กทม. ลุยต่อปี 3 สร้างโรงเรียนต้นแบบความปลอดภัยทางถนน "เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม" ปลุกพลังเยาวชนร่วมสร้างวัฒนธรรม "รักษ์วินัยจราจร"
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง เป็นประธานเปิดกิจกรรม "โรงเรียนต้นแบบ ด้านความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Culture School)" ปี 3 มีผู้บริหาร ผู้แทนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายหน่วยงานร่วมผลักดันสนับสนุนโครงการฯ ร่วมงาน และ บูธแสดงผลงานของโรงเรียน ที่ได้รับรางวัลในปีก่อน บูธกิจกรรมจากบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด และบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. 2
ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรม "โรงเรียนต้นแบบ ด้านความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Culture School)" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้โครงการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร เป็นการต่อยอดความสำเร็จที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายโรงเรียน ให้ครอบคลุมโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 437 แห่ง เพื่อเฟ้นหา "ครูผู้พิทักษ์ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน" และ "โรงเรียนติดดาว" ภายใต้แนวคิด "เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม" ส่งเสริมให้เยาวชนเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนพฤติกรรมการใช้ถนนอย่างปลอดภัยในระดับชุมชนและสังคม
“กิจกรรมนี้เป็นการเสริมสร้างระเบียบวินัยในด้านการใช้รถใช้ถนน ในเรื่องของการจราจร โดยเริ่มตั้งแต่เด็กให้เป็นจุดเริ่มกระจายไปสู่ผู้ปกครอง ครอบครัว และหน่วยงานต่างๆ เริ่มปีแรก 2566 ต่อเนื่องปี 2567 ปีนี้เป็นปีที่ 3 มีการตั้ง ‘ครูผู้พิทักษ์’ และ ’โรงเรียนติดดาว‘ ช่วยส่งเสริมรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนน มีการแข่งขันใน 6 กลุ่มเขต ปีที่แล้วได้ ‘โรงเรียนฉิมพลี’ เขตตลิ่งชัน เป็นที่สนใจมาก ในระดับโลก มีผู้แทนทูตของ UN ไปเยี่ยมชม โครงการนี้เป็นกิจกรรมที่ดี จากสถิติอุบัติเหตุของกรุงเทพฯปีนี้ เราลดลงมากกว่าสถิติของทั้งประเทศ ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเราลดลงได้เป็นอันดับต้นๆของประเทศ ผู้ว่าฯ และ ผู้บริหารกทม.ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ มีการรณรงค์เรื่องทางข้าม สัญญาณไฟ จำกัดความเร็ว อนาคตอุบัติเหตุจะลดลง แต่ถ้าเราแก้ด้านกายภาพแล้ว พฤติกรรมผู้ขับขี่ไม่แก้อุบัติเหตุก็ลดไม่ได้ จึงมีโครงการนี้ขึ้นและควรทำต่อเนื่องไป“ ผอ.สิทธิพร กล่าว
ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินกิจกรรม 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนที่เข้าร่วมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านวินัยจราจรอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การใช้หมวกกันน็อกในกลุ่มนักเรียนเพิ่มขึ้น การสร้างกิจกรรมรณรงค์ภายในโรงเรียน และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน นับเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้อุบัติเหตุลดลง และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษา ช่วยสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็น "เมืองน่าอยู่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน" อย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมวันนี้เป็นการปฐมนิเทศเปิดตัวโครงการฯ เพื่อชี้แจงรายละเอียดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกและเกณฑ์การตัดสินของคณะกรรมการ ในการเข้าร่วมแข่งขันพิชิตตำแหน่ง "ครูผู้พิทักษ์ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน" และ "โรงเรียนติดดาว" เพื่อชิงรางวัลรวมกว่า 150,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตรและโล่รางวัล โดยเปิดรับสมัครเข้าร่วมกิจกรรมวันนี้ จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม จากนั้นจะคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 18 โรงเรียนโดยแต่ละโรงเรียนจะจัดส่งครูผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 2 ท่าน การแข่งขัน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. กิจกรรมที่ดำเนินภายในโรงเรียน และ 2. กิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสะสมคะแนน
ส่วนเกณฑ์พิจารณารางวัล จะแบ่งเป็นลักษณะผลงาน ผลการดำเนินกิจกรรม และความยั่งยืนในการดำเนินกิจกรรม โดยมีระยะเวลาดำเนินกิจกรรมประมาณ 4 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 15 กันยายน 2568 คณะกรรมการจะตัดสินตามเกณฑ์ที่กำหนด คัดเลือก 10 โรงเรียนที่มีคะแนนสูงสุดเข้ารอบตัดสิน และจะลงพื้นที่ตรวจประเมินผลงาน พร้อมตัดสินผู้ชนะ กำหนดพิธีมอบรางวัลให้กับผู้ชนะในงาน Road Safety All Stars Day ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568
036
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี