สทนช. เกาะติดสถานการณ์แล้ง ยืนยันปีนี้มีประกาศภัยแล้งเพียง 2 จังหวัด มั่นใจไม่มีพื้นที่ประสบภัยเพิ่มในอีก 1 เดือนก่อนสิ้นสุดฤดูแล้ง เดินหน้าบูรณาการทุกหน่วยเตรียมรับมือฤดูฝนเตือนเฝ้าระวังฝนมากบริเวณภาคเหนือ ฝั่งตะวันออกของภาคอีสาน และภาคตะวันออก
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2568 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า สทนช.ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตาม 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทั้งในเชิงป้องกันและรับมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้งปีนี้แม้ว่าอ่างเก็บน้ำในหลายพื้นที่จะสามารถกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ได้เป็นจำนวนมากในช่วงฤดูฝนปีที่ผ่านมาเช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นต้นแต่ยังคงมีพื้นที่บางแห่งที่มีฝนตกน้อยส่งผลให้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยนับตั้งแต่เข้าสู่ฤดูแล้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 จนถึงปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือ(ภัยแล้ง) ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหาย ใน 2 จังหวัด 10 อำเภอ 15 ตำบล ได้แก่ จ.กาญจนบุรี 3 อำเภอ 5 ตำบล ได้เข้าช่วยเหลือโดยใช้เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยครบทุกพื้นที่แล้ว และจ.บุรีรัมย์ 7 อำเภอ 10 ตำบลขณะนี้ ปภ. อยู่ระหว่างการสำรวจและพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนโดยเร็ว
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังเหลือระยะเวลาก่อนจะสิ้นสุดฤดูแล้งอีก 1 เดือน คือในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดพายุฤดูร้อนและมีฝนค่อนข้างมากคาดว่าจะไม่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มเติมอย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญในการลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือเต็มที่ ขณะเดียวกัน ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลประกาศแจ้งเตือนพายุฤดูร้อนในแต่ละพื้นที่จากกรมอุตุนิยมวิทยาโดยเฉพาะภาคเหนือที่มีแนวโน้มได้รับอิทธิพลของพายุมากที่สุด
นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงปลายฤดูฝน จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่ภาคเหนือ ฝั่งตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เป็นพิเศษ เนื่องจากคาดว่าจะมีปริมาณฝนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีฝนตกมากบริเวณภาคใต้ในช่วงฤดูฝนของภาคใต้เช่นเดียวกันอีกด้วย โดยเบื้องต้นคาดว่าในปีนี้มีโอกาสที่จะมีพายุจรเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณ 1-2 ลูก ซึ่งหน่วยงานได้เร่งดำเนินงานตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 เพื่อเตรียมพร้อมรับมืออย่างเคร่งครัด
เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการภายใต้แผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบและแผนยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ทรัพยากรน้ำในสภาวะวิกฤต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและดินโคลนถล่มช่วยลดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และให้ สทนช. เสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการ นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาให้ความเห็นต่อผังน้ำลุ่มน้ำปิง โดยมีมติเห็นชอบในหลักการ และเห็นควรให้ สทนช. เสนอผังน้ำลุ่มน้ำปิงต่อ กนช. พิจารณาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา และใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืนต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี