“อาจจะเพราะคอนเทนต์ Original ของ...ไม่ต้องผ่านการจัดเรต เลยมีอะไรให้ดูเนื้อหาแบบ...และ...หรือเปล่า?”
คำถามจากเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง ในช่วงที่โลกออนไลน์ของเมืองไทยกำลังร้อนระอุ หรือเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.2567 กรณี “สตรีมมิ่ง”หรือผู้ให้บริการเนื้อหาภาพและเสียงผ่านอินเตอร์เนต นำเสนอ 2 เนื้อหาที่ก่อให้เกิด “ดรามา” ข้อถกเถียง-วิวาทะอย่างกว้างขวางในสังคมไทย หรือระยะหลังๆ จะเริ่มเห็นสื่อดั้งเดิมอย่างสถานีโทรทัศน์ ทำแอปพลิเคชั่นดูละครที่ผลิตลงช่องของตนเอง และมีเสียงร่ำลือจากผู้ชมว่า คำบางคำที่ต้อง “ดูดเสียง” เซ็นเซอร์ในการออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ เมื่อไปเผยแพร่ทางออนไลน์ก็ไม่มีการเซ็นเซอร์ จึงได้อรรถรสในการรับชมมากกว่า
แต่แม้ด้านหนึ่งจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า“มาตรฐานการคัดกรอง-เซ็นเซอร์ของประเทศไทย เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้สื่อบันเทิงของไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ทั้งที่คนทำงานวงการนี้ของไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติไหนเลยก็ตาม” ในอีกด้านหนึ่ง “ความเสรีบนโลกออนไลน์ก็ถูกมองว่าทำให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกลายเป็นเรื่องปกติ” ดังที่ วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) นำเรื่องนี้ไปอภิปรายในที่ประชุม สว. วันที่ 27 ธ.ค. 2564 ถามหาบทบาทของ “กระทรวงวัฒนธรรม” ว่าในประเทศไทยยังมีหน่วยงานนี้อยู่หรือไม่
“ปล่อยให้มีการไลฟ์สดขายของใช้ถ้อยคำหยาบคายปรากฏในสื่อโซเชียล และขายสินค้าออนไลน์ จนกลายเป็นเนตไอดอล หรือแม้กระทั่งเป็นภาพโป๊ขายสินค้า ขายเครป ขายส้มตำ ขายก๋วยเตี๋ยวโชว์หน้าอก หรือเปิดแก้มก้น จนมีคนไปซื้อของร้านเหล่านี้มากมาย ภาษาที่ใช้ไม่สุภาพกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย แม้แต่คำร่วมเพศ และสารพัดสัตว์อยู่ในการขายของเนตไอดอล โดยเฉพาะคำว่า “โกลด์ ฟลาวเวอร์” พูดติดปากจนปกติ” สว.วันชัย กล่าว
ช่วงบ่ายของวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับ สังกมา สารวัตร อาจารย์คณะเทคโนโลยีสารสนเทศเเละการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ในประเด็นข้างต้น ไล่ตั้งแต่คำถามแรก 1.เป็นความจริงมาก-น้อยเพียงใด? ที่คนทำสื่อ ทั้งที่เป็นสายข่าว (นักเล่าข่าว, พิธีกร) และสายบันเทิง (คนทำภาพยนตร์, ละคร, เพลง) หันไปผลิตเนื้อหาผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หรือผ่านระบบสตรีมมิ่ง เพื่อหลบเลี่ยงกรอบการเซ็นเซอร์ของรัฐ สามารถทำอะไรแบบ “จัดหนัก-จัดเต็ม” ได้แบบไม่มีกรอบให้ต้องกั๊ก
ในคำถามนี้ อาจารย์สังกมา กล่าวว่า “ทั้งจริงและไม่จริง” โดยการปรับเปลี่ยนสื่อในรอบนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงโลกรอบใหญ่ไปพร้อมๆ กัน ทั้งประชาธิปไตยที่ถดถอย ความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายของประชาชนทั้งในสหรัฐ ยุโรป เอเชีย ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่มีการแบ่งฝักฝ่ายการแข่งขันแย่งกันเป็นใหญ่สงครามการค้า สงครามดิจิทัล อาจเป็นไปได้ว่าผู้ผลิตหลบการเซ็นเซอร์ หรือก็อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในการทำธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
“ประเด็นที่ 1 การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ” : การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อที่แทบไม่มีส่วนไหนในสังคมไม่ได้รับผลกระทบ Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน วงการสื่อสารมวลชนก็เช่นกันอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เราเคยเผชิญกันมาเป็นระยะๆ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ดูจะเร็ว และรุนแรงกว่าที่เคยเจอมาในครั้งไหนๆ เราได้เห็นการล้มหายตายจากของสื่อแบบเดิมระดับโลกแบบไม่น่าเชื่อ ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบัน AI ก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาท้าทายแวดวงสื่อสารมวลชนเพิ่มเติมอีก
“ช่วง 3 ปีที่ผานมา งานวิจัยพบว่าข้อมูลข่าวสาร เนื้อหา content เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ละวันๆ ข้อมูลถูกสร้างขึ้น 328.77 ล้านเทราไบต์ (terabytes) แปลว่าทุกวันๆ เราจะได้รับข้อมูลเนื้อหาผ่านตาทุกวัน วันละเป็นหลัก 10,000 เนื้อหา นี่คือคำตอบว่า ทำไมคนทั่วไปยังจะต้องติดตามข่าว รายการของเราทางสื่อแบบดั้งเดิมในเมื่อเขามีทางเลือกใหม่ๆ เข้ามา พฤติกรรมมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว
ด้วยเหตุนี้คือคุณจะไปกำกับดูแลอย่างไร และจะไปกำกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของผู้คนอย่างไร ก็ต้องเอากรอบความคิดอีกชุด ที่ไม่ใช่แบบเดิม แต่คงไว้ซึ่งแก่นแท้ของการกำกับดูแลคือการปกป้องสิทธิการรับรู้ข่าวสารขอประชาชน ให้สมดุลกับสิทธิในฐานะที่ต้องได้รับการปกป้องจากเนื้อหาสื่อที่เป็นพิษเป็นภัย ก็ต้องกลับมาวิธีการที่ตอบประเด็นกำกับดูแลในการแก้โจทย์ภูมิทัศน์ใหม่นี้อย่างเหมาะสม บนหลักการประชาธิปไตยนั่นเอง” อาจารย์สังกมา ฉายภาพปริมาณข้อมูลมหาศาลในยุคออนไลน์
อาจารย์สังกมา กล่าวต่อไปว่า “ประเด็นต่อมา : การอาศัยช่องโหว่ของ platform” โดยขอพูดถึงคำย่อ “IDA” ประกอบด้วย “I-Interaction” สื่อยุคนี้คือการสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน โต้ตอบได้ ฉับไว เมนท์กันไปตอบกันมา “D-Demassification” การส่งเนื้อหาไปเฉพาะคนกลุ่มใหญ่เหมือนทำรายการทีวีรอดูกันทั้งบ้านหน้าจอลดลง เปลี่ยนเป็นการผลิตเลือกเจาะรายการยิงไปยังผู้รับสารได้โดยตรงเฉพาะกลุ่ม และ “A-Asynchronous” หมายถึงการที่คนสื่อสารเมื่อได้ก็ได้ อยากรับสารเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ
ซึ่ง “เมื่อ IDA มันทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องผลิตสื่อไปอยู่ใน Platform เดิมๆ” อย่างไรก็ตาม “ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้คนบางกลุ่มใช้ช่องว่างนี้หนีการกำกับดูแลในการผลิตเนื้อหาใต้ดิน” เช่นดูหมิ่นเหยียดหยาม กลั่นแกล้ง หลอกลวงล่วงละเมิดทางเพศ หรือเนื้อหารุนแรงสุดโต่งทางความคิด แบ่งสีเลือกข้างทางการเมือง จากปรากฏการณ์ Exho Chamber (ห้องเสียงสะท้อน) ดังที่เห็นว่าสังคมไทยทะเลาะเบาะแว้งกันมาเกือบ 20 ปี หรือตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา กรณีเหตุการณ์บุกรัฐสภาของกลุ่มที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
“การใช้สื่อปลุกระดมข้างใครข้างมัน ทำให้ผู้บริหารประเทศทำงานเชิงนโยบายไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างเล่นการเมืองในพื้นที่ Echo chamber ของตัวเอง แต่ที่หนักที่สุด คือแนวคิดที่ต้านหลักการ การพัฒนาความเป็นประชาธิปไตย หรือ democratization ทำให้มันเบลอๆ และเกิดกระแสการกระทำที่ตามใจกลุ่มฉัน ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ด้วยเหตุนี้ขอสรุปเพื่อตอบคำถามที่ถามมาว่าการทำเนื้อหาเพื่อหนีการเซ็นเซอร์ก็ต้องตอบว่าจริง และทุกกลุ่มต่างใช้ช่องทางนี้ในการหนีการกำกับดูแลเพื่อผลประโยชน์แตกต่างกันไป คนทำการค้าก็ต้องการทำเนื้อหาแค่เอายอดวิวไม่ต้องรับผิดชอบคำพูดรุนแรง ล่อแหลมที่ตัวเองนำเสนอออกไป ในแง่การเมืองกลุ่มต่างๆ ก็ใช้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ตัวเองเชื่อมั่นใช้วิธีการแนวปลุกระดมกลุ่มมวลชนของตัวเอง” อาจารย์สังกมา กล่าว
คำถามต่อมา 2.ในภูมิทัศน์ของสื่อและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป บทบาทของรัฐควรจะเป็นอย่างไร? ระหว่างขยายการกำกับดูแลไปยังสื่อใหม่ให้กว้างขวางและเข้มงวดยิ่งขึ้น กับการปล่อยให้ทุกอย่างเสรีโดยให้เนื้อหาที่ผลิตออกมาสะท้อนภาพสังคมจริงๆ โดยใช้เพียงการจัดเรตผู้ชมเท่านั้น คำถามนี้ อาจารย์สังกมาชี้ว่า จำเป็นต้องมี “สมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับการปกป้องบุคคลทีได้รับผลกระทบ” ในกรณีที่เนื้อหานั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือการสร้างความเกลียดชัง
ทั้งนี้ คุณลักษณะสำคัญของสื่อยุคดิจิทัล สื่อใหม่มีหน้าที่เปิดการสนทนาสาธารณะ มีหน้าที่ต่อต้านการกดขี่เชิงระบบที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งนี้จะเห็นได้จากปรากฏการณ์การเมือง สังคมทั่วโลกที่สื่อกระแสหลักภายใต้การควบคุมของรัฐหรือสื่อที่ต้องหาผลกำไรไม่สามารถกระทำได้ เช่น การชุมนุมในอาหรับ สปริงส์ การรณรงค์ต่อสู้ของสิทธิคนผิวสี เช่น Black Lives Matter ปัญหาโลกร้อนของเกรธา ทุนเบิร์ก เป็นต้น
ส่วนบทบาทสำคัญที่ควรจะเป็นของแต่ละฝ่าย ไล่ตั้งแต่ 2.1 ภาครัฐ ต้องมีความเป็นประชาธิปไตยในการ สร้างกระบวนการ/กลไก ในการให้เจ้าของแพลตฟอร์มสร้างกรอบหลักการสำหรับการกำกับเนื้อหาด้วยตัวเจ้าของธุรกิจเอง จัดเตรียมกรอบหลักสำหรับการกำกับเนื้อหาที่ต้องการให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล ให้มีขั้นตอนที่เหมาะสม ชัดแจ้งในการดำเนินการกับเนื้อหา เช่น การตั้งป้ายเตือนป้ายกำกับในขึ้นบนแพลตฟอร์มตัวเอง แพลตฟอร์มดิจิทัลควรจะทำการกำกับด้วยตนเองผ่านข้อกำหนดการใช้งานและโดยการระบุว่าจะจัดการเนื้อหาอย่างไรและในขอบเขตใด
นอกจากนี้รัฐควรออกมาตรการหลักปฏิบัติไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่มีอยู่แล้วให้มีความจริงจัง ตั้งกลไกการทำงานบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช. กระทรวงดิจิทัลฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายปกป้องเยาวชน กฎหมายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ เป็นต้น โดยเป็นการกำกับภายใต้กฎหมาย แต่รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกำกับในแง่การดำเนินงาน ตรวจสอบเนื้อหาด้วยกระบวนการอันไม่เป็นประชาธิปไตย
2.2 แพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องมีมาตรการในการยึดโยงเข้ากับการรับผิดรับชอบที่เรียกว่า regulated self-regulation ต้องมีความโปร่งใส ชัดเจน มีแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ สนับสนุนตั้งองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ แนะนำ เสนอแนะ ออกแนวปฏิบัติสำหรับผู้สร้างเนื้อหา เพื่อให้แพลตฟอร์มตระหนักถึงหน้าที่ในการรับผิดชอบความปลอดภัยของเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
2.3 สำนักข่าวและคนวงการสื่อมวลชน ต้องตระหนักการทำงานของตัวเองในฐานะที่ต้องมีสิทธิเสรีภาพที่ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ การเคารพสิทธิ โดยองค์กรวิชาชีพ ต้องเข้ามาสร้างหลักปฏิบัติให้ชัดเจน อาทิ กฎหมายการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หลักปฏิบัติหรือแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับสื่อออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งในฝั่งยุโรปที่เห็นบทเรียนจากการปลุกระดมทางการเมืองที่เกิดขึ้นใน Facebook ช่วงเลือกตั้งทำให้พวกเขาขยับตัวเร็วขึ้นกว่าเดิม
และ 2.4 ประชาชน ต้องติดอาวุธให้ตัวเองและลูกหลานในการรู้เท่าทันสื่อยุคดิจิทัล (digital literacy) เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของขั้วความคิดสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง หรือไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้ภาครัฐมีความจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาในรูปแบบการเรียนในหลักสูตรการเรียนรู้ ส่วนภาคประชาชนควรส่งเสริมให้มีการเรียนรู้แบบ lifelong learning ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชน
“มันมี 2 ขา ที่เถียงกันเสมอในวงวิชาการ สมมุติมือซ้ายคุณพูดเรื่อง Protection (การป้องกัน) ทางขวาต้องพูดเรื่อง Empowerment (การส่งเสริม) คือคุณจะเพิ่มพลังอำนาจให้ประชาชนมีภูมิต้านทางอย่างไรกับสื่อปลอม สื่อ Hate Speech (สร้างความเกลียดชัง) รัฐมักจะไปแขนซ้ายคือเรื่อง Protection เอากฎหมายวิ่งไล่ไหม? อันนั้นต้องมี แต่อีกขาที่คุณต้องทำไปด้วยคือเรื่อง Empowerment ถ้าคุณอ่านตำรา เชื่อทฤษฎีคนละเล่ม มันก็เริ่มจากฐานคนละอัน วิ่งไล่จับไปก็ยาก ง่ายๆ ไม่ทันเขา
เหมือนพวก (แก๊ง) คอลเซ็นเตอร์คุณจับมันได้มุขหนึ่งมันก็มามุขใหม่ มันเลยต้องมีขาที่ออกมา Educate (ให้ความรู้) แล้วเพิ่ม Empowerment ลงไปให้ทุกระดับ ไปอบรมเหมือนที่ Cofact (ภาคีเครือข่ายตรวจสอบข่าวลวงในประเทศไทย) เขาลงไป เครือข่ายโน่นนี่ ถ้ารัฐอยู่แต่ในพื้นที่ของตัวเอง แล้วก็ตีกรอบว่าพื้นที่ฉันตรงนี้ เดี๋ยวตั้งคณะกรรมการ กว่าจะแก้ปัญหาไม่ทัน” อาจารย์สังกมา กล่าว
คำถามสุดท้าย 3.อุดมการณ์หรือปากท้อง คนทำสื่อควรจะเลือกทางใด? หรือจะมีอะไรที่มาช่วยรักษาสมดุลได้บ้าง? เพราะในสภาพที่คนแวดวงสื่อกระแสหลักถูกคาดหวังว่าต้องอยู่ในกรอบที่มากไปกว่ากฎหมาย (จริยธรรม จรรยาบรรณ มารยาท) แตกต่างจากคนในแวดวงสื่อใหม่ทางออนไลน์ที่ไม่ถูกคาดหวังเช่นนั้น (ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมาย จะหยาบคายสองแง่สองง่าม ก่อดราม่าอย่างไรก็ได้เต็มที่) ทำให้รายได้จากเม็ดเงินโฆษณาไหลไปอยู่กับกลุ่มหลังมากกว่ากลุ่มแรก จนระยะหลังๆ เริ่มเห็นคนสื่อหลักไปอยู่ในพื้นที่ออนไลน์เพื่อจะได้หลุดจากข้อจำกัดนั้น
อาจารย์สังกมา ตอบคำถามนี้ไว้ 3 ส่วน คือ 3.1 ภาครัฐ การตรวจสอบอาจหมายถึงการสนับสนุนให้ภาคผู้ประกอบการสามารถที่จะทำให้เกิดพื้นที่ความเป็นกลาง งบประมาณกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อาจต้องจัดสรรงบประมาณเฉพาะช่วงการผลิตข่าว การให้รางวัลจูงใจ การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับข่าวคุณภาพ ไม่ใช่แค่เรียกเรตติ้ง
3.2 สำนักข่าว-องค์กรสื่อ มีทั้ง “ด้านการปรับตัว” เช่น ในแคนาดา สำนักข่าว CBC มีโปรแกรม Reskill ให้นักข่าวอาวุโสที่เก่งในงานข่าวสืบสวนสอบสวน เพื่อทำความเข้าใจและเปิดใจบูรณาการงานของตัวเองเข้ากับสื่อใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่อยู่ในสมองนักข่าวต่างหากที่หาเครื่องมือมาทดแทนไม่ได้ในเชิงคิดวิเคราะห์ การนำนโยบายด้านมัลติมีเดียเนื้อหาภาพ : ใช้ภาพถ่ายคุณภาพสูง วีดีโออินโฟกราฟิก และองค์ประกอบภาพอื่นๆ เพื่อเสริมเรื่องราวของเรา มัลติมีเดียสามารถทำให้ข้อมูลที่ซับซ้อนย่อยง่ายและน่าสนใจยิ่งขึ้น
ฟีเจอร์เชิงโต้ตอบ โพล และแผนที่ เพื่อให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันต้องเปิดใจรับกลยุทธ์สื่อในยุคดิจิทัล สื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ (Integrated Marketing Communication: IMC) เช่น การโพสต์อย่างมีกลยุทธ์ หาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ ปรับโพสต์ของคุณให้เหมาะสมกับจุดแข็งของแต่ละแพลตฟอร์ม และ “โลกสมัยใหม่ผู้คนต้องการการมีส่วนร่วม”องค์กรสื่ออาจส่วนร่วมกับผู้รับสารผ่านความคิดเห็นและการสนทนา บางทีอาจมีเปิดห้องเสวนาให้สมาชิกบ้าง เป็นต้น ขณะที่ “ด้านการรักษาจุดยืนของวิชาชีพ” ต้องยึดมั่นในการรักษาความถูกต้อง ยอมรายงานช้าลงบ้างเพื่อแลกกกับการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร ไม่ไหลไปตามกระแสโลกออนไลน์
“สื่อหลักจำต้องยอมไม่วิ่งตามกระแส บรรณาธิการข่าวต้องไม่กดดันไปแข่งในตลาดระดับนั้น แม้เรตติ้งจะดี แต่อาจต้องปรับนโยบายการส่งผู้สื่อข่าวภาคสนาม เพื่อรักษาผลงานบุคลากร และคุณภาพงาน เช่น ข่าวลุงพลที่บางสำนักข่าวต้องการเรทติ้งเพราะคนสนใจ แต่ต้องถามว่าเขาสนใจเพราะเราป้อนให้ หรือเขาสนใจเพราะมันให้อะไรกับสังคม ไม่ควรลดทอนความถูกต้องเพื่อความรวดเร็ว ใช้ดุลยพินิจในการจัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องใดที่ต้องให้ความสนใจในทันที” อาจารย์สังกมา ยกตัวอย่าง
และ 3.3 ระดับปัจเจก (นักข่าว-คนทำสื่อ) คงความลึกซึ้ง การเป็นแก่นแท้ของตัวนักข่าวไว้ และเปิดพื้นที่สำหรับการปรับตัวเน้นเรื่องที่มีความลึกและให้ภาพบริบทที่แตกต่างจากรายการเล่าข่าวแบบบันเทิง ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี หรือการเมืองท้องถิ่น ความรู้เฉพาะทางสามารถดึงดูดผู้ชมที่ทุ่มเทผู้นำทางความคิด : เผยแพร่บทความและการวิเคราะห์ที่แสดงถึงความเชี่ยวชาญของตัวเองและมอบข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่า
“Druve Rathee คนหนุ่มรุ่นใหม่ในอินเดีย เขาดังมากจากช่อง YouTubeมีคนติดตามช่องพอๆ กับ account ของประธานาธิบดีเลย ทำเนื้อหาการเมืองเปิดโปงช่วงก่อนเลือกตั้ง กระทบ นเรนทรา โมดี เป็นอย่างมาก ไม่มากก็น้อยมีผลทำให้เก้าอี้เขาได้น้อยลง เพราะคนชั้นกลางในเมือง และคนรุ่นใหม่ได้ข้อมูลที่สื่อกระแสหลักไม่เล่น แต่ตัว Druve ยังบอกเลยว่า เขาต้องกลับมายึดหลักจริยธรรมของนักข่าวมืออาชีพอยู่ดี เพราะหากเขาไม่มีสิ่งนี้ประชาชนจะไม่รับเขาในระยะยาว” นักวิชาการด้านสื่อผู้นี้ ฝากข้อคิดทิ้งท้าย
บัญชา จันทร์สมบูรณ์
(สัมภาษณ์/เรียบเรียง)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี