“โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ” นับเป็นโครงการในพระราชดำริล่าสุด ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2552 เป็นต้นมา ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อพื้นที่แห่งนี้จากราษฎร บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ บ้านหนองคอไก่ หมู่ที่ 5 ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2551 ต่อมากลางปี พ.ศ.2552 ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก 130 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 250 ไร่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ เพื่อพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมและส่งเสริมให้พืชเศรษฐกิจของไทยไม่สูญหายไป เดิมพื้นที่นี้สภาพโดยทั่วไปมีความแห้งแล้งมาก และเคยเป็นแปลงปลูกต้นยูคาลิปตัสมาก่อน จึงได้มีการพัฒนาแปลงยูคาลิปตัสทั้งหมด ให้ปรับเป็นแปลงพืชเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งพืชผักสวนครัว นาข้าว ไม้ผล สับปะรด มะพร้าวหอม ข้าวโพด ยางพารา ฯลฯ
นายชนินทร์ ทิพย์โภชนา ผู้จัดการโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ได้ดำเนินการมากว่า 5 ปีแล้ว หลังจากที่พระองค์ซื้อที่ดินผืนนี้แล้ว ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาทำการศึกษา ปรับภูมิทัศน์ และปรับปรุงบำรุงดินให้สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้ง โดยในเบื้องต้นการทำเกษตรของที่โครงการจะใช้ปุ๋ยพืชสดเป็นหลัก เริ่มจากการปลูกพืชตระกูลถั่ว และทำการไถ่กลบ เสริมด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก รวมถึงปุ๋ยเคมี โดยเราทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผืนดินฟื้นและสามารถกลับมาปลูกพืชได้ หลังจากนั้น จะปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยไม่ซ้ำชนิด และจะทำการปลูกพืชตระกูลถั่วอีกครั้ง ซึ่งรวมแล้วมีพืชที่ปลูกในโครงการกว่า 40 ชนิด และเป็นพืช ผัก ตามฤดูกาลเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับได้รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบุรีและในพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืช นอกจากนี้ ยังได้ปลูกผักสวนครัวกว่า 30 ชนิด ในพื้นที่ 30 ไร่ โดยผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะจำหน่ายในร้านโกลเด้นท์เพลสเท่านั้น จะได้ไม่ไปแย่งตลาดของเกษตรกรและผลผลิตที่ได้นั้นทำให้โครงการสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น
“ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ โครงการดังกล่าว เป็นจำนวนมาก เราจึงพยายามเดินตามแนวพระราชดำริ โดยการทดลองนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มาทดลองใช้ในพื้นที่จริงเพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจน และได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปและเกษตรกรสามารถเข้าชมโครงการได้ โดยขณะนี้มีผู้เข้าชมโครงการเฉลี่ย 15,000 คนต่อเดือน แบ่งเป็นเกษตรกรมาศึกษาข้อมูลการปรับสภาพดินร้อยละ 30 และเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปร้อยละ 70 ทั้งนี้ ในอนาคตทางโครางการ เตรียมเพิ่มโคนม และโรงนมให้มีปริมาณที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตนม ขายออกสู่กลุ่มเกษตรกร สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง” นายชนินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี