แจกเงินดิจิทัลเรตตก
สสว.เผยผลสำรวจ
SMEสนใจน้อยลง
ชี้เงื่อนไขใช้สิทธิยุ่ง
สสว.เผยผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการ SME ต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท พบ ความสนใจโครงการดิจิทัล วอลเล็ตลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน เพราะความกังวลต่อเงื่อนไขการใช้สิทธิและการเบิกจ่ายเงิน SME ที่เข้าร่วมโครงการต้องการนำเงินไปใช้เพื่อซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันมากกว่าการลงทุนและต้องการเบิกจ่ายเป็นเงินสด เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและขยายพื้นที่ใช้สิทธิได้ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ SME ที่มีต่อนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยการสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจครั้งที่ 2 หลังจากการสำรวจครั้งแรกเมือเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเจาะลึกความคิดเห็นผู้ประกอบการ SME สำหรับความพร้อมและความสนใจเข้าร่วมโครงการ รวมถึงแผนใช้จ่ายเงินดิจิทัล โดยการสำรวจครั้งนี้เป็นการสอบถามจากผู้ประกอบการ SME 2,704 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19-30 เมษายน พบว่า
สัดส่วนความสนใจเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการ SME อยู่ที่ร้อยละ 75.2 ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่มีสัดส่วนความสนใจในการเข้าร่วมมากถึงร้อยละ 82.9 มีสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องการใช้สิทธิและการเบิกจ่ายเงิน เงื่อนไขของโครงการที่ให้ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่สามารถเข้าร่วมได้ ทำให้ธุรกิจรายเล็กกังวลต่อยอดผู้ที่จะมาใช้บริการ และบางกลุ่มธุรกิจประเมินว่าธุรกิจของตนไม่เหมาะกับโครงการ รวมถึงการขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ /เครื่องมือหรือทักษะความรู้ในการใช้งาน Super App
สำหรับแผนการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้ประกอบการ SME พบว่า ผู้ประกอบการ SME มีแผนใช้จ่ายเงินปรับเปลี่ยนไปเมื่อเทียบจากผลสำรวจครั้งก่อน โดยผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 77 ประเมินว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายในหมวดสินค้าในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 22.7 มีแผนนำเงินไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจ ขณะที่ผลสำรวจครั้งก่อนพบว่า ผู้ประกอบการ SME จะนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 69.6 และร้อยละ 30.4 จะนำไปลงทุนในธุรกิจ
นอกจากนี้ เงื่อนไขของโครงการที่กำหนดว่าต้องใช้ในร้านค้าขนาดเล็กก่อน 2 รอบ ถึงเบิกเป็นเงินสดได้ ผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 54.4 ที่สนใจเข้าร่วมโครงการมีแผนนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายสินค้าในครัวเรือนมากที่สุดสำหรับการใช้จ่ายเงินรอบที่ 1 แต่สำหรับการใช้จ่ายครั้งที่ 2 ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ต้องการเบิกถอนเป็นเงินสดออกมา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและนำเงินไปต่อยอดทำธุรกิจ ในการสำรวจได้ให้ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ประเมินแนวโน้มด้านยอดขายและ/หรือบริการของตนจากการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งผู้ประกอบการ SME ประเมินว่า ธุรกิจของตนจะมียอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21-40 ตลอดระยะเวลาจนสิ้นสุดโครงการ เพราะคาดการณ์ว่าผู้ที่มีสิทธิจะทยอยใช้งานอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจช่วงเดือนตุลาคม 2566 ผู้ประกอบการ SME เคยประเมินว่าธุรกิจของตนจะมียอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 จากการเข้าร่วมโครงการและระยะเวลาที่ยอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นน่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระบุว่า ผู้ประกอบการ SME ยังคงกังวลด้านระบบและขั้นตอนรองรับ รวมถึงเสถียรภาพของการใช้งานในแอปพลิเคชั่นใหม่มากที่สุด รองลงมาคือ เงื่อนไขและการใช้สิทธิ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจรายเล็กและธุรกิจขนาดย่อม กังวลว่าไม่มีร้านค้าที่ตรงตามความต้องการในพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไปใช้จ่ายร้านสะดวกซื้อรายย่อย เช่น 7-11
สำหรับด้านอื่นคือ การกลัวโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ในด้านข้อเสนอแนะ ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้ปรับรูปแบบการเบิกจ่ายเป็นเงินสด เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจของตนเอง เช่น กลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่ต้องการหมุนเงินแบบวันต่อวัน รองลงมาคือ อยากให้มีการใช้สิทธิในแอปฯเป๋าตังเหมือนเดิม เนื่องจากมีความกังวลต่อการเรียนรู้การใช้งาน Super App ของโครงการ และผู้ประกอบการ SME ยังเสนอให้ลดเงื่อนไขจำกัดพื้นที่การใช้งาน ให้สามารถใช้งานได้ทั่วประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ต้องการความหลากหลายของสินค้าที่ให้บริการ จึงต้องการซื้อสินค้า/วัตถุดิบจากตลาด/ร้านค้าภายในและนอกอำเภอ
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy Hub) ตามวิสัยทัศน์ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนการทำ Business Matching กับบริษัทชั้นนำระดับโลก พร้อมดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้ามาขยายธุรกิจในไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความพร้อมด้านดิจิทัลในประเทศ ทั้งบริการภาครัฐ การศึกษา และภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัล พร้อมยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ขานรับนโยบายของรัฐบาล สร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการลงทุนด้านดิจิทัลในประเทศผ่านการจัดงาน Digital Governance Thailand 2024 (DGT2024) ระหว่างวันที่ 29 - 30 พฤษภาคม โดยมีหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง Tech Company และ Service Provider ชั้นนำของไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมกว่า 120 องค์กร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรม Business Matching จากบริษัทชั้นนำ สนับสนุนโอกาสในการต่อยอดและขยายเครือข่ายการดำเนินงาน พร้อมพัฒนาทักษะดิจิทัลของประชาชนในทุกกลุ่ม โดยประเทศไทยตอนนี้ถือว่ามีความพร้อมเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) โดยบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุนด้านดิจิทัลในไทย ซึ่งเพิ่งมีข่าวดีที่ AWS ประกาศแผนลงทุนในไทย 1 แสน 9 หมื่น ล้านบาท โดยนายกฯเชื่อมั่นว่า ศักยภาพและการเตรียมความพร้อมของไทยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จะสนับสนุนให้ไทยประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ Digital Economy Hub” นายชัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี