นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดเผยถึงการดำเนินการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า การดำเนินการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการดำเนินงานจัดการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดภาระความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในด้านการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” การดำเนินการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการจัดดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่ การทำหลักสูตร การพัฒนาโปรแกรมรองรับการสอบเทียบแบบออนไลน์ และ การจัดทำข้อสอบที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองจาก สสวท. ยึดตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะเป็นผู้ดำเนินการจัดทำข้อสอบ จัดสอบด้วยระบบดิจิทัล และตรวจกระดาษคำตอบ เพื่อให้การสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความโปร่งใส และมีมาตรฐานการสอบระดับประเทศ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวว่า การสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในกลุ่มพ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ แต่อยู่ในวัยเรียนหรือพ้นวัยที่จะศึกษาในสถานศึกษา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ ทักษะ เจตคติและมีคุณสมบัติอันพึงประสงค์ มีความสามารถเป็นเลิศทางปัญญาเข้ารับการทดสอบและประเมิน ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเรียนในรูปแบบดังกล่าวนี้ สามารถสมัครผ่านระบบรับลงทะเบียนออนไลน์ ผู้สมัครต้องนำส่งเอกสารหลักฐานประกอบการรับสมัคร เพื่อป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล และยืนยันตัวตน ณ สถานศึกษาที่ประสงค์จะสอบเทียบระดับการศึกษาที่เปิดสอบเทียบวัดระดับความรู้
สำหรับการเทียบระดับการศึกษาด้วยวิธีการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งระดับการศึกษา ออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับประถมศึกษา ประเภทพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประเภทพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประเภทพื้นฐาน และเพิ่มเติมในสาระวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความเหมาะสมกับผู้เรียนที่ประสงค์จะไปศึกษาต่อในสายการเรียนด้านการคิด วิเคราะห์ หรือด้านการเรียนที่เน้นวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดขอบข่ายเนื้อหาการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การประเมินความรู้ ทักษะ และเจตคติ ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ดังนี้ 1.ภาษาไทย 2.คณิตศาสตร์ 3.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4.สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 5.สุขศึกษาและพลศึกษา 6.ศิลปะ 7.การงานอาชีพ 8.ภาษาต่างประเทศ ส่วนที่ 2 การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ส่วนที่ 3 การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 คือ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทยมีจิตสาธารณะ
ผู้สำเร็จการศึกษาที่ผ่านการสอบเทียบวัดระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีศักดิ์และสิทธิ์เช่นเดียวกับผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานหลักสูตรแกนกลางที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองหลักสูตร สามารถนำผลการทดสอบในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ผ่านไปสะสมเพื่อประโยชน์ในการรับรองคุณวุฒิทางการศึกษา หรือประโยชน์ในการประกอบอาชีพ หรือนำไปเทียบโอนผลการเรียนในระดับเดียวกันได้
นายธนากรกล่าวเพิ่มเติมว่า การสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความแตกต่างกับการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้สอบเทียบสามารถลงทะเบียนเรียนได้ทุกเดือนทั้ง 8 สาระการเรียนรู้ กำหนดการจัดสอบทุกๆ 2 เดือน เมื่อผู้สอบเทียบทราบผลการทดสอบและประสงค์จะปรับค่าระดับผลการทดสอบเฉลี่ยสะสมให้สูงขึ้น สามารถลงทะเบียนและเข้าสอบเทียบซ้ำภายในระยะเวลาก่อนการอนุมัติการจบระดับการศึกษา หรือ สามารถสอบได้โดยไม่จำกัดระยะเวลาในการเรียน โดยจะนำระดับผลการทดสอบสูงสุดมาคำนวณ
ทั้งนี้ ผู้สอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน จะต้องผ่านเกณฑ์การทดสอบครบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ถึงจะมีสิทธิ์เข้ารับการสัมมนา 3 วัน 2 คืน หรือ 30 ชั่วโมง เพื่อประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามประกาศ หลักเกณฑ์ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเทียบระดับการศึกษาด้วยวิธีการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่กำหนดจึงจะถือว่าสำเร็จการศึกษา
การสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานมีการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกรมบัญชีกลาง หลังจากกรมบัญชีกลางตอบข้อหารือแล้วจึงจะดำเนินการจัดทำประกาศเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินรายได้ของสถานศึกษา โดยจะดำเนินการนำร่องสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ประจำอำเภอเมืองทุกแห่งทั่วประเทศ สำหรับสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำกรุงเทพมหานคร จะนำร่องสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับเขตคลองเตย นายธนากรกล่าวในที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี