ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อน IGNITE THAILAND
“จุดประกายเกษตรไทย สู่ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารของโลก” พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ว่า สำหรับวิสัยทัศน์การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก (Agriculture and Food Hub) แน่นอนว่าประเทศไทยมีศักยภาพ โดยรัฐบาลมีเป้าหมาย 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ เป้าหมายด้านการเกษตร และเป้าหมายด้านอาหาร
สำหรับเป้าหมายภาคการเกษตร มีเป้าหมาย คือรายได้สุทธิ 3 เท่า ใน 4 ปี ซึ่งจากผลสำเร็จสินค้าเกษตรที่ราคาดี ไม่ว่าจะเป็นยางพารา และข้าว เกิดจากการทำเกษตรแม่นยำ นำเทคโนโลยีมาใช้ การใช้พันธุ์พืชที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากงานวิจัย รวมถึงแหล่งน้ำที่ต้องมีพื้นที่ชลประทานมากขึ้น ระบบบริหารจัดการน้ำที่ดี แก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งมีการบริหารระบบตลาดสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรที่เหมาะสม และแก้ปัญหา PM2.5 ที่เกิดจากภาคการเกษตร
ขณะที่ เป้าหมายด้านอาหาร ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ มีวัตถุดิบสินค้าการเกษตรที่ดีมากมายเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศ มีอาหารที่มีชื่อประเทศเป็นชื่อ “ผัดไทย” มี Story ที่จะยกระดับได้อีกมากมายหลายชนิด และนอกจากอาหารทั่วไปแล้ว ประเทศไทยยังสามารถสร้าง “ตลาดใหม่” ผ่านนวัตกรรมด้านอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารทางการแพทย์ อาหาร Plant-based อุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง จึงเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในศักยภาพอย่างเต็มที่สมดังคำกล่าว “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และเป้าหมายที่สำคัญนั่นคือ “ในกระเป๋าต้องมีเงิน”
สำหรับการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก กระทรวงเกษตรฯ มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายด้วย 9 นโยบายสำคัญ ส่วนการจุดประกายให้ประเทศไทยเป็น Hub การเกษตรและอาหารของโลกจำเป็นต้องยกระดับการขับเคลื่อนทั้งในด้านการผลิต และการตลาด ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงเกษตรฯ คือด้านการผลิต (Supply-side) ต้องขับเคลื่อนกลไกสำคัญ (Engine) ซึ่งเป็นหัวใจของภาคการผลิต คือ 1.การยกระดับสินค้าเกษตร และ 2. มาตรการเสริมแกร่งให้กับเกษตรกรและคนในภาคการเกษตร
สำหรับการยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้ สามารถแบ่งกลุ่มสินค้าเป้าหมายหลักๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีการผลิตมากกว่าความต้องการของตลาด และกลุ่มสินค้าเกษตรที่ผลิตน้อยกว่าความต้องการ ขณะที่มาตรการเสริมแกร่งให้กับเกษตรกร เช่น มาตรการการวางระบบสวัสดิการที่เหมาะสมหรือแนวทางการยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันภัยภาคการผลิต การสนับสนุนปัจจัยการผลิต การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี