"เอ็ม-อภิดิศร์"ส่งทนายฟ้องหมิ่นประมาทนักแสดงสาว หลังศาลอาญายกฟ้องคดีวางยาข่มขืน พร้อมเรียกค่าเสียกาย 5 ล้าน ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง 3 กุมภาพันธ์ปีหน้า
วันที่ 6 ธันวาคม 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายอภิดิศร์ หรือเอ็ม อินทุลักษณ์ นักธุรกิจ อดีตจำเลยที่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดีข่มขืนนักแสดงหญิงคนหนึ่งได้มอบอำนาจให้ทนายความเป็นโจทกยื่นฟ้อง อดีตนักแสดงสาวชื่อย่อ ณ. ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา พร้อมเรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท
คำฟ้องโจทก์ ระบุพฤติการณ์สรุปว่า โจทก์เคยเป็นซีอีโอ และประธานบริษัท Aphi Enterprise ซึ่งประกอบธุรกิจหลายอย่าง โดยเฉพาะธุรกิจนำเข้าศิลปินเกาหลี มาจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทย รวมถึงการติดต่อธุรกิจอื่นๆ เกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้ และธุรกิจนำเข้าที่จอดรถเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมัน ส่วนจำเลยเป็นนักแสดงอิสระ ซึ่งได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับโจทก์ข้อหาข่มขืนกระทำชำเราและอื่น ๆ จนกระทั้งศาลอาญา ได้มีคำพิพากษา ยกฟ้องโจทก์เนื่องจากเห็นว่า โจทก์ไม่มีความผิด
โดยจำเลยนี้ได้กระทำความผิดอาญา อันเป็นความผิดหลายกรรมด้วย โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 จำเลยได้ใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณาด้วยการให้สัมภาษณ์ในการออกรายการโหนกระแส ที่สัมภาษณ์สอบถามจำเลยเกี่ยวกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ได้ร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป ทราบว่าโจทก์และจำเลยในคดีนี้ มีข้อความส่วนหนึ่งประมาณว่า "เขาจะพาเราไปที่แห่งหนึ่งและส่งสถานที่ให้ เราดู...มารู้สึกตัวอีกทีประมาณตี 2 หลังจากตื่นมาเขาก็ไม่ได้อยู่ที่นั้นแล้ว ...เขาคะยั้นคะยอให้เรากินโซจูตอนคุยงาน" และหลังจากนั้นพิธีกรถามว่าหลังจากไปถึงที่บ้านถึงรู้ว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศใช่มั้ย ซึ่งจำเลยตอบว่า"ค่ะ" โดยข้อความที่จำเลยอธิบายต่อพิธีกรในรายการ ทำให้บุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าโจทก์ล่อลวงจำเลยให้ไปสถานที่แห่งหนึ่ง และมอมเมาด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนกระทั้งล่วงละเมิดทางเพศแก่
จำเลย
ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 65 เวลากลางวัน จำเลยใส่ความโจทก์อีกโดยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ ที่สอบถามจำเลยเกี่ยวกับคดีที่จำเลยเป็นผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ว่า "เราไม่ขาดสติในการนัดเจอกันไปคุยงานนี้ยืนยัน...เรามีหลักฐานแน่นอนว่าเราไม่ได้สร้างเหตุการณ์มาแบล็กเมล์เขาทั้งนั้น" และจบท้ายด้วย ข้อความว่า "เราพยายามมาตลอดสู้ตามหลักฐานมาตลอดกับพี่สาวเราถูกบิดเบืยนทุกอย่าง" อันมีความหมาย ในทำนองว่าโจทก์กล่าวหาจำเลยแบล็กเมล์โจทก์(เพื่อเรียกเอาผลประโยชน์ แลกกับการเปิดเผยความลับหรือทำให้เสียหายเดือดร้อน) และแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้กล่าวหาโจทก์เรื่องการข่มขืนแต่เพราะหลักฐานที่จำเลยมีถูกบิดเบือนข้อเท็จจริงให้โจทก์ได้เปรียบ อันเป็นการสร้างภาพให้โจทก์เป็นคนร้ายในสายตาประชาชนทั่วไป
ต่อมาวันที่ 6 กันยายน2565 จำเลยให้สัมภาษณ์ในรายการ"โหนกระแส "เกี่ยวกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยก่อนก่อนหน้านั้นในวันที่ 5 กันยายน 2565 ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโจทก์ข้อหาข่มขืนจำเลย ซึ่งโจทก์ได้นำเสนอคลิปวีดีโอการพูดคุยระหว่างโจทก์และจำเลยเสนอต่อศาล และจำเลยก็ทราบคลิปวีดีโอดังกล่า แต่ได้นำเรื่องคลิปลิปวีดีโอดังกล่าวออกมาพูดออกกาศในในทำนองว่า "โจทก์นำคลิปแอบถ่ายไปเปิดในศาล" อันเป็นการสื่อสารประชาชนทั่วไปให้เข้าใจว่าเป็นคลิปแอบถ่ายในเชิงอนาจาร
อีกจำเลยยังได้ให้สัมภาษณ์ประมาณว่า "ตั้งใจจะไปคุยงาน ก็เห็นเขายังไม่กลับ ด้วยความที่เขาเป็นนายทุนเขาเอาอะไรให้เราดื่มก็ไม่ได้หวาดระแวงถึงพฤติกรรมของเขาทำแบบนี้กับเราพอมันเกิดเรื่องแบบนี้ ณ ตอนนั้นหนูยังไม่รู้เลยว่าหนูโดนเขาวางยา ข่มขืนหรือกระทำชำเรา" ซึ่งเป็นการสื่อสารให้บุคบุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปรับรู้ว่าโจทก์ได้ทำการข่มขืนจำเลยด้วยการวางยา
การให้สัมภาษณ์ของจำเลย กับพิธีกรซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าข้อความที่ได้พูดออกไปนั้น จะต้องสร้างความเสียหายแก่โจทก์ต่อบุคคลที่สามที่สามารถเข้าถึงได้ และต่อมาผู้สื่อข่าวและนักข่าวอิสระต่าง ๆ ได้นำภาพและเสียงการให้สัมภาษณ์ในรายการ และการสัมภาษณ์ต่อสื่อสารมวลชนของจำเลยไปโฆษณาเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ ในโลกโซเชียลมีเดียซึ่งประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้อีกหลายแห่งในแอพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก, แอพพลิเคชั่นยูทูบ ติ๊กต๊อก ตามเจตนาดังกล่าวของจำเลย อันเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
การกระทำดังกล่าวของจำเลยฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ เป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญก้าวหน้าของโจทก์ โดยที่รู้อยู่แล้วว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของโจทก์ ทำให้โจทก์ซึ่งประกอบธุรกิจส่วนตัว และเป็นธุรกิจที่เกี่ยวพันกับผู้คนจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ ไว้ใจ หรือแม้กระทั่งความประพฤติในทางศีลธรรมจรรยา ซึ่งเป็นงานที่ต้องพบปะผู้คนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งบุคคลทั่วไปรู้จักโจทก์ดี และทราบว่าโจทก์เป็นบุคลในแวดวงสังคมทางธุรกิจ และการเมือง การกระทำดังกล่าวของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับผลกระทบเสียหายเพราะมิใช่ การติชมโดยสุจริตหรือเพื่อปกป้องสิทธิของตนโดยชอบ และไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะอ้างเพื่อให้พ้นความรับผิดได้ อีกทั้งเป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวมเพราะศาลไม่ได้พิพากษาว่าโจทก์กระทำผิดจริง จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเงินจำนวน 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลอาญารับคำฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3378/2567 เเละนัดไต่สวนมูลฟ้อง 3 กุมภาพันธ์ 2568
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี