ผบ.ตร.สั่งล่า
แก๊งโจรขโมย
ซ้ำเติมน้ำท่วม
ย้ำผิดโทษหนัก
“ผบ.ตร.”นำคณะลงพื้นที่เชียงราย ตรวจสภาพความเสียหายจากน้ำท่วม กำชับตำรวจทุกนายสนับสนุนการกู้ภัย ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สั่งล่าโจรขโมยของซ้ำเติมผู้ประสบภัย ขณะที่ ‘โกศลวัฒน์’ เตือนเเก๊งเเมวน้ำลักทรัพย์ตอนเกิดน้ำท่วมมีโทษหนักกว่าปกติ
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร. และคุณนิภาพรรณ สุขวิมล นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ไปตรวจสอบสภาพความเสียหายของบ้านเรือนพี่น้องประชาชน และสถานีตำรวจ
ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ผบ.ตร.และนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปยัง สภ.บ้านดู่ จ.เชียงราย เพื่อตรวจสอบสภาพความเสียหายของบ้านเรือนพี่น้องประชาชน และสถานีตำรวจ โดยมี พ.ต.อ.อานันท์จักร์ กนกนพวัชร์ ผกก.สภ.บ้านดู่ ให้การต้อนรับ และนำทางคณะฯ ตรวจสอบสภาพความเสียหายของอาคารที่ทำการ ที่พักอาศัย และมอบสิ่งของช่วยเหลือให้กับพี่น้องประชาชน และข้าราชการตำรวจที่ได้รับผลกระทบ
ต่อมา คณะผบ.ตร.ได้เดินทางด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ เข้าไปในพื้นที่ชุมชนเกาะลอย และหมู่บ้านฝั่งหมื่น อ.เมืองเชียงราย ที่ประสบเหตุอุทกภัย เพื่อมอบสิ่งของช่วยเหลือที่จำเป็นในการดำรงชีพให้กับพี่น้องประชาชนที่ยังอยู่ในพื้นที่ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ผบ.ตร.ได้มอบนโยบายกับหัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่ หากต้องการให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติสนับสนุนด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือสิ่งอุปโภคบริโภคประเภทใด ให้แจ้งขอรับการสนับสนุนมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทันที โดยจะได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการตามคำขอ
ผบ.ตร. ยังได้กำชับข้าราชการตำรวจทุกนาย ให้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติของหน่วยกู้ภัย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้งกำชับให้ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ที่อาจมีผู้ไม่หวังดี ฉวยโอกาสนี้ก่อเหตุซ้ำเติมพี่น้องประชาชน
วันเดียวกัน พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร. สั่งการให้ ภ.จว.เชียงราย ประสานความร่วมมือและร่วมบูรณาการกับผู้ประกอบการในพื้นที่จัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ณ โรงแรมศิลามณี รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย โดยได้จัดเตรียมห้องพักเพื่อรองรับให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยได้เข้าพัก จำนวน 160 ห้อง พร้อมอาหารและน้ำดื่ม 3 มื้อ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งในปัจจุบัน มีประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยเข้าพักแล้ว จำนวน 100 ห้อง โดยจะเปิดดำเนินการไปตลอด จนกว่าสถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลาย
ด้าน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี(สคช.) กล่าวถึงกรณีปรากฎเป็นข่าวแก๊งแมวน้ำซ้ำเติมผู้ประสบภัย ขโมยของช่วงน้ำท่วมใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมถึงมิจฉาชีพสมอ้างที่เปิดรับบริจาค ว่าตนขอเตือนถึงผู้ที่คิดจะกระทำผิดในช่วงภัยพิบัติที่เป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชนให้เลิกทำเสียเพราะจะรับโทษหนักกว่าปกติ โดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดย ทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน3ปี และปรับไม่เกิน6 หมื่นบาท อันนี้คือลักทรัพย์ธรรมดาปกติ
แต่ในช่วงภัยพิบัติ หรือที่เรียกว่าลักทรัพย์ฉกรรจ์ จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (2 ) บัญญัติไว้ว่ากระทำในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ เเละ มาตรา 335(12) ลักทรัพย์ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ขณะที่ มาตรา 335 วรรคสองยังระบุไว้อีกว่า ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท เเละถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท จะเห็นได้ว่ามีอัตราโทษที่หนักกว่าลักทรัพย์ธรรมดาอยู่มาก
“ในส่วนพวกต้มตุ๋มเปิดรับบริจาคปลอมเท่าที่ทราบอาจจะไม่มีตัวบทกฎหมาย เพิ่มโทษเป็นการเฉพาะ เเต่การที่ศาลจะลงโทษหนักขึ้นได้มันมีอยู่ 2 อย่างคือเพิ่มโทษโดยตัวกฎหมาย เเละอย่างที่สองคือ อัยการสามารถบรรยายฟ้องได้ ว่าพฤติกรรมของจำเลยเป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายเเรงในช่วงภัยพิบัติ อัยการเราจะบรรยายฟ้องว่าการกระทำเป็นการซ้ำเติมประชาชนขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก ซึ่งที่ผ่านมาเราเคยทำมาเเล้ว เเละศาลก็ลงโทษสถานหนักตามที่อัยการบรรยายฟ้องไป ” นายโกศลวัฒน์ กล่าว
ในโกศลวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานการน้ำท่วมครั้งนี้ ตนและอัยการใน สคช.ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือกฎหมายประชาชน มีความเป็นห่วงประชาชน โดยได้ประชุมเตรียมการไว้เเล้วถึงเหตุการณ์ภายหลังน้ำลด ที่จะเกิดปัญหาตามมา เช่น เกิดพื้นที่เกษตรเสียหาย ไม่มีเงินชำระหนี้ กลายเป็นปัญหาหนี้สินต่อเนื่อง ตรงนี้อัยการ สคช.ยินดีจะเข้าไปเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยหาทางออกให้ ชีวิตไม่เห็นหนทาง เพราะไม่มีประสบการณ์ขอให้เข้ามาหาเราได้เลย เราจะช่วยหาทางออกให้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี