ในงานเสวนา “เปิดความคิด สร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อพัฒนาชีวิตแรงงานนอกระบบ” ซึ่งจัดโดย สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) และ โครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่21 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา มีตัวแทนแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานอิสระหลายกลุ่มร่วมแสดงความคิดเห็น
อาทิ นายปรีชา ไทยสงเคราะห์ ประธานสหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไปร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นอยู่หลายเวที โดยผู้ค้าจำนวนมากอายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป กำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ แต่ข้อค้นพบคือผู้ค้าเผชิญปัญหาจากกฎหมายที่เป็นเหมือนกำแพง เป็นปัญหาเดิมๆ คือเรื่องพื้นที่ทำมาหากิน ตนจึงอยากให้กระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดูแลหาบเร่แผงลอย และให้มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจลงไปสู่ระดับเขต
“ทุกวันนี้พวกเรายังโดนไล่ที่ทำมาหากิน ยังไม่มีที่ทำมาหากิน แล้วเราจะพัฒนาได้อย่างไร เราก็อยากจะฝากหลายๆ กระทรวง ว่าครั้งหนึ่งหาบเร่แผงลอยเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ แต่ทีนี้การที่เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ของปัจจุบันนี้มันแทบไม่เหลืออะไรเลย เราอยากให้หันกลับมาดูว่าเราจะทำอย่างไรให้พวกเราได้มีอาชีพที่มั่นคง ได้มีอาชีพที่สามารถลืมตาอ้าปากได้ หาบเร่แผงลอยเป็นอาชีพสุดท้ายของพวกเรา และ 1 ร้านค้า จะมีคนอยู่ในครอบครัวของเราอีกหลายคนที่เราต้องดูแล” นายปรีชา กล่าว
ขณะที่ นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาของกลุ่มผู้ขับขี่ จยย.รับจ้าง หรือชาววิน คือผู้ขับขี่ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ จยย.ต้องจดทะเบียนป้ายเหลือง(รถรับจ้างสาธารณะ) วินต้องมีสถานที่ตั้งชัดเจน และห้ามรับผู้โดยสารข้ามเขต-ข้ามวิน ที่ผ่านมามีความพยายามขอขึ้นทะเบียนเพิ่ม แต่รอมา 3-4 ปีแล้วก็ยังไม่มีการเปิดรับขึ้นทะเบียน ซึ่งจริงๆ แล้วมี จยย.รับจ้างประมาณ 1.3 แสนคัน แต่ปัจจุบันพบอยู่ในระบบเพียงประมาณ 8 หมื่นคัน เหตุที่ส่วนหนึ่งหายไปเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เปิดให้ขึ้นทะเบียน
นอกจากนั้น ชาววิน จยย. รับจ้าง แบบดั้งเดิม ยังมีเหตุขัดแย้งกระทบกระทั่งกับกลุ่มไรเดอร์ที่รับงานรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตามที่เห็นในข่าวอยู่เป็นระยะๆ เพราะชาววินแบบดั้งเดิมมองว่าพวกตนทำถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะการปฏิบัติตามข้อห้ามเรื่องรับผู้โดยสารข้ามเขต-ข้ามวิน แต่ผู้รับงานผ่านแพลตฟอร์มกลับสามารถรับผู้โดยสารจากจุดใดก็ได้ จะนำ จยย.จดทะเบียนป้ายดำ (รถส่วนบุคคล) มาวิ่งรับผู้โดยสารก็ได้
“ความขัดแย้งเหล่านี้ที่บอกจะออกกฎหมายมาคุ้มครอง แล้วจะคุ้มครองวินอย่างไร คุ้มครองแพลตฟอร์มอย่างไร เพราะมันเป็นอาชีพเดียวกัน ถ้ากฎหมายบอกให้ไรเดอร์สามารถรับได้ทุกที่ แล้วทำไมถึงให้วินมอเตอร์ไซค์รับได้เฉพาะวินตัวเอง อันนี้คือความเป็นธรรมทางด้านกฎหมายมันก็จะไม่เกิด” นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย กล่าว
ด้านตัวแทนกลุ่มไรเดอร์รับงานส่งอาหาร-สินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ สะท้อนปัญหาการคิดค่ารอบวิ่งที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งตลอดช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จะเห็นข่าวกลุ่มไรเดอร์ชุมนุมประท้วงหน้าบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เนื่องจากมีการลดค่ารอบทุกปี อย่างไรก็ตาม (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ..... ที่กระทรวงแรงงานกำลังพยายามผลักดัน พวกตนยังไม่เห็นว่าจะมีมาตรฐานอะไรสำหรับชาวไรเดอร์และที่มีการพูดว่าไรเดอร์รับงานแพลตฟอร์มหลายค่าย นั่นก็เพราะบรรดาแพลตฟอร์มต่างแข่งกันลดราคา จึงต้องพยายามหาแพลตฟอร์มที่วิ่งแล้วได้เงินมากที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี