'รอง ผอ.กองคดีฮั้ว' เผยสอบปากคำวิศวกรรับคุมงานไซต์ก่อสร้างตึก สตง.จริง 3 ราย ขณะที่วิศกรยันเป็นลายเซ็นต์ปลอม 17 ราย เร่งส่งนิติวิทย์พิสูจน์ แย้ม กลางเดือน พ.ค.นี้ นัดสอบปากคำ 6 บริษัทเคยร่วม E-Bidding สร้างตึก สตง. ขณะ“ธีระ กรรมการ บ.ไมนฮาร์ทฯ“ ระบุการแก้ไขแบบผนังปล่องลิฟต์ ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทฟอ-รัมฯ
วันที่ 30 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุม กคร. หรือกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 7 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายศุภภางกูร พิชิตกุล รอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการสอบสวนปากคำพยานวิศวกร ภายใต้กิจการร่วมค้า PKW และความคืบหน้าคดีนอมินีบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ว่าภายหลังจากที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ออกหมายเรียกพยานจำนวน 40 วิศวกรภายใต้กิจการร่วมค้า PKW (ประกอบด้วย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด) เข้าให้ปากคำนั้น ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. ว่าวันนี้นัดหมายวิศวกร 10 ราย พบว่ามี 7 รายที่เป็นวิศวกรของบริษัท ว.และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด ให้การปฏิเสธว่าลายเซ็นที่ปรากฏในเอกสารรายงานประจำสัปดาห์การควบคุมงานไม่ใช่ลายเซ็นของตนเอง ตนเป็นเพียงวิศวกรทำงานด้านระบบ และไม่เคยเข้าไซต์งานก่อสร้าง ตึกสตง.และไม่เคยไปควบคุมงาน ขณะที่มีวิศวกร 3คน ได้ยอมรับว่าเป็นลายเซ็นของตนเองจริง เพราะมีการไปคุมงานจริง อย่างไรก็ตาม ลายเซ็นวิศวกรควบคุมงานเหล่านี้ที่ดีเอสไอตรวจพบในเอกสารล้วนเกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารรายงายประจำสัปดาห์ เพื่อเป็นเอกสารประกอบการเบิกเงินกับ สตง.
นายศุภภางกูร เผยอีกว่า วิศวกรแต่ละรายจะมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างกรณีหากเป็นวิศวกรจากบริษัท ว. และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด ก็จะดำเนินการเรื่องงานระบบ ส่วนบริษัทเคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด จะรับผิดชอบเรื่องงานโครงสร้าง แต่ในส่วนของวิศวกรที่มีลายเซ็นของตัวเองในเอกสารและยอมรับว่าเป็นลายเซ็นตัวเองนั้น ก็ยอมรับว่ามีการตรวจงานจริง และหากพบความผิดปกติในการก่อสร้าง ทางวิศวกรผู้ควบ คุมงานก็ต้องทำรายงานประจำวันรายงานไปยังผู้ควบคุมงานตามลำดับชั้น ซึ่งนายสมชาย (สงวนนามสกุล) เป็นผู้จัดการโครงการ ดังนั้น หากผู้จัดการโครงการพบเห็นกรณีที่มีการกระทบในโครงสร้าง ก็ต้องรายงานไปยัง สตง. มันเป็นขั้นตอนตามระบบการทำงานปกติ ส่วนว่าบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด รับทราบหรือไม่ว่ามีการแก้ไขแบบนั้น หากเกี่ยวข้องกับโครงสร้างมันก็จะยาวไปถึงผู้ออกแบบ ซึ่งก็ต้องรายงานตามขั้นตอนไปถึงบริษัทผู้ออกแบบ รวมถึง สตง.ด้วย
“สำหรับกระบวนการตรวจพิสูจน์เรื่องลายเซ็นจะเป็นขั้นตอนของนิติวิทยาศาสตร์ โดยจะมีการใช้ลายเซ็นที่เป็นปัญหา แล้วก็การให้วิศวกรเซ็นลายเซ็นตัวอย่างต่อหน้าพนักงานสอบสวนโดยปกปิดลายเซ็นที่มีปัญหาไว้ก่อน จากนั้นเราจะใช้ลายเซ็นที่อยู่ในช่วงระยะเวลาที่มีการอ้างว่าถูกปลอมลายเซ็นไปตรวจเทียบ ส่วนทีมีคำถามว่าหากมีการดัดแปลงลายเซ็นตัวเองให้ไม่เหมือนกับลายเซ็นที่เซ็นไปนั้น ตามขั้นตอนจะรวบรวมลายเซ็นจากใน ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุด แล้วจึงส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ โดยขั้นตอนหลังการตรวจสอบการเซ็นชื่อของวิศวกร จะต้องพิจารณาควบคู่กับการจ้างควบคุมงาน"รอง ผอ.กองคดีฮั้ว ระบุ
นายศุภภางกูร เผยต่อว่า การก่อสร้างจะต้องมีการรายงานตั้งแต่ผู้รับเหมาก่อสร้าง คือ บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ และบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เพราะเขาคือผู้ดำเนินการก่อสร้าง เขาต้องพบว่ามีปัญหาในการก่อสร้างตามแบบหรือไม่ และก็ต้องรายงานผ่านบริษัทผู้ควบคุมงาน(กิจการร่วมค้า PKW) ส่วนบริษัทผู้ออกแบบตึก สตง. คือ บริษัทฟอ-รัม อาร์คิเทค และบริษัท ไมนฮาร์ท(ประเทศไทย) จำกัด ว่า ตอนนี้เราสอบสวนปากคำพยานบริษัทไมนฮาร์ทฯไปแล้ว ซึ่งรับผิดชอบด้านวิศวกรรม ส่วนบริษัทฟอ-รัมฯ รับผิดชอบเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ทั้งคู่เป็นกิจการร่วมค้า ซึ่งในความรับผิดชอบของกิจการร่วมค้านั้น ดีเอสไอก็ต้องเชิญบริษัทฟอ-รัมฯ มาให้การเช่นเดียวกัน ส่วนกรณีว่าทั้งสองบริษัทมีอำนาจในการแก้ไขแบบนั้น โดยหลักตามกฎหมาย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต้องขออนุญาตจากบริษัทผู้ออก แบบ แต่ตอนนี้มันอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนอยู่ว่ามีการดำเนินการตามหลักการหรือไม่
เมื่อถามถึงกรณีที่นายธีระ วรรธนะทรัพย์ กรรมการของบริษัทไมนฮาร์ท(ประเทศไทย) จำกัด ได้ยอมรับว่ามีการแก้ไขแบบแปลน ลดขนาด ความหนาปล่องลิฟต์เพื่อให้ขนาดทางเดินมีความกว้างขึ้นนั้น นายศุภภางกูร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวที่มีการแก้ไขผนังปล่องลิฟต์ ลดขนาดจาก 0.30 ซม. เป็น 0.25 ซม. กรณีนี้เป็นไปตามข้อตกลงของการร่วมทำงาน (Consortium) ระหว่างบริษัทฟอ-รัมฯ และบริษัทไมนฮาร์ทฯ ซึ่งเขาให้การว่ามีการแนะนำวิธีการแก้ไขแบบ ถ้าลดลงมาต้องมีการเสริมเหล็ก แต่คนที่ดูด้านวิศวกรรม และให้ข้อมูลคำนวณในบริษัทร่วมค้าของทั้งสองแห่ง คือ บริษัทไมนฮาร์ทฯ ดังนั้น การคำนวณมาจากบริษัทไมนฮาร์ทฯ แต่การเสนอแก้ไขอย่างไรก็ต้องออกมาในนามของข้อตกลงของการร่วมทำงาน (Consortium) เพื่อให้ทั้งสองแห่งมีความเห็นสอดคล้องกัน ส่วนหากการแก้ไขแบบดังกล่าว เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตึก สตง.ถล่ม ทั้งบริษัทสัญญาผู้ออกแบบ (บริษัท ไมนฮาร์ทฯ และบริษัท ฟอ-รัมฯ) จะต้องรับผิดชอบร่วมกันหรือไม่นั้น ส่วนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ต้องขอสอบสวนรวบรวมข้อ มูลก่อน แต่เบื้องต้นทุกบริษัทและทุกคนที่เข้าให้การพยานค่อนข้างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
นายศุภภางกูร กล่าวถึงกรณีที่นายเกรียงศักดิ์ กอวัฒนา รองประธานบริหารอาวุโส บริษัทอิตาเลียนไทยฯ เข้าให้ปากคำพยานดีเอสไอวานนี้ (29 เม.ย.) ประเด็นสัญญาการก่อสร้างตึก สตง. ว่าเขาให้การว่าบริษัทอิตาเลียนไทยฯเป็นกิจการร่วมค้ากับบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ โดยในขั้นตอนก่อสร้าง บริษัทอิตาเลียนไทยฯ คือผู้รับเหมาและก่อสร้างตามแบบ ซึ่งถ้ามีปัญหาอะไรก็ต้องรายงานไปยังผู้ควบคุมงาน(กิจการร่วมค้า PKW) และการจะก่อสร้างได้ก็ต้องทำตามขั้นตอนและมีการอนุมัติ ซึ่งบทบาทหน้าที่ของบริษัทรับผู้เหมา ถ้ามีการก่อสร้างก็ต้องก่อสร้างตามแบบ ส่วนเหตุใดบริษัทอิตาเลียนไทยฯ จึงไว้วางใจบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯนั้น ทางอิตาเลียนไทยฯ ให้การว่าเคยมีการทำธุรกิจร่วมกันมาก่อน พบว่ามีความเกี่ยวข้องกันมาก่อนปี 2563 อาจมีการเคยประกอบธุรกิจร่วมกันมาก่อน และตอนนี้เรามุ่งเน้นไปที่โครงการตึก สตง. แต่ก็ขยายไปยังการออกแบบ การจ้างควบคุมงาน ส่วนการมาเป็นกิจการร่วมค้ากันก็มีการแบ่งสัดส่วนการลงทุน 51% (อิตาเลียนไทยฯ) ต่อ 49% (ไชน่า เรลเวย์ฯ) ทั้งนี้ กรณีที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ถูกดำเนินคดีนอมินี จับกุมผู้ต้องหา 4 ราย (3 นอมินีไทย และนายชวนหลิง จาง)จะทำให้บริษัท อิตาเลียน ไทยฯ มีฟีดแบ็คอย่างไรนั้น คงต้องไปสอบถามทางอิตาเลียนไทยฯ
นายศุภภางกูร กล่าวด้วยว่า สำหรับพรุ่งนี้ (1 พ.ค.) เรายังคงนัดหมายสอบปากคำพยานกับวิศวกร ภายใต้กิจการร่วมค้า PKW ต่ออีก 10 ราย ส่วนกรณีที่วิศวกรรายอื่นในล็อตแรก ยังไม่ประสานเข้าพบพนักงานสอบสวนนั้น ตนมั่นใจว่าท่านจะมาให้การ เพราะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง หากลายเซ็นถูกปลอมก็ควรมาแสดงข้อเท็จจริง เพราะมันจะไม่ใช่การควบคุมงานจริง ๆ ทั้งนี้ จากหมายเรียกพยานวิศวกรทั้งหมด 40 ราย ปัจจุบันเข้าพบดีเอสไอแล้ว 17 ราย (ตัวเลข ณ วันที่ 30 เม.ย.)
นายศุภภางกูร กล่าวต่อว่า สำหรับความผิดตามกฎหมายฮั้วประมูลนั้น จากการสอบสวนปากคำจนถึงวันนี้ เรามีการตั้งประเด็นเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยต้องตรวจสอบทุกโครงการ เน้นย้ำที่การกีดกันการเสนอราคาโดยไม่เป็นธรรม เพราะตอนนี้ สตง. ได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับโครงการแล้ว ซึ่งหลังจากนี้เราจะมีการเรียกบริษัทที่ได้มีการเสนอราคาในโครงการจ้างก่อสร้างตึก สตง. โดยนัดหมายประมาณกลางเดือน พ.ค.นี้ จำนวน 6 บริษัท มาให้ปากคำในฐานพยาน ชี้แจงประเด็นเป็นบริษัทผู้ร่วมประมูลงานโครงการ (E-Bidding) โครงการก่อสร้างตึก สตง.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี