โบราณสถานเสมาพันปี ตั้งอยู่เขตอำเภอลืออำนาจ ห่างจากตัวจังหวัดอำนาจเจริญด้านทิศใต้ไปตามถนนชยางกูร สายหลัก (อำนาจเจริญ-อุบลราชธานี) ประมาณ 20 กิโลเมตร ถึงแยกไฟแดงเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายรองลืออำนาจ-พนา เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตรถึงตำบลเปือย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง เสมาพันปี ทางเข้าจะมีป้ายบอก ซึ่งการเดินทางสะดวกมาก เพราะถนนเข้าไปแบบคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี
แหล่งโบราณสถานเสมาพันปี สมัยก่อนบริเวณนี้ เป็นป่าทึบที่อุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ เพราะหากใครเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า จะมีอันเป็นไปและเสียชีวิตทุกราย คนในพื้นที่จะเกรงกลัวกันมาก เมื่อถึงฤดูทำนาจะเข้าไปกราบไหว้บนบานต้นไม้ใหญ่ที่อยู่กลางป่า ขอให้ฝนตกดี ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ และในป่าจะมีเต่าใหญ่ เรียกว่า “เต่าเพ็ก” อาศัยอยู่กว่า 100 ตัว แต่ปัจจุบันไม่มีเหลืออยู่แล้ว ซึ่งเต่าพวกนี้ พอตกเย็นจะเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะให้ข้าวและกล้วยเป็นอาหารและไม่มีใครกล้าทำร้าย เพราะเชื่อว่าเป็นเต่าปู่ตาเลี้ยงไว้ใครขโมยไปจะเอามาคืนภายใน 7 วัน โจรผู้ร้ายไม่มี ชาวบ้านอยู่กันสงบสุขดีมาก
ชาวตำบลเปือย รักสงบ ชอบเข้าวัดฟังธรรม กลายเป็นหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ทางอำเภอลืออำนาจให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบและได้รับคำชมเชยมาตลอด และนับว่าเป็นตำบลเก่าแก่มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งเสมาพันปีที่อยู่ในหมู่บ้านจึงเป็นสิ่งยืนยันได้ดีที่สุด
ทั้งนี้ เสมาพันปีที่หมู่บ้านมีด้วยกัน 4 แห่ง โดยอยู่ในดอนปู่ตา บนเนื้อที่ 200 ไร่ทั้งหมด แต่ปัจจุบันถูกชาวบ้านบางคนเข้าไปบุกรุกจนเหลือเนื้อที่เพียง 50 ไร่
โดยแหล่งที่ 1.เป็นกลุ่มเสมาในเขตวัดโพธิ์ เป็นเสมาแบบศิลา จำนวน 50 ใบ และเนินศาลาสถานที่ กลุ่มเสมาทรายปักอยู่ ชาวบ้าน เรียกว่า “ลานเสมา” แต่ละใบ มีการสลักเป็นรูปหม้อน้ำและคล้ายคลึงกันลวดลายเสากลม ที่ประดับกรอบประตูสมัยก่อนเมืองพระนคร ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 หรือ 1,400 ปีมาแล้ว สมัยทวารวดี ศิลปะขอมแบบไพรกเมง พบเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2532
แหล่งที่ 2.เป็นกลุ่มเสมาวัดบ้านไร่ นับว่าเป็นกลุ่มเสมาที่มีความหนาแน่นมากที่สุด มีจำนวนถึง 74 ใบ เป็นกลุ่มเสมาที่ทำด้วยศิลาแลง ไม่มีการสลักลวดลายและมีการสลักฐานบัวคว่ำ บัวหงาย มีสันนูนคล้ายยอดสถูปอยู่ตรงกลาง
แหล่งที่ 3.เป็นกลุ่มเสมาหลังโรงเรียนเปือย-หัวดง เป็นเสมาที่ทำด้วยหินทราย ลักษณะใบเสมาเรียบ ไม่มีลวดลาย แต่ตรงกลางเป็นที่เรียวไปถึงยอด มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17
แหล่งที่ 4.เป็นกลุ่มเสมาดอนปู่ตามีอยู่ 50 ใบ มีลักษณะเป็นศิลาทราย แต่ละใบจะมีการแกะสลักเป็นรูปนกแก้ว จึงเรียกว่า “ลานนกแก้ว”
สำหรับพุทธรูปแบบปางสมาธิเก่าแก่ อายุกว่า 200 ปี สมัยทวารวดีประดิษฐานอยู่ภายในเพิงถาวร สมัยก่อนหากปีไหนฝนแล้ง ชาวบ้านจะมาทำพิธีขอฝนจากท่าน กระทั่งทุกวันนี้ ยังมีการทำพิธีขอฝนจากท่านช่วงฤดูทำนาปลูกข้าวเป็นประจำทุกปี จึงถูกเรียกว่า พระประทานฝน ประทานพรและเป็นที่น่าเสียดาย หลายสิบปีมาแล้ว มีคนใจบาป ลักลอบเข้ามาตัดเอาเศียรพระไป ชาวบ้านจึงต้องทำเศียรขึ้นมาใหม่ทดแทนเศียรเดิมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน...
สนธยา ทิพย์อุตร
อำนาจเจริญ รายงานพิเศษ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี