วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ในประเทศ
‘ซอฟท์ เพาเวอร์’กับความเข้าใจ  ‘รัฐ-สังคมไทย’มาถูกทางแล้วหรือยัง?

‘ซอฟท์ เพาเวอร์’กับความเข้าใจ ‘รัฐ-สังคมไทย’มาถูกทางแล้วหรือยัง?

วันจันทร์ ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566, 07.30 น.
Tag : ซอฟท์ เพาเวอร์
  •  

“ในปี 2023 (2566) ใน 10 อันดับที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษและเยอรมนี แล้วอันดับ 4 กับ 5 คือญี่ปุ่นกับจีน ที่น่าสนใจคือในปีนี้อันดับ 10 ที่เพิ่งเขยิบขึ้นมาคือประเทศ UAE (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ผมให้ข้อสังเกตอย่างนี้ ใน 3 ประเทศแรกอเมริกา อังกฤษและเยอรมนี คะแนนที่น่าสนใจคือในด้าน IR (International Relation-ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) เต็ม 10 คือ 7 ขึ้นทั้ง 3 ประเทศ รวมถึง Familiarity (ความคุ้นเคย) ก็จะมีคะแนน 7 ขึ้นทั้ง 3 ประเทศ”

ชุติเดช เมธีชุติกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในวงสัมมนา (ออนไลน์) หัวข้อ “Soft Power : อำนาจที่ทรงอิทธิพลในศตวรรษที่ 21” เมื่อเร็วๆ นี้ถึงการจัดอันดับ “ดัชนีซอฟท์ เพาเวอร์โลก (Global Soft Power Index)” โดย Brand Finance บริษัทสัญชาติอังกฤษซึ่งทำธุรกิจด้านให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาแบรนด์ พบว่า ใน 3 ปีล่าสุด (2564-2566) “อันดับ Soft Power ของไทยในเวทีโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง” จากปี 2564 อยู่ในอันดับ 33ปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่อันดับ 35 และปี 2566 ก็ตกลงไปอยู่อันดับ 41


ที่มาของงานสัมมนาครั้งนี้ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ชุติเดช ระบุว่า ในประเทศไทยประเด็น Soft Power ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่ถูกชูขึ้นของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน เช่น การแต่งตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power แห่งชาติ” เมื่อวันที่13 ก.ย. 2566 โดยมีคณะกรรมการ 23 คน และให้สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ร่วมขับเคลื่อน

รวมถึงนโยบาย “1 ครอบครัว 1 Soft Power” และความพยายามตั้ง “Thailand Creative Content Agency (THACCA)” ซึ่งน่าจะมีต้นแบบมาจาก “KOCCA” ของเกาหลีใต้ ทั้งนี้ การประเมิน Global Soft Power Index ใช้ตัวชี้วัด 9 ด้าน สำหรับ “ประเทศไทย” พบ “การศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Education & Science) เป็นด้านที่ได้คะแนนต่ำที่สุด คือ 2.6 จาก 10 คะแนน” รองลงมาคือ ธรรมาภิบาล (Governance) 3 เต็ม 10 อันดับ 3 สื่อและการสื่อสาร (Media & Communication) 3.3 เต็ม 10และอันดับ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) 3.4 เต็ม 10

ส่วน “ด้านที่ไทยได้คะแนนสูงที่สุดคือ ความคุ้นเคย (Familiarity) 6.5 จาก 10 คะแนน” รองลงมาคือ ชื่อเสียง (Reputation) 6.1 เต็ม 10 ซึ่งเมื่อย้อนกลับมาดูนโยบายของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน “มีข้อสังเกตว่า ในขณะที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เน้นไปที่การส่งเสริม Soft Power ด้านเศรษฐกิจ แต่ประเทศที่ได้อันดับสูงๆ ตามการจัดอันดับ Global Soft Power Index ไม่ว่าสหรัฐฯ อังกฤษหรือเยอรมนี ล้วนได้คะแนนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสูงทั้งสิ้น” จึงเป็นคำถามว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่จะส่งเสริมสถานะของประเทศไทยได้มาก-น้อยเพียงใด

รศ.สีดา สอนศรี อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า หากดูจากตัวอย่างนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power หมายถึงการให้แต่ละครอบครัวผลิตสิ่งของขึ้นมาแล้วรัฐบาลจะหาตลาดให้หรือไม่? เรื่องนี้คือปัญหาเพราะ “รัฐบาลยังจับหลักไม่ได้ว่า Soft Power คืออะไร?” ซึ่งจริงๆ แล้ว Soft Power ต้องมีทั้งวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง นโยบายระหว่างประเทศ “สิ่งสำคัญคือต้องสร้างแบรนด์เนมจากในประเทศให้ออกไปสู่ต่างประเทศ” ดังที่เห็นจากไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน แต่ไทยยังดูเป็นการสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่

คำถามคือ “สมมุติสินค้าที่ผลิตออกมา เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของดูเหมือนๆ กันหมด จะหาตลาดอย่างไร?” รัฐบาลต้องเริ่มตั้งหลักให้ถูก เช่น เมื่อตั้งหลักที่เศรษฐกิจก็ต้องคิดว่าจะไปเชื่อมกับโลกได้อย่างไร จะหาตลาดให้ผู้ผลิตอย่างไร หรือจะซ้ำรอย “1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP)” ที่ส่งเสริมการผลิตแต่สุดท้ายสินค้าที่ออกมาหน้าตาเหมือนกันหมดแล้วก็ขายไม่ได้

“เราโปรโมทให้คนมาท่องเที่ยวประเทศไทย แต่เราไม่ได้สร้างแบรนด์ติดเอาไว้ในต่างประเทศ เพียงแต่เขาดูในสารคดีเท่านั้นเองว่านักท่องเที่ยวพอมาถึงประเทศไทยทำให้เกิดปัญหา อย่างเช่นข่าวต่างๆ ที่ทราบอยู่แล้ว มันเกิดปัญหากับคนที่มาเที่ยว เพราะฉะนั้นถ้าเราจะโปรโมทการท่องเที่ยวจริงๆ เราต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ แก่คนที่มาท่องเที่ยว อันนี้ฝากไว้ เพราะว่ามันมีปัญหามากมายเหลือเกิน

แล้วก็เรื่องความสะอาด เรื่องอะไรต่างๆ เราต้องสร้างค่านิยมของคนไทยให้มันดีเสียก่อน สร้างคนให้ดีเสียก่อน เราถึงจะสร้างการท่องเที่ยวทีหลัง เหมือนกับเกาหลี (ใต้) เหมือนกับจีน เหมือนกับญี่ปุ่น วัฒนธรรมของเขามันดีอยู่แล้ว เขาต้องสร้างคนภายในก่อน พอสร้างคนภายในแล้วเขานำภายในออกสู่ภายนอก” อาจารย์สีดา กล่าว

อาจารย์สีดา กล่าวต่อไปถึงนิยามของ Soft Power ที่นักวิชาการ โจเซฟ นาย (Joseph Nye) กล่าวถึง ซึ่งมีเรื่องของ “ค่านิยม” ที่ต้องหาให้พบว่าคืออะไร? แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าไม่ใช่ประเทศอื่นๆ จะรับค่านิยมของประเทศเราได้เสมอไป นอกจากนั้น “วัฒนธรรมที่เผยแพร่ควรเป็นวัฒนธรรมที่สามารถรับได้ง่าย หรือวัฒนธรรมประยุกต์ (Adapt)” ไม่ใช่วัฒนธรรมเก่าแก่หรือหรูหราที่จับต้องเข้าถึงได้ยาก สุดท้าย “ต้องเชื่อมโยงกับนโยบายระหว่างประเทศ” เพราะการเผยแพร่ Soft Power ต้องอาศัยการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข อาจารย์สาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าววถึงนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ว่า มีความ
คาบเกี่ยวกับ OTOP ซึ่งต้องทำให้ชัดเจนก่อนว่า 2 นโยบายนี้แตกต่างกันอย่างไร แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เห็นว่า “ความเข้าใจคำว่า Soft Power ในสังคมไทยยังมีความคลาดเคลื่อน” โดยสำหรับสังคมไทย “มุมบวก” คือการที่คนหันมาสนใจ Soft Power กันมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของวัฒนธรรมกับการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

แต่ “มุมที่อาจไม่ค่อยบวกเท่าไร” คือความเข้าใจคำว่า Soft Power ยังอยู่ในมุมที่จำกัดอยู่เพียงด้านวัฒนธรรมเพียงมุมเดียว แต่จริงๆ แล้ว Soft Power มีหลายด้าน เช่น นโยบายต่างประเทศ ค่านิยม ระบบระเบียบเชิงสถาบันในประเทศ อาทิ ประเทศที่การเข้าเมืองทำได้ยาก ภาษียังเป็นอุปสรรค การบังคับใช้กฎหมายยังไม่ค่อยดี ต่อให้โปรโมทมากเพียงใดก็ยังไปได้ค่อนข้างลำบาก

หรือแม้แต่เรื่องวัฒนธรรมสังคมไทยก็ยังมองด้วยกระบวนทัศน์ (Paradigm) แบบเดิมๆ เช่น โปรโมทการท่องเที่ยว อาหาร และวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างโขน รำไทย ฯลฯ แต่จริงๆ แล้ว ทรัพยากรสำคัญทางวัฒนธรรมคือ Pop Culture หรือวิถีชีวิตของคนทั่วไป เช่น การกิน-การอยู่ หรือเทศกาลต่างๆ (อาทิ วันสงกรานต์) นอกจากนั้น “นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ดูจะสับสนระหว่างคำว่า Soft Power กับทักษะ” จริงๆ แล้วนโยบายนี้คือการสนับสนุนทักษะของแต่ละครอบครัวหรือไม่? ซึ่งไม่ใช่ Soft Power

ทั้งนี้ ยังมีอีกคำหนึ่งคือ “สมาร์ทเพาเวอร์ (Smart Power)” หรือ อำนาจฉลาด หมายถึง การใช้อำนาจผสมผสานทั้งอำนาจแข็ง (Hard Power) และอำนาจอ่อน (Soft Power) โดยอำนาจแข็ง คืออำนาจทางการทหารหรือทางเศรษฐกิจ เช่น การส่งกำลังทหารหรือสนับสนุนงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ ซึ่งประเทศที่มี Soft Power และยังมี Hard Power หนุนหลัง คนจะยอมรับได้ง่ายขึ้นและมองอย่างเป็นมิตร

ยังมีนักวิชาการชาวจีน หลี่ หมิงเจียง (Li Mingjiang) ที่ใช้คำว่า “ซอฟท์ ยูส ออฟ เพาเวอร์ (Soft use of Power)” หรือการใช้อำนาจอย่างนุ่มนวล (โดยไม่ต้องระบุว่าแข็งหรืออ่อน) ขณะที่เมื่อย้อนกลับไปที่ โจเซฟ นาย ผู้ริเริ่มกล่าวถึงคำว่า Soft Power ไว้ตั้งแต่ปี 2533 จะพบว่า “โจเซฟ นาย มองคำว่า Soft Power อยู่ที่ชาติมหาอำนาจ (Great Power) ซึ่งมีนโยบายต่างประเทศที่เป็นมหายุทธศาสตร์ (Great Strategy)” กล่าวคือ ชาติมหาอำนาจต้องการความชอบธรรมจาการสร้างชื่อเสียงที่ดี

ดังตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สหรัฐอเมริกา-จีน ทั้ง 2 ประเทศต้องการใน 2 เรื่อง คือ 1.สร้างความยอมรับในนโยบายระหว่างประเทศ กับ 2.สร้างความยอมรับนิยมชมชอบในตัวแบบของประเทศตนเอง อย่างกรณีของสหรัฐฯ จะเน้นเรื่องค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและการค้าเสรี ในขณะที่จีนจะส่งเสริมยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง (Belt & Road Initiative) มีการตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และแสดงออกว่าการปกครองแบบสังคมนิยมก็เป็นต้นแบบที่ดีได้

แต่เมื่อมองไปที่ เกาหลีใต้ จะไม่ได้ต้องการในระดับเดียวกับชาติมหาอำนาจข้างต้น แต่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงปลายทศวรรษ 1990 (ปี 2533-2542) ที่ประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของทวีปเอเชีย ดังนั้นไทยที่เป็นประเทศขนาดกลางก็น่าจะดำเนินนโยบายแบบเดียวกับเกาหลีใต้ แต่ก็ย้ำว่าต้องให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศด้วย เช่น ไม่ใช่ว่าประเทศตนเองต้องการสร้าง Soft Power แต่ยังเพิกเฉยต่อความทุกข์ยากของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

“ผมว่าที่ Soft Power เราตกมันก็มีเหตุผลจากพวกนี้ด้วย ในประเทศเรายังมีการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง มันดูแล้ว Soft Power มันจะไปลำบาก เราเอาแบบเกาหลีก็จริงแต่เราต้องให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศและค่านิยมด้วย” อาจารย์กิตติ กล่าว

หมายเหตุ : ยังมีประเด็นน่าสนใจอีกมากมายจากงานสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งผู้สนใจสามารถรับชมคลิปวีดีโอย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/DJC.Center/videos/1583598115801892/

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

‘นฤมล’เริ่มงาน ศธ.วันแรก เป็นประธานแถลงการจัดโครงการ Asian Science Camp 2025

เผยโผรอบคัดเลือก'วอลเลย์บอล นักเรียนหญิง แชมป์กีฬา 7HD 2025'

ถูกวิจารณ์หนัก! 'ปธน.เปรู'ปรับขึ้นเงินเดือนตัวเองถึง 2 เท่า

พิมมา PiXXie ยอมรับเคยโดนบูลลี่เปรียบเทียบ เคยน้ำหนักขึ้นจนต้องแค่กินแค่กล้วยกับมันนึ่ง

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved