สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดสัมมนา “ติดปีกล้งผลไม้ เสริมแกร่งไทยสู่เวทีโลก” เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีการเสนอผลการศึกษา “โครงการศึกษาแนวทางส่งเสริมศักยภาพธุรกิจการค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร โรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้งผลไม้)” จากคณะผู้วิจัยจำนวน 3 ท่าน คือ วิศาล บุปผเวส, พันปรีชา ภู่ทอง และ ขนิษฐาปะกินำหัง เนื้อหาดังนี้
-อะไรคือโรงคัดบรรจุผลไม้? : ซึ่งพบว่าแต่ละหน่วยงานหรือนักวิชาการแต่ละคนให้ความหมายแตกต่างกัน โดยมีทั้งกลุ่มที่มองว่าเป็นสถานที่ (อาคาร โกดัง โรงเรือน สำหรับคัดแยกและดำเนินกระบวนการบรรจุภัณฑ์) และกลุ่มที่มองว่าเป็นหน่วยธุรกิจ (พ่อค้าคนกลาง รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรมาคัดเกรด และจัดลงบรรจุภัณฑ์สำหรับขายภายในประเทศหรือส่งออก) ในประเทศไทยจึงยังไม่มีนิยามกลางสำหรับคำคำนี้
-วิวัฒนาการของล้งผลไม้ในไทย : แบ่งออกเป็น 4 ยุค คือ 1.ก่อนปี 2547 ตลาดผลไม้ในไทยไม่ค่อยซับซ้อนและส่วนใหญ่เป็นตลาดภายในประเทศ โดยมีตลาดกลางรับซื้อผลผลิตจากพ่อค้าคนกลางหรือเกษตรกร 2.ช่วงปี 2547-2552 เป็นช่วงเปิดตลาดผลไม้ไทย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการมีความตกลงอาเซียน-จีน โดยเฉพาะระหว่างไทยกับจีนที่เร่งบรรลุความตกลงลดภาษีซึ่งกันและกันสำหรับสินค้าประเภทผัก-ผลไม้ ระบบล้งเริ่มเกิดในยุคนี้ แต่ยังเป็นล้งชาวไทยที่รับซื้อผลผลิตจากพ่อค้าคนกลางอีกทอดหนึ่งเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน
3.ช่วงปี 2553-2555 เป็นช่วงที่ตลาดจีนกำลังเติบโตอย่างมาก เป็นเป้าหมายสำคัญของไทยในการส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะลำไยทั้งสดและอบแห้ง รวมถึงทุเรียนและมังคุด ยุคนี้เริ่มเห็นชาวจีนเข้ามาประกอบกิจการล้ง รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อส่งไปจีน และ 4.ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา เป็นยุคที่มีการแข่งขันสูง ไม่ว่าล้งไทยหรือจีนก็พยายามบริหารจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิต ยุคนี้ยังมีมะพร้าวน้ำหอมเพิ่มเข้ามาเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญ
โดย ณ ปี 2566 ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรพบล้งที่ส่งผลไม้ไปจีนทั้งสิ้น 2,122 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกและภาคกลาง และหากดูสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 จะพบว่า กิจการล้งผลไม้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลในปี 2564โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากดูตามสัญชาติ พบว่า ล้งไทยอยู่ที่ร้อยละ 67 แต่หากดูตามทุนจดทะเบียนกลับ พบว่า ล้งไทยลดลงเหลือร้อยละ 55 ในขณะที่ล้งร่วมทุนที่จีนถือหุ้นมากกว่าไทย เพิ่มเป็นร้อยละ 7
และหากดูรายได้ จะพบว่า ล้งไทยลดลงเหลือร้อยละ 54 ในขณะที่ล้งร่วมทุนที่จีนถือหุ้นมากกว่าไทยเพิ่มเป็นร้อยละ 10 สะท้อนอิทธิพลของล้งต่างชาติที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยมีคู่แข่งในการส่งออกผลไม้ไปจีน ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วยกัน อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ทั้งนี้ ล้งมีวิธีการรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรอยู่ 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.เข้าไปตั้งจุดรับซื้อผลไม้ในพื้นที่ปลูก เพื่อให้เกษตรกรนำผลไม้มาขาย 2.รับซื้อจากผู้รวบรวม หรือก็คือพ่อค้าคนกลางในพื้นที่
3.ใช้ตัวแทนในการติดต่อกับเกษตรกรซึ่งอาจเป็นได้ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ส่วนใหญ่เข้าไปก่อนถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเจรจากันว่าจะซื้อเพียงบางส่วนหรือเหมาทั้งสวนก็ได้ 4.ล้งเข้าร่วมประมูลผลไม้ พบได้ชัดเจนในกรณีของมังคุด ซึ่งกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนจะรวบรวมและคัดแยกผลผลิตเป็นเกรดต่างๆ ก่อนเปิดให้ล้งมาประมูล ทำให้เกษตรกรขายผลไม้ได้ในราคาที่ดีที่สุด และ 5.จากเกษตรกรกลายเป็นผู้ประกอบการล้ง ลักษณะนี้พบได้น้อย คือทำสวนของตนเองและรวบรวมผลผลิตจากชาวสวนคนอื่นๆ ด้วย
-ล้งผลไม้ดำเนินธุรกิจแบบใดบ้าง? : พบ 4 รูปแบบ คือ 1.สร้างแบรนด์ผลไม้ขายเอง โดยดำเนินธุรกิจครบวงจร มีอยู่ราวร้อยละ 10 มักเป็นล้งขนาดใหญ่ มีทั้งล้งไทยและล้งจีน มีประสบการณ์ค้าขายผลไม้มานาน ทำทั้งรับซื้อผลผลิต คัดเกรด ทำบรรจุภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตนเอง ก่อนส่งขายหรือส่งออก หากส่งผลไม้ไปจีนก็ต้องมีเครือข่ายธุรกิจอยู่ที่จีนด้วย ข้อดีคือหากแบรนด์แข็งแกร่งก็มีตลาดและมีลูกค้าประจำ แต่ข้อเสียคือต้องระวังไปเจอหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ไม่ดี เพราะอาจถูกโกงหรือถูกลอกเลียนแบรนด์
2.รับจ้างบรรจุตามคำสั่งซื้อ มีทั้งล้งไทยและล้งจีนเช่นกัน ได้รับการติดต่อจากพ่อค้าไม่ว่าไทยหรือจีนให้เป็นตัวแทนแพ็กผลไม้ ล้งจะได้โควตามาแล้วก็ต้องรวบรวมผลผลิตมาคัดเกรดและบรรจุการบริหารต้องคุมต้นทุนพอสมควรเพราะมีผลต่อกำไรที่จะได้รับ ข้อดีคือมีรายได้ แต่ข้อเสียคือไม่ยั่งยืน มีความเสี่ยงทางการตลาด มีคู่แข่งเป็นจำนวนมาก และผู้ซื้อจะรับซื้อเมื่อใดก็ได้
3.รับจ้างรวบรวม รับซื้อ คัดเกรด และบรรจุ กลุ่มนี้ไม่ได้ส่งออกเอง โดยอาจบรรจุภายใต้แบรนด์ของพ่อค้าชาวจีน ซึ่งพ่อค้าจีนจะติดต่อล้งพร้อมกำหนดราคาให้ด้วย ข้อดีคือหากล้งทำผลงานได้ดีคำสั่งซื้อก็จะมีมาเรื่อยๆ แต่ข้อเสียคือช่วงที่ผลผลิตหายากก็ต้องไปรับซื้อผลผลิตในราคาที่แพงขึ้น อีกทั้งมีคู่แข่งจำนวนมาก และ 4.รับจ้างแพ็กอิสระ ส่วนใหญ่เป็นล้งไทย รับคำสั่งซื้อจากพ่อค้าทั้งไทยและจีน ไม่มีลูกค้าประจำ ไม่มีความสัมพันธ์พิเศษกับคู่ค้ารายใดทั้งสิ้น ข้อดีคือมีรายได้ แต่ข้อเสียคือไม่ยั่งยืนเพราะไม่มีลูกค้าประจำ
-ทำธุรกิจล้งเกี่ยวข้องกับกฎหมายใดบ้าง? : ในความเป็นจริงมีหลายฉบับ แต่คณะผู้วิจัยขอยกตัวอย่าง 2 ฉบับ คือ “พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542” โดยกรณีของล้งต่างชาติหากเป็นการซื้อ คัดคุณภาพ บรรจุผลไม้และส่งออกเอง สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ในขณะที่หากเป็นการซื้อผลไม้ในไทยและจำหน่ายสินค้าบางส่วนในประเทศไทย หรือรับจ้างคัดคุณภาพและบรรจุผลไม้ให้ผู้ประกอบการรายอื่น จะต้องขออนุญาต
กับ “พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560” ระบุพฤติกรรมที่ผู้ประกอบการล้งต้องระมัดระวังเพราะอาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมในสัญญา กำหนดหรือปรับลดราคาซื้อภายหลังการทำสัญญา ชะลอเข้าเก็บผลไม้หรือเลือกเก็บผลไม้บางส่วนโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งจะมีโทษปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้
และ 2.การกระทำอันเป็นการผูกขาดลดการแข่งขัน จำกัดการแข่งขัน เช่น ร่วมกันกำหนดราคาซื้อ ร่วมกันจำกัดปริมาณของสินค้า ร่วมกันกำหนดแบ่งท้องที่หรือกำหนดเกษตรกรที่จะรับซื้อ อันเป็นการจำกัดทางเลือกขายของเกษตรกร ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม การพิสูจน์ความผิดประเภทนี้ทำได้ยาก
-การมาของล้งจีนส่งผลแบบใดบ้าง? : มีทั้ง “มุมบวก” เช่น ทำให้ตลาดส่งออกผลไม้ขยายตัวมากขึ้น จูงใจให้เกษตรกรผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพสูงเพราะทำแล้วขายได้ราคาดี กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพาะปลูก (ล้งไปตั้งจุดรับซื้อผลผลิต มีการจ้างงานในสวนหรือล้ง) ลดปัญหาการกดราคาเพราะเกษตรกรมีช่องทางขายผลผลิตมากขึ้น อีกทั้งทำให้ราคาผลผลิตสูงขึ้นซึ่งก็เป็นผลดีต่อเกษตรกร รัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีธุรกิจล้ง และช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรสูงวัยและขาดแรงงานเก็บเกี่ยว (ล้งมีเงินมัดจำสำหรับดูแลสวนและเข้ามาพร้อมทีมเก็บเกี่ยว)
แต่ก็มี “มุมลบ” เช่น ตลาดผลไม้ไทยปัจจุบันพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักเพียงตลาดเดียว ซึ่งมีความเสี่ยงหากเกิดเหตุใดๆ ที่ทำให้ไม่สามารถส่งออกผลไม้ไปยังจีนได้ การครอบงำธุรกิจผลไม้ไทยของทุนจีนไปตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานจนอาจกลายเป็นผู้กำหนดราคาผลไม้ได้เอง (ร่วมกันฮั้ว) แบบผูกขาดในอนาคต การมีล้งต่างชาติเป็นคู่แข่งส่งผลให้ล้งไทยสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด (แต่ล้งไทยจะไปบุกตลาดจีนก็ทำได้ยากเพราะมีข้อจำกัดทั้งเงินทุน ภาษา และความรู้เรื่องกฎระเบียบต่างๆ ของจีน) การครอบครองที่ดินของชาวต่างชาติผ่านคนไทยที่ยอมเป็นนอมินี
-ในเมื่อต้องอยู่กับล้งไปอีกนาน แล้วจะเสริมศักยภาพภาคเกษตรของไทยอย่างไร? : มีข้อเสนอแนะ 1.ขยายตลาดผลไม้ไปยังตลาดอื่นแทนการพึ่งพาประเทศจีนเพียงตลาดเดียว เช่น ตลาดตะวันออกกลาง อินเดีย และตลาดที่มีคนเอเชียอยู่มาก ทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้นผ่านทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดใหม่ เพิ่มงบประมาณและกิจกรรมในการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศ
2.กำกับดูแล ที่ผ่านมามีทั้งย่อหย่อนบ้างไม่รู้บ้าง ทำให้ถูกฉวยโอกาสจากทุนต่างชาติที่เข้ามา จึงต้องเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น การติดตามและเฝ้าระวังพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงตรวจสอบว่ากฎหมายที่ใช้อยู่มีจุดอ่อนอย่างไรบ้าง เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพผลไม้ที่ออกสู่ตลาด เพราะหากปล่อยผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานออกไปก็เป็นการทำลายตลาดของตนเอง และตรวจสอบความเป็นเจ้าของที่ดินของล้งต่างชาติ
3.เพิ่มศักยภาพล้งไทย เพื่อให้แข่งขันกับล้งจีนได้ เช่น รัฐให้การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนการรวมกลุ่มของล้งไทยและเกษตรกรไทย สนับสนุนความรู้และการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและคุณภาพผลผลิต อาทิ การพัฒนาเครื่องคัดเกรด บรรจุภัณฑ์การรักษาคุณภาพผลไม้ การตรวจสอบย้อนกลับ เป็นต้น
อีกทั้ง ควรสนับสนุนให้ล้งไทยมีความสามารถในการส่งออกได้เอง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างเครือข่ายกับผู้รีบซื้อในต่างประเทศ ให้ความรู้ด้านกฎระเบียบทางการค้าในประเทศปลายทาง ซึ่งเรื่องนี้เป็นภารกิจโดยตรงของกระทรวงพาณิชย์ ต้องไปหาวิธีว่าทำอย่างไรจะเชื่อมล้งไทยกับตลาดสากลได้ สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและทักษะของทีมเก็บเกี่ยวหรือสายตัด เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพของผลไม้
และ 4.เชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบ (จากสวนถึงตลาด) รวมฐานข้อมูลล้งหรือโรงคัดบรรจุผลไม้ในแต่ละแหล่งข้อมูล อาทิ ในขณะที่ฐานข้อมูลกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีเพียงชื่อ ที่อยู่ และประเภทผลไม้ที่ส่งออก แต่ฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์มีข้อมูลบริษัทเชิงลึก เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติทุนจดทะเบียน รายได้ งบกำไร-ขาดทุน เป็นต้น
เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์เชิงลึก ตลอดจนประเมินเหตุและผลของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี