‘อช.ภูซาง-พะเยา’โมเดล!จับมือเพื่อนบ้าน ร่วมแก้ปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืน
อุทยานแห่งชาติภูซาง มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ดินบริเวณป่าน้ำหงาวฝั่งซ้าย ในท้องที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ป่าน้ำเปี๋อยและป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ในท้องที่อำเภอเชียงคำ กิ่งอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง และยังมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาติดชายแดนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ยาวประมาณ 30 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 440 - 1,548 เมตร โดยมียอดดอยผาหม่นเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำลาว น้ำหงาว น้ำเปื๋อย น้ำบง น้ำญวน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรม และด้วยการมีพื้นที่ติดประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้เมื่อประสบปัญหาไฟป่า จึงต้องหาแนวทางในการจัดการ “ร่วมกัน”
นายบันทม สมสุวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูซาง กล่าวว่า ทุกปีในพื้นที่ที่เป็นการดูแลของ อุทยานแห่งชาติภูซาง นั้นจะมีการเกิดไฟป่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ผืนป่าส่วนมากจะเป็นป่าเพญจพรรณ โดยหน้าแล้งใบไม้ที่ร่วงทับถมจะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีจึงเป็นข้อเสียของการก่อเกิดเพลิงไหม้ ประกอบกับชาวบ้านหรือผู้ลักลอบเผาเพื่อหาของป่าจะแอบเข้ามาในช่วงที่เจ้าหน้าที่ไม่ทันเฝ้าระวัง
หัวหน้าอช.ภูซาง กล่าวว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์ไฟป่าเบาบางลง แต่ที่ผ่านมามีสาเหตุสำคัญ คือ การเกิดไฟป่าข้ามแดน จากสปป.ลาว มีการล่าสัตว์ หาของป่า และกลั่นแกล้งจากวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เผาแกล้งเมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับกุมอย่างเข้มงวด
อุทยานแห่งชาติภูซาง จึงหาแนวทางจัดการแก้ปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืน เช่น มีการตั้ง War Room ควบคุมสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ โดยอุทยานแห่งชาติภูซาง จะส่งเจ้าหน้าที่ชุดประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ขอความร่วมมือป้องกันไฟป่า งดการเผาทุกชนิดในเขตอุทยานแห่งชาติ และแจ้งระยะเวลาการปิดป่าห้ามเข้าเขตอุทยานแห่งชาติภูซาง เพื่อป้องกันปัญหาไฟป่าในชุมชน รวมถึงมาตรการการเคาะประตูบ้านในพื้นที่ทำการเกษตร ขอความร่วมมือไม่ให้ชาวบ้านจุดไฟเผาป่า
หัวหน้าอช.ภูซาง กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เรายังมีรูปแบบการจัดการที่แตกต่างจากที่อื่น คือ มีการพูดคุยกับสปป.ลาว โดยอุทยานแห่งชาติภูซาง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องยังได้ร่วมประชุมหารือเรื่อง การณรงค์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Pm2.5) และหมอกควันตามแนวชายแดน ประจำปี 2567 และที่ประชุมยังเห็นชอบให้ดำเนินการป้องกันไฟป่า และได้ร่วมทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกันระหว่างอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ราชอาณาจักรไทย และ เมืองคอบ แขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามประกาศจังหวัดพะเยา งดเผาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 30 เมษายน 2567 อีกด้วย
ความร่วมมือดังกล่าวยังมีการทำงานร่วมกันต่อเนื่อง เช่น เจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศยังได้ร่วมกิจกรรม การทำแนวกันไฟ (Firebreaks) แนวกีดขวางตามธรรมชาติเพื่อหยุดยั้งไฟป่า ป้องกันไม่ให้ลุกลามออกมาจากพื้นที่ที่กำหนด และเป็นการแบ่งพื้นที่คุ้มครองออกเป็นส่วนๆ สะดวกในการควบคุมไฟ ณ บริเวณรอยต่อชายแดนไทย - ลาว (กิ่วหก) บ้านฮวก ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
อุทยานแห่งชาติภูซาง จึงเป็นตัวอย่างของการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันจับมือ เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าไปในพื้นที่อย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี