ตึงเครียด!ผู้หนีภัยสู้รบฝั่งเมียนมาทะลัก ‘รพ.แม่สอด’ประกาศแผนฉุกเฉินระดับ 5
21 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก กองทัพเมียนมายังระดมอากาศยานทิ้งระเบิดใส่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ที่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด รวมทั้งทิ้งระเบิดในพื้นที่ฐานที่มั่นกองพล 44 ค่ายผาซอง 275 ซึ่งใช้เวลาทิ้งระเบิดกว่า 2 ชั่วโมง การทิ้งระเบิดส่งผลทำให้เกิดเสียงระเบิดดังสนั่น เหตุการณ์สู้รบยังตึงเครียด ผู้บาดเจ็บทั้งทหารและพลเรือน ทะลักเข้ามารักษาในฝั่งไทย โดยเฉพาะที่โรงพยาบาล (รพ.) แม่สอด จำนวนมาก
ล่าสุด นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ประกาศแผนฉุกเฉินระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด โดยมีการเตรียมเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่าย รวมทั้งรถฉุกเฉินในเครือข่ายนับสิบคัน หลังรับแจ้งจากทหารราชมนูแม่สอดว่ามีผู้บาดเจ็บกว่า 35 ราย ขอเข้ารับการรักษาในฝั่งไทย ต่อมารถพยาบาลนำผู้บาดเจ็บจำนวนมากทยอยนำมาส่งโรงพยาบาลแม่สอด แผนกห้องอีอาร์จำนวนมาก พบว่า ทั้งหมดเป็นทหารเมียนมาบาดเจ็บสาหัส 5 ราย บาดเจ็บถูกระเบิด กระสุนปืนยิง พอรู้สึกตัว 17 ราย นอกนั้นอีก 13 รายบาดเจ็บตามร่างกายจากถูกไฟคลอก แรงระเบิด
นพ.รเมศ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นประกาศสภาวะฉุกเฉินขั้นสูงสุดในการรับมือผู้ป่วย ซึ่งทุกฝ่ายรับทราบ หลังได้รับการติดต่อมีการประกาศเรียกเจ้าหน้าที่ราว 50 ชีวิตรับมือทันที ซึ่งเป็นไปตามมาตรการที่ทางโรงพยาบาลแม่สอดได้ซักซ้อมแผนไว้ล่วงหน้า เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการสู้รบกันมาตลอด จึงมีการวางแผนรับมือไว้ โดยการระดมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โรงพยาบาลในเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน รพ.สต.ทีมกู้ภัยฉุกเฉินทางการแพทย์
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีผู้หนีภัยความไม่สงบจากฝั่งเมียวดีเข้ามายังพื้นที่ จ.ตาก ว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ฝั่งเมียนมา ห่างจากแนวชายแดนไทยประมาณ 2-3 กิโลเมตร ตั้งแต่คืนวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีชาวเมียนมาหนีภัยความไม่สงบข้ามมายัง อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นจำนวนมาก โดยวันนี้ได้รับรายงานจาก นพ.ปองพล วรปาณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก และนพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ว่า ขณะนี้มีผู้หนีภัยฯ เข้ามายังพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว จ.ตาก จำนวน 5 แห่ง รวมทั้งหมด 3,027 คน เป็นชาย 1,128 คน หญิง 1,118 คน และเด็ก 781 คน ซึ่งวันนี้ รพ.ได้รับผู้บาดเจ็บชาวเมียนมาจากบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เข้ารับการรักษา รวม 32 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนักสีแดง 8 ราย อาการปานกลางสีเหลือง 17 ราย และอาการเล็กน้อยสีเขียว 7 ราย โดยโรงพยาบาลแม่สอดมีแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้หนีภัยฯ เข้ามาเพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งประสานหน่วยงานเอกชน (NGO) ที่พร้อมให้การช่วยเหลือ ดูแลผู้หนีภัยฯ ที่เข้ามายังพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวตามหลักมนุษยธรรม โดยจัดทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คัดกรองและเฝ้าระวังโรคติดต่อ เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง เช่น มาลาเรีย ตั้งจุดปฐมพยาบาลดูแลสุขภาพ และตรวจสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้ พร้อมทั้งมีแผนเตรียมการด้านบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้พร้อมรองรับสถานการณ์
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี