง เช่น สภาพการจราจรหรือเส้นทางที่เปลี่ยนไป คนขับหลับในเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ อายุและโรคประจำตัวของคนขับ ไปจนถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ
“รถนักเรียนส่วนใหญ่เราค้นพบว่าจะทำงาน 2 กะ เช้าขับรถส่งนักเรียน กลางวันทำงาน แล้วเย็นก็มารับอีกรอบหนึ่ง หรือบางจังหวัดเราค้นพบว่ารถนักเรียนทำงานกลางคืนด้วย เช่น เป็นชาวสวน ไปกรีดยางตอนกลางคืนอย่างนี้เป็นต้น ก็จะมีอาการนอนไม่พอ อีกส่วนที่พบคืออายุเยอะมีโรคประจำตัว คนขับรถนักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นวัยเกษียณ เป็นผู้เฒ่าผู้แก่มาขับรถนักเรียน อยู่บ้านก็ขับรถส่งลูก-หลานแล้วก็มาขับรถนักเรียนพ่วงไปด้วย” ธชวุฒิ กล่าว
ธชวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องดื่มแล้วขับ ตนเองเจอเพียง 1 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่คนขับรถรับ-ส่งนักเรียนเท่าที่เคยทำงานด้วยจะไม่มีพฤติกรรมนี้เมื่อรู้ว่าต้องขับรถก็จะไม่ดื่ม แต่เมื่อพบแล้วก็ถือว่าสถานการณ์ซับซ้อนขึ้น แต่โดยสรุปแล้ว “9 เดือนแรกของปี 2566 อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถรับ-ส่งนักเรียน เกิดจากคนมากถึง 19 ครั้ง” รองลงมาคือเกิดจากถนน 5 ครั้ง และจากรถ 3 ครั้ง และเมื่อดูย้อนหลังเกือบ 6 ปี (ช่วงปี 2560-2565 และ 9 เดือนแรกของปี 2566) อุบัติเหตุมาจากคนขับรถถึงร้อยละ 63 รองลงมาร้อยละ 21 ถูกพาหนะอื่นเฉี่ยวชน และร้อยละ 15 สิ่งแวดล้อมรอบข้าง
“ทำไมการแก้ปัญหาอุบัติเหตุรถรับ-ส่งนักเรียนถึงทำได้ยาก?” พบมีหลายสาเหตุ 1.ความหลากหลายของผู้กำกับดูแล มีทั้งกรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่สอดคล้องกัน และหน่วยงานเหล่านี้ก็ไม่ได้บูรณาการร่วมกัน ทำให้การทำงานระดับพื้นที่เกิดความสับสน 2.การกำกับดูแลที่ไม่ปลอดภัยโดยเฉพาะการขาดเจ้าภาพหลัก เช่น ขนส่งฯ จะดูแลเฉพาะการตรวจสภาพรถ ไม่ได้ดูแลตอนวิ่งอยู่บนถนน ส่วนผู้ปกครองก็จะบอกว่าเป็นหน้าที่โรงเรียน แต่โรงเรียนก็บอกว่าดูแลเฉพาะตอนรถจอดอยู่ในโรงเรียน
3.สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย เช่น ถนนบางเส้นเลาะเลียบไปตามแนวคลอง แต่บริเวณริมคลองไม่มีขอบรั้วกั้น อาจทำให้รถเกิดอุบัติเหตุตกลงไปในคลองได้ หรือแม้กระทั่งสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้รถโรงเรียนหายไปจากระบบเป็นจำนวนไม่น้อย และ 4.คนขับรถ พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย อนึ่ง “นอกจากอุบัติเหตุแล้ว ยังพบว่าในทุกๆ ปี จะต้องมีเหตุลืมเด็กไว้ในรถเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งเสมอ” แต่การแก้ปัญหาก็เป็นไปอย่างสับสน เพราะตำรวจออกประกาศรถรับ-ส่งนักเรียนต้องไม่ติดฟิล์มกรองแสง แต่ขนส่งฯกลับบอกว่าสามารถติดได้ เป็นต้น
ขณะที่ สุขสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานเรื่องเมาไม่ขับ มาตั้งแต่ปี 2539 จนปัจจุบันคือ 27 ปีแล้ว ยืนยันอีกเสียงว่าพบคนขับรถรับ-ส่งนักเรียนที่มีพฤติกรรมดื่มแล้วขับน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะคนขับรถรับรู้ว่าการดื่มแล้วขับคือการทำลายอนาคตการประกอบอาชีพของตนเอง อีกทั้งส่วนใหญ่คนขับรถก็เป็นคนในชุมชนเดียวกันกับนักเรียนที่ไปรับ-ส่ง อาทิ เป็นคนวัยเกษียณที่มีรถยนต์แล้วมาทำหน้าที่ ส่วนคนขับรถที่โรงเรียนจ้างนั้นมีน้อย
“ใครจะรับผิดชอบ? ผมคิดว่าต้องรับผิดชอบร่วมกัน ผู้บริหารสถานศึกษาจะบอกว่ารถนักเรียนเมื่อออกนอกรั้วโรงเรียนแล้วไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียน ไม่ใช่! ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง ขนส่งฯ ตำรวจ ผมคิดว่า 3-4 หน่วยนี้ต้องทำงานร่วมกัน ในการที่จะควบคุมผู้ขับรถนักเรียน ผมไม่แน่ใจว่าสถานศึกษามีการจัดอบรมผู้ขับขี่รถนักเรียนไหม? แต่เท่าที่ผมมีประสบการณ์ บางจังหวัดถ้าเขาเอาจริงเอาจังจะมีการอบรมทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน ขอความร่วมมือสถานศึกษาส่งคนขับรถไปเข้าคอร์สอบรม ผมก็เคยไปอบรมที่ จ.สมุทรปราการ เขาเชิญผมไป” สุขสิทธิ์ กล่าว
ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีนักเรียน 7.3 ล้านคน แต่ใช้บริการรถรับ-ส่งนักเรียนไม่น่าจะเกินร้อยละ 5 เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่ผู้ปกครองจะเป็นผู้รับ-ส่งบุตรหลานเองไม่ว่าจะด้วยรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ก็ตาม คำถามคือบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งข้อกำหนดของขนส่งฯ กำหนดประเภทของรถกับจำนวนผู้โดยสาร กำหนดให้คนขับต้องมีใบขับขี่มาไม่ต่ำกว่า 3 ปี มีอุปกรณ์ฉุกเฉินในรถ ฯลฯ แต่ก็เข้าใจบริบทจริงในสังคมไทยโดยเฉพาะในชนบท อาจมีการนำรถที่มีสภาพไม่เหมาะสมมาใช้ และใช้กันจนชินไม่มีการทักท้วง
ส่วนกรณีดื่มแล้วขับ แม้จะพบได้น้อยแต่เมื่อพบก็ต้องถือเป็นกรณีศึกษา ซึ่งบางครั้งคนขับรถตัวจริงอาจไม่พร้อมด้วยสาเหตุต่างๆ จึงมอบหมายให้บุคคลอื่นมาขับแทน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการตรวจคนขับก่อนปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรมีมาตรการสุ่มตรวจ เพื่อสร้างความตระหนักว่า “งานที่ทำอยู่คือการดูแลอนาคตของชาติ” ขณะเดียวกัน โรงเรียนต้องหาเวลาประชุมคนขับรถรับ-ส่งนักเรียน ซึ่งจำนวนมากก็เป็นผู้ปกครองของนักเรียนในโรงเรียนอยู่แล้ว “ในเมื่อหากินกับโรงเรียนแล้วก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย” จะขับขี่อย่างไม่ปลอดภัยไม่ได้
“หน่วยงานที่น่าจะมีส่วนช่วยได้คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผมเห็นที่ จ.นครศรีธรรมราช อปท. เขามีส่วนร่วมในการจัดหารถนักเรียนแล้วไปรับ-ส่งนักเรียน ซึ่งก็ไม่ได้ผิดระเบียบ สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ก็ไม่ได้ตรวจสอบ ทำได้! อปท. ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือดูแลลูกหลานในท้องถิ่นของตัวเอง” ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ ให้ความเห็น
ด้าน ธนัชพร เกิดผล หัวหน้ากลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า รถรับ-ส่งนักเรียนมี 2 ประเภท คือ 1.รถตามกฎหมาย พ.ร.บ.ขนส่งทางบก จะมีลักษณะเฉพาะ เช่น ต้องทาสีเหลืองคาดดำ กับ 2.รถตามกฎหมาย พ.ร.บ.รถยนต์ ซึ่งเป็นการนำรถหลากหลายประเภท ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถตู้รถสองแถว มาเป็นพาหนะรับ-ส่งนักเรียน แต่จำนวนที่นั่งจะต้องไม่เกิน 12 ที่นั่ง ต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น รถตู้ต้องมีค้อนทุบกระจกและเครื่องดับเพลิง นอกจากนั้นยังมีข้อกำหนดของคนขับรถ รวมถึงผู้ควบคุมนักเรียนระหว่างรับ-ส่ง
ทั้งนี้ “การอนุญาตให้ใช้รถเพื่อรับ-ส่งนักเรียน จะออกใบอนุญาตเป็นรายภาคการศึกษา” โดยรถจะต้องผ่านการตรวจสภาพความพร้อม “ส่วนเรื่องการติดฟิล์มกรองแสงในตอนแรกไม่อยากให้ติดแต่มีเสียงคัดค้านเพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อน” จึงประนีประนอมด้วยการออกข้อกำหนดว่า “ติดได้แต่ต้องสามารถมองจากข้างนอกเห็นข้างในได้ชัดเจน” เพราะรถทุกชนิดที่วิ่งกันบนถนนในเมืองไทยล้วนติดฟิล์มทั้งสิ้นขึ้นอยู่กับว่าจะติดหนาทึบเท่าใด
“การขออนุญาตไม่ใช่แค่การเอารถมาตรวจ ต้องมีเอกสารสำเนาทะเบียนรถ ใบขับขี่ผู้ขับรถ แล้วก็หลักฐานของผู้ควบคุมนักเรียน รายชื่อนักเรียนที่โรงเรียนรับรองมาว่ารับ-ส่งโรงเรียนไหน ซึ่งเราจะมีประวัติอยู่ ของนนทบุรี หลังโควิดเป็นต้นมา ตั้งแต่ปี 2564-2565พอมาดูมีมาขออนุญาตทั้งปี 10 กว่าคัน ปี 2564ประมาณ 19 คัน ปี 2565 16 คัน พอเห็นข้อมูลแบบนั้น ในปี 2565 ก็เลยพยายามให้ผู้ตรวจการของสำนักงานขนส่ง ลงพื้นที่ไปตามโรงเรียนต่างๆ ไปทำข่าว ไปแจกข้อมูลหลักเกณฑ์ ไปทำความเข้าใจกับอาจารย์หรือผู้บริหารโรงเรียน” ธนัชพร ระบุ
หัวหน้ากลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดนนทบุรี ยังกล่าวอีกว่า ส่วนในปี 2566 ประมาณ 8-9 เดือนล่าสุด มีการนำรถมาขออนุญาตเป็นรถรับ-ส่งนักเรียนจำนวน 89 คัน ซึ่งเป็นผลจากการทำงานขับเคลื่อนเพื่อให้นำรถเข้าสู่ระบบ ที่นอกจากจะตรวจสภาพรถแล้วยังได้ใช้โอกาสนี้อบรมคนขับรถด้วย อนึ่ง โรงเรียนยังมีบทบาทสร้างความตระหนักกับผู้ปกครองนักเรียนได้ด้วย ว่าควรให้บุตรหลานเดินทางด้วยรถประเภทใด
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ในความเป็นจริงรถส่วนใหญ่ที่นำมาใช้รับ-ส่งนักเรียน ไม่ใช่รถตามกฎหมาย พ.ร.บ.ขนส่งทางบก แตเป็นรถประเภทอื่นหรือหมวดอื่น ดังนั้นจึงสัมพันธ์กับการตรวจสภาพ ขณะที่การมีอุปกรณ์ที่จำเป็น หากเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งเจ้าของรถใช้งานในชีวิตประจำวัน หลายคันก็ไม่ได้ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์เหล่านั้น นอกจากนั้น “ทัศนคติของคนขับ” ก็สำคัญ ดังกรณีดื่มแล้วขับ คนขับเชื่อว่าตนเองดื่มเพียงเล็กน้อยไม่น่าเป็นอะไร แต่สุดท้ายก็ไปเกิดอุบัติเหตุ
“จริงๆ ถ้าเราทำให้คนขับรถนักเรียนเขาถูกยกระดับว่าเขากำลังรับผิดชอบชีวิตเด็กพ่อแม่ฝากความหวัง ฝากความไว้วางใจไว้ หลายโรงเรียนหรือหลายพื้นที่ทำให้คนขับเพิ่มความตระหนักขึ้นมาทันทีเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ บางโรงเรียนผมเคยฟังในพื้นที่ ในภาคใต้อย่าง อ.ท่าศาลา (จ.นครศรีธรรมราช) เขายกระดับเรื่องรถนักเรียน บางโรงเรียนถึงขั้นวันไหว้ครู มีคนขับรถนักเรียนมาอยู่ในแถวที่ 2เลยนะ เพื่อให้คนขับรถนักเรียนรับรู้ว่าเขาเป็นคนสำคัญของเด็ก ที่จะพาเด็กไป-กลับปลอดภัย” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี