‘น่าน-พะเยา’อ่วม
น้ำไหลล้นทะลักท่วมวงกว้าง
ภูเก็ตดินถล่มสังเวยแล้ว8ศพ
มท.1 เร่งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม 5 จังหวัดภาคเหนือ ยันบริหารจัดการได้ดีกว่าปี 2554 น่านระดับน้ำสูงในรอบ 100 ปี บ้านเรือนจมน้ำกว่า 2 พันหลัง น้ำไหลเข้ารพ.น่าน แต่ยังให้บริการปกติ ส่วนพะเยาหวั่นซ้ำรอย 30 ปีก่อน กว๊านพะเยา ล้นท่วมพื้นที่วงกว้างขณะที่ภูเก็ต ฝนตกดินสไลด์ถล่ม สังเวยแล้ว 8 ศพ
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ว่าเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ถ้ามีการอพยพ เรามีการจัดตั้งศูนย์พักพิงในเขตจังหวัดที่เกิดเหตุน้ำท่วม ซึ่งตอนนี้เน้นใน 5 จังหวัด คือเชียงราย แพร่ น่าน สุโขทัย และพะเยา อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ตนจะลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนภารกิจต่างๆ
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า โดยหลักการปฏิบัติ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด สามารถประกาศเป็นเขตประสพภัยพิบัติ ทำให้อนุมัติเรื่องการช่วยเหลือได้โดยไม่ต้องรอส่วนกลาง และถ้างบประมาณในส่วนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการไปแล้วไม่เพียงพอ เราก็มีงบทดลอง สามารถใช้งบกลางเข้าไปเสริมในการแก้ปัญหาให้มีอุปสรรคน้อยที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการประเมินว่าจะรุนแรงมากว่าปี 2554 หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า น่าจะมีการจัดการที่ดีกว่า ปี 2554 ในส่วนของการประชุมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางกรมชลประทาน กรมทางหลวง มีการวางแผน ดูว่าเส้นทางของน้ำจะเอ่อไปทางแนวไหน เราก็รีบไปจัดการก่อนที่จะเกิด อย่างน้ำที่จะไหลจากพะเยา แพร่ ไปถึงสุโขทัย ใช้เวลา 2 วัน เราก็ต้องรีบไปจัดการในเรื่องของการบริหารเส้นทางน้ำให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด ซึ่งในการประชุม มีแผนและแบ่งงานให้หน่วยงานต่างๆ แล้ว
ด้านเพจประชาสัมพันธ์ จ.น่าน โพสต์ภาพมุมสูงให้เห็นสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมระบุข้อความว่า น้ำท่วม จ.น่าน ขึ้นบินโดยเฮลิคอปเตอร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกสำรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.เชียงกลาง อ.ปัว อ.ท่าวังผา และ อ.เมือง ภาพถ่ายโดยประชาสัมพันธ์ จ.น่าน
ขณะที่สำนักปลัดเทศบาล เทศบาลเมืองน่าน รายงานสถิติแม่น้ำน่านในตัวเมืองสูงสุดในรอบ 100 ปี โดยน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ย่านเศรษฐกิจและชุมชนต่างๆ ซึ่งนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ระบุว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่าน N1 กาดแลง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 อยู่ที่ 8.72 เมตร สูงกว่าระดับพนังกั้นน้ำและสูงกว่าสถิติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2549 ที่ระดับ 8.42 เมตร โดยประชาชนรับทราบข่าวสารการแจ้งเตือนภัย ได้มีการเตรียมการรับมือน้ำท่วมในหลายพื้นที่เขตเทศบาลเมืองน่าน
สำหรับสถานการณน้ำท่วม อ.เมือง จ.น่าน ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าระดับน้ำจะเริ่มทรงตัวและลดลงเล็กน้อย แต่ทุกพื้นที่ยังเต็มไปด้วยน้ำที่ทะลักท่วมและขยายวงกว้างจากริมแม่น้ำน่านไป 3 กิโลเมตร เข้าท่วม 23 ชุมชนเขตเทศบาลเมืองน่าน มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบกว่า 2,000 หลัง บางจุดที่อยู่ริมแม่น้ำน่าน ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ รพ.น่าน มีปริมาณน้ำผุดออกจากท่อระบายน้ำทะลักท่วมพื้นที่ของ รพ.บางส่วน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของ รพ.ได้ช่วยกันเก็บสิ่งของและเอกสารต่างๆ ของผู้ป่วย หนีน้ำ แต่ยังไม่กระทบกับการให้บริการผู้ที่เข้ารับการรักษา โดย รพ.ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ เนื่องจากเตรียมรับมือน้ำท่วมไว้แล้ว หากสถานการณ์แย่กว่าเดิม ก็มีแผนในการจัดการ นอกจากนี้ในส่วนของโรงเรียนต่างๆ ยังคงปิดการเรียนการสอน รวมถึงธนาคาร ร้านค้า ก็ปิดให้บริการไปโดยปริยาย
ทั้งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ ต่างระบุว่าน้ำท่วมครั้งนี้นับเป็นครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี และยังเป็นกังวลว่าจะมีมวลน้ำจากทางเหนือ ลงมาสมทบอีก รวมถึงสภาพอากาศก็ยังคงปกคลุมไปด้วยเมฆฝนด้วย
ที่ จ.แพร่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่น้ำยมได้ไหลบ่าเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองแพร่ ทั้งย่านเศรษฐกิจ ศูนย์ราชการ และชุมชนโดยรอบ เป็นบริเวณกว้าง ศาลากลางจังหวัด บรรดาข้าราชการและลูกจ้าง ไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องพากันขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง นำรถยนต์ออกไปจอดในที่ปลอดภัย นับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายหลังมีฝนตกต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ถนนหลายสาย ก็ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โรงเรียนในเขตเทศบาล ก็ประกาศปิดชั่วคราว
ส่วนศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.แพร่ ได้ย้ายที่ทำการไปยังศูนย์บริหารจัดการน้ำ อบจ.แพร่ เพื่อติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.แพร่ ได้แจ้งตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ศาลากลางจังหวัด บ้านมหาโพธิ บ้านหนองใหม่ บ้านเอื้ออาทร วังธง เวียงตั้ง และท่าขวัญ ตั้งแต่เวลา 07.10 น.เป็นต้นไป จนกว่าจะมั่นใจว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากมีปริมาณน้ำสูง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะที่การประปาฯ ก็หยุดจ่ายน้ำบางพื้นที่เช่นกัน
ด้านนายชุติเดช มีจันทร์ ผวจ.แพร่ พร้อมคณะ ได้เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยนำอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ไปส่งมอบให้พร้อมกับตั้งศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ถูกน้ำท่วมออกจากที่พักไม่ได้ และแจ้งเตือนพื้นที่ได้รับผลกระทบต่อไปใน อ.สูงเม่น เด่นชัย ลอง และวังชิ้น ก่อนที่น้ำจะไหลเข้าสู่ จ.สุโขทัย
ที่ จ.พะเยา สถานการณ์น้ำที่กว๊านพะเยา เข้าสู่ขั้นวิกฤต ปริมาณน้ำเกินอัตราการเก็บกัก โดยไหลทะลักเข้าท่วมตัวเมืองพะเยา ทำให้ถนนชายกว๊าน ถนนพหลโยธิน สถานีขนส่ง ร้านค้า วัด และบ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหาย โดยในเขต ต.เวียง และ ต.แม่ต๋ำ ได้รับผลกระทบแล้วหลายร้อยหลังคาเรือน
ทั้งนี้ ทางสำนักงานโครงการชลประทานพะเยา ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ มาติดตั้งบริเวณด้านหลังวิหารหลวง (พระเจ้าตนหลวง) เพื่อสูบน้ำออกจากในพื้นที่วัด ซึ่งต่ำกว่ากว๊านพะเยา ป้องกันน้ำเข้าวิหารหลวง โดยนายปาโมกข์ ปิงเมือง ผอ.โครงการชลประทานฯ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน 8 อำเภอของ จ.พะเยา หลายพื้นที่น้ำลดลงมากแล้ว มีเพียงบางส่วนที่ยังทรงตัว โดยเฉพาะที่ อ.ดอกคำใต้ เนื่องจากมีน้ำล้นจากแม่น้ำอิงปะทะไว้ ทำให้น้ำระบายได้ช้า ส่วนปลายน้ำที่ผ่าน อ.ดอกคำใต้ ยังสามารถระบายน้ำได้ดี
นายปาโมกข์ กล่าวต่อว่า บริเวณกว๊านพะเยา ยังคงมีน้ำจากเทือกเขาดอยหลวง ลงมาเติมอยู่ ทำให้เกินระดับเก็บกักที่ 53 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มวลน้ำที่เกินทั้งหมดไหลล้นประตูระบายน้ำ ซึ่งสาเหตุที่ปริมาณน้ำสูงกว่าปกติในรอบ 30 ปี เนื่องจากฝนที่ตกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567 มีปริมาณมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า น้ำท่วมกว๊านพะเยาครั้งนี้ เทียบเท่ากับปี 2537 หรือ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นพื้นที่รอบกว๊านพะเยา ถูกน้ำท่วมขังนาน 18 วัน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ต.แม่ต๋ำ ได้รับความเดือดร้อนมาก ต้องใช้เรือท้องแบนขนถ่ายประชาชนเข้าออกบ้าน พร้อมทำสะพานไม้-ราวไม้ไผ่ ทอดยาวจากริมถนนพหลโยธิน เข้าไปในซอยแม่ต๋ำสายใน เทศบาลเมืองพะเยา มีการตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือพร้อมจัดอาหารส่งตามบ้านเรือนที่น้ำท่วมวันละ 3 มื้อ และแจกยารักษาโรคไปพร้อมกัน
อีกด้านหนึ่ง นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ โดยมีนายรัฐศาสตร์ ชิดชู รอง ผวจ.หนองคาย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานสถานการณ์แม่น้ำโขงและมาตรการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งของ จ.หนองคาย โดยระดับน้ำโขงช่วงที่ผ่าน จ.หนองคาย ที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย วัดได้ 11.27 เมตร เพิ่มขึ้น 65 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 93 เซนติเมตร ซึ่งตลิ่งรองรับได้ 12.20 เมตร แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงวันที่ 28 สิงหาคมนี้ โดยจะรับน้ำจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ก่อนจะไหลลงพื้นที่ตอนล่าง ถ้ามีฝนตกหนักลงมาอีก ก็จะมีความเสี่ยงต่อน้ำล้นตลิ่งมากขึ้น
ที่ จ.ภูเก็ต ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องหลายชั่วโมง ตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงช่วงเช้า ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายจุด โดยเฉพาะเส้นทางเข้าออกหน้าวัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต น้ำไหลหลากจากเทือกเขานาคเกิดได้ไหลลงมาเป็นสีขุ่นหรือสีโคลน ท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชน ทำให้การจราจรบางพื้นที่ไม่สามารถผ่านได้
ส่วนพื้นที่ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต มีน้ำท่วมขังจากน้ำบนเทือกเขาไหลลงมา ทำให้ท่วมถนน บ้านเรือนประชาชน ได้รับความเสียหาย โดยบริเวณซอยปฏัก 14 ต.กะรน มีน้ำท่วมขัง และมีชาวบ้านติดอยู่ภายในบ้าน ต้องขอความช่วยเหลือจากตำรวจ และหน่วยกู้ภัย อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าได้เกิดเหตุดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนประชาชนบริเวณซอยปฏัก 2 และ 4 ต.กะรน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ภายใต้ซากบ้านเรือนที่ถูกดินโคลนทับ ซึ่งทางกู้ภัยอยู่ระหว่างเร่งค้นหาร่าง
ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศว่า ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง มีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคเหนือตอนบน ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณ จ.นครสวรรค์ กาญจนบุรี ลพบุรี และสระบุรี ส่วน กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณ จ.นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี