“ผมมาทำค่ายมวย ก็อยากส่งเสริมเด็กที่ยากจนหรือที่ชอบ จะได้มีอาชีพ ได้ทำตามความฝันลดภาระพ่อแม่ หลีกไกลยาเสพติดอะไรแบบนี้ที่มันเป็นพื้นฐานของคนสลัมที่เขามองไม่ดี คำว่าคลองเตยส่วนมากเขาจะพูดในแง่ลบ “มาจากไหน? จากคลองเตยหรอ? โห!..ไม่อยากรับทำงานเลย เคยติดคุกมาหรือเปล่า? ติดยาหรือเปล่า?” อะไรแบบนี้ มันถูกมองในมุมไม่ดีผมเลยใช้คำว่า “สลัมยิม” มันจะได้ครอบคลุม เหมือนคนจนทุกชุมชนที่โดนเหยียด สลัมยิมมันก็คือยิมของคนจนๆ ในชุมชนแออัดอยู่แล้ว เพื่อจะให้ต่อยอดเด็กๆ ได้”
อดิศร ทองสุกใส หรือที่หลายคนรู้จักในฉายา “ตั้ม สลัม” ชายวัย 43 ปี บอกเล่ากับผู้สื่อข่าวด้วยน้ำเสียงที่ด้านหนึ่งฟังแล้วดู “ตัดพ้อ” กับสิ่งที่คนภายนอกมองเข้ามายัง “ชาวสลัม” ชุมชนแออัด ซึ่ง “ภาพจำ” ล้วนมีแต่ “แง่ลบ” เต็มไปด้วยความรู้สึก “หวาดกลัว - หวาดระแวง” ไม่ไว้วางใจ แต่อีกด้านหนึ่ง น้ำเสียงเดียวกันนี้ก็สัมผัสได้ถึง “ความหวัง” และ “ความมุ่งมั่น”ของชายผู้นี้ที่ตั้งใจจะ “เปลี่ยนภาพลักษณ์” ของชุมชนแออัด ว่าที่นี่ก็สามารถเป็น “พื้นที่สร้างสรรค์” ได้เช่นกัน โดยใช้ “กีฬามวยไทย” สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชน
แต่ก่อนจะมาถึงการก่อตั้ง “สลัมยิม” ค่ายมวยเล็กๆ ในพื้นที่แห่งหนึ่งของ “ชุมชนคลองเตย” ชุมชนแออัดที่ใหญ่โตและเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย “ตั้ม - อดิศร” พร้อมกับพรรคพวก ได้จัดกิจกรรมหนึ่งขึ้นมาคือ “คลองเตย สตรีท (Khlong Toei Street)” เพื่อให้คนที่ต้องการ “วัดฝีมือ - วัดเชิงมวย”ได้มาปลดปล่อยระบายกันบนสังเวียนซึ่งผู้สื่อข่าวติดตามกิจกรรมนี้มาสักพักแล้ว ดังนั้น เมื่อทราบว่ามีการต่อยอดสร้างค่ายมวยขึ้น จึงไม่ลังเลที่จะติดต่อผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Khlong Toei Street” เพื่อขอสัมภาษณ์
ช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 10 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวเดินทางจากสำนักงานย่านหลักสี่ ไปพบกับคุณตั้มที่ค่ายสลัมยิม หรือเดิมคือ “ค่าย 96 ปีนังยิม (96 Penang Gym)” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนท่าเรือ 1แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯค่ายมวยแห่งนี้ตั้งอยู่ใต้ทางด่วนเส้นทางพิเศษเฉลิมมหานคร หรืออยู่ด้านหลังสนาม PAT Stadiumรังเหย้าของสโมสรฟุตบอลการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทีมกีฬาที่ว่ากันว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวคลองเตยมาช้านาน
คุณตั้มเล่าว่า กิจกรรมคลองเตยสตรีท เกิดจากการได้ติดตามกิจกรรมแบบเดียวกันที่จัดขึ้นมาก่อนหน้าอย่าง “ไฟท์คลับ ไทยแลนด์ (Fight Club Thailand)” และ “สตรีทไฟท์ ไทยแลนด์ (Street Fight Thailand)” ซึ่งรายการหลังนี้ยังมีโอกาสได้ร่วมขึ้นสังเวียนด้วยตนเองถึง 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ลูกชายของตนมองว่าตนก็อายุมากแล้วไม่อยากให้ชกมวยอีก บวกกับเริ่มรู้จักกับทีมงาน ก็เปรยๆ กันว่า “อยู่คลองเตยก็อยากมีกีฬาแบบนี้บ้าง ไม่เคยมีใครมาจัดแถวนี้เลย” นำไปสู่การจัดกิจกรรมคลองเตยสตรีทขึ้น
อย่างไรก็ตาม คุณตั้มยอมรับว่า “กิจกรรมคลองเตยสตรีทครั้งแรกล้มเหลวไม่เป็นท่า” ครั้งนั้นจัดขึ้นที่โดมของแฟลต 16 แต่ด้วยความที่ตนไม่มีความรู้เรื่องการจัดมวยมาก่อนประกอบกับคลองเตยสตรีทครั้งแรกก็ได้รับความสนใจอย่างมากแล้ว ด้วยจำนวนผู้ที่สมัครขึ้นชกราว60-70 คู่ หรือร้อยกว่าคน ยังไม่นับบรรดากองเชียร์หรือผู้เข้าชมที่มากกว่าพันคน นำไปสู่เหตุกระทบกระทั่งกันจนต้องยุติกิจกรรมในครั้งนั้นลงแบบไม่สามารถจัดชกได้ครบทุกคู่
“พอเกิดเรื่อง ผมไม่สามารถไปขอสถานที่ในชุมชนจัดได้เลย เพราะเขากลัวมีเรื่อง ก็เลยต้องอาศัยยิมของเพื่อนที่รู้จักกัน อย่างย่านอ่อนนุช เขาก็อนุเคราะห์ให้ แล้วก็ขอจัดรอบนอกๆ ก่อน จนผู้หลักผู้ใหญ่เริ่มเชื่อใจแล้วก็เลยก็เขยิบเข้ามาจัดในคลองเตยเหมือนเดิม น่าจะประมาณครั้งที่ 5 หรือ 6 กระแสตอบรับดีมากและมีความเรียบร้อยมากขึ้น ได้ทีมงานของพวกเราในคลองเตยช่วยกันดูแล เหมือนหัวโจกตามชุมชน ก่อนจัดเราก็ได้ไปคุยกับเขาขอความร่วมมือเขา “พี่ครับ!..มาดูแลน้องๆ หน่อยนะ” ขอความอนุเคราะห์เขามาช่วยดูแลน้องๆ” คุณตั้ม กล่าว
หลังจากที่ต้องไปจัดภายนอกชุมชนอยู่พักใหญ่ มีทั้งไปขอใช้พื้นที่วัดที่ห่างไกลจากย่านคลองเตยพอสมควร รวมถึงไปจัดในย่านศูนย์กลางวัยรุ่นไทยอย่างสยามสแควร์ก็เคยมาแล้ว ในที่สุดคลองเตยสตรีทก็ได้กลับมาลงหลักปักฐานในย่านคลองเตยเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกๆ ที่กิจกรรมถูกจัดขึ้น คลองเตยสตรีท ก็ไม่ต่างจาก 2 กิจกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจอย่างไฟท์คลับไทยแลนด์และสตรีทไฟท์ไทยแลนด์ ที่จะต้อง “ตอบคำถามจากสังคม” ที่มองเข้ามาใน 2 ประเด็น คือ
1.ส่งเสริมความรุนแรงหรือไม่? ท่ามกลางกระแสที่ว่า การตัดสินกันด้วยกำลังไม่ใช่คำตอบของโลกสมัยใหม่ที่มีอารยะ เวทีทำนองนี้เท่ากับสวนกระแสหรือเปล่า? ซึ่งเรื่องนี้ ตั้ม-อดิศร กล่าวว่า เรื่องนี้มองได้หลายมุม หากคิดว่าส่งเสริมความรุนแรง กีฬามวยทั่วโลกก็ล้วนใช้ความรุนแรงกันอยู่แล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่ง การส่งเสริมให้เด็กที่ไม่ได้ชกมวยเป็นอาชีพแต่อยากฝึกซ้อมมวย ได้มาชกกันในสถานที่ที่ถูกต้อง มีการสมัครและประกบคู่ มีกฎกติกา มีกรรมการตัดสิน มีทีมงานดูแลความปลอดภัย ตนมองว่ากิจกรรมนี้เป็นกีฬา ไม่ได้ส่งเสริมความรุนแรงแต่อย่างใด
กับ 2.เรื่องการดูแลความปลอดภัยผู้เข้าร่วมกิจกรรมในเมื่อไม่ใช่สนามมวยมาตรฐานแล้วมีความพร้อมจริงหรือ? เรื่องนี้ก็เป็นอีกมุมที่ยอมรับในข้อกังวล ทางทีมงานคลองเตยสตรีทจึงประสานทีมฉุกเฉิน ซึ่งก็จะเป็นทีมอาสากู้ชีพ-กู้ภัย จากมูลนิธิต่างๆ ที่มีความชำนาญ นอกจากนั้นยังมีทีม “เซฟแมน (Safeman)” ที่เป็นอดีตนักมวยหรือเป็นเทรนเนอร์มวย มาร่วมดูแลผู้สมัครขึ้นสังเวียน ทั้งหมดเป็นการ “ถอดบทเรียน” จากความผิดพลาดหรือปัญหาที่พบในการจัดกิจกรรมครั้งก่อนๆ แล้วค่อยๆ ปรับปรุงพัฒนามาตามลำดับ
“ตอนที่ผมจัดคลองเตยสตรีท ผมเหมือนกับช่วยลดความรุนแรง เพราะผมจะประกาศว่าใครมีเรื่องอะไรกันให้มาเคลียร์กันที่นี่ เดี๋ยวจัดการเป็นตัวกลางให้จะได้หยุดไปตีรันฟันแทง ให้มาต่อยกันแบบแมนๆ ลูกผู้ชาย แล้วก็ให้เด็กได้มาออกกำลังกาย เนื่องจากกัญชาก็เสรี น้ำกระท่อมเสรี ภาพที่เห็นก็คือต้มน้ำกระท่อม ไม่ได้ออกกำลังกาย กินกันเมากัน ก็ช่วยหยุดพวกนี้ได้ส่วนหนึ่ง”คุณตั้ม ระบุ
ตั้ม-อดิศร เล่าต่อไปว่า ส่วนการตัดสินใจตั้งค่ายมวยสลัมยิมเกิดจากเมื่อเริ่มจัดกิจกรรมคลองเตยสตรีท ก็มีเด็กบางคนเดินมาบอกตนว่าอยากเป็นนักมวยอาชีพ อยากฝึกซ้อมจริงๆ จังๆ แต่ขาดสถานที่ ตนจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับ “ครูอ๊อด บัวใหญ่”ครูมวยท่านหนึ่งซึ่งเป็นชาว อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา และเคยทำค่ายมวยที่นี่ต่อจากค่าย 96 ปีนัง แต่ได้หยุดทำไปในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
กระทั่งหลังจากพูดคุยกันทางโทรศัพท์ ครูอ๊อดก็ให้กำลังใจ บอกว่าสนับสนุนเต็มที่และให้ทำได้เลย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่ออกกำลังกาย มีวิชามวยไว้ป้องกันตัวและห่างไกลจากการมั่วสุมเสพยาเสพติด เพราะต้องยอมรับว่าเด็กๆ ในชุมชนย่านคลองเตยโดยมากมาจากครอบครัวยากจน และหลายคนก็ไม่ได้เรียนหนังสือ การมีค่ายมวยอาจเป็นโอกาสให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้ต่อยอดเป็นอาชีพยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต ตนจึงเข้ามาทำให้ค่ายมวยแห่งนี้ที่เคยร้างไปในช่วงโควิด กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
“ช่วงนี้กระแสมวยบูม มีไอดอลอยากจะเป็นรถถัง (รถถัง จิตรเมืองนนท์) อยากจะเป็นตะวันฉาย (ตะวันฉาย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม) ช่วงนี้เราก็พยายามไปขอสปอนเซอร์ ขอสนับสนุนนวมบ้าง ขอเป้าบ้าง เพราะผมก็เป็นพนักงานประจำ ทำงานประจำไม่ได้ร่ำรวยอะไร ก็ค่อยๆ พัฒนาปรับปรุงไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็มีของเพจลงนวมบอยส์ (LONG NUAMBOYZ) เขาก็สนับสนุนนวมมาให้ 10 คู่ ก็ได้นวมมา ตอนนี้กำลังติดต่อไปทางทวินส์ (Twins) เขาก็รับเรื่องแล้วแต่ยังไม่ทราบจะได้อุปกรณ์อะไรบ้าง ขอกลับไปเสนอก่อน” ตั้ม-อดิศร กล่าว
ระหว่างที่กำลังพูดคุยกับคุณตั้ม “ไตตั้น-องอาจ ทองสุกใส”ลูกชายวัย 22 ปี ของคุณตั้ม ซึ่งเคยชกมวยไทยอาชีพ และปัจจุบันได้มาช่วยคุณพ่อเป็นเทรนเนอร์มวยให้กับน้องๆ ในค่ายสลัมยิม ก็ได้มาร่วมพูดคุยด้วย โดยกล่าวเพิ่มเติมว่ารู้สึกดีกับการเปิดค่ายมวยแห่งนี้ขึ้นตนก็ได้ช่วยสอนเด็กๆ ชกมวย ซึ่งจริงๆ ตนก็อยากทำค่ายมวยอยู่แล้วพอคุณพ่อเริ่มโครงการจึงได้เข้ามาช่วย
ซึ่งก็ต้องบอกว่า พื้นที่แห่งนี้ก็เป็นค่ายมวยเปิดมานานแล้ว ตนก็เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ส่วนโครงการเข้ามาฟื้นฟูค่ายมวยที่คุณพ่อทำนั้น เพิ่งเริ่มต้นได้เพียงสัปดาห์เศษๆ เท่านั้น แต่ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างมีวันหนึ่งมีเด็กๆ เข้ามาฝึกซ้อมมากถึง 26 คน โดยตนก็จะชวนเพื่อนๆ ที่เป็นนักมวยด้วยกันมาช่วยฝึกสอน ในเบื้องต้นคือให้เด็กมีกิจกรรมออกกำลังกาย ส่วนในอนาคตก็กำลังมองหาเด็กที่มีแววเพื่อส่งเข้าแข่งขันต่อไปเพื่อให้เด็กๆ มีรายได้
กลับมาที่คุณตั้ม ด้วยความที่บนเพจ Khlong Toei Street มีโพสต์หนึ่งระบุว่า “สลัมยิม (ค่าย96ปีนังเก่า) เปิดสอนมวยไทย เด็ก ผู้ใหญ่ สอนหมด ฟรี” ผู้สื่อข่าวจึงอดที่จะถามไม่ได้ว่า “จะบริหารจัดการค่ายกันไหวไหม?” เพราะเมื่อหันไปมองค่ายมวยทั้งแบบเปิดโล่งและติดแอร์ ไม่ว่าที่ใดก็ล้วนมีค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อย ซึ่ง ตั้ม-อดิศร หรือ ตั้ม สลัม ได้ตอบคำถามนี้ว่า “ขอใช้ทุนตนเองทำไปก่อน” เผื่อวันหนึ่งจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ใจดีเห็นแล้วเข้ามาสนับสนุน
“ถ้าเราไม่เริ่มเลย โปรเจกท์นี้ยิมนี้ ค่ายนี้ ไม่มีวันเกิดแน่นอน ถ้าเรายังห่วงว่าต้องไปของบเขามาทำ หรือรอคนมาสนับสนุนคงไม่ได้ทำแน่นอน ผมก็ว่าทำด้วยใจรัก ทำไปก่อน ใครมาสนับสนุนถือว่าเป็นโชคดีของผม - ของค่าย”คุณตั้ม กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ : ชมคลิปวีดีโอได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=m_XEL1XObj0
บัญชา จันทร์สมบูรณ์ (เรื่อง/ภาพ)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี