วันแรกฉลุย!
ทดสอบระบบเตือนภัยผ่านมือถือ
“ดำรง-นารากร” แจ้งความกล่าวโทษ “ผู้ว่าฯ-อดีตผู้ว่าฯสตง.” เหตุตึก สตง.กำลังสร้างถล่ม ตั้งข้อสงสัยอาจไม่ชอบมาพากล หวั่นเวลาผ่านไปเอาผิดได้แค่วิศวกร ด้าน “อธิบดีโยธาฯ” รุดรายงานผลสอบหาสาเหตุตึกถล่ม แจงอยู่ระหว่างทำโมเดลคณิตศาสตร์เข้าช่วยจำลองเหตุการณ์ พุ่งเป้า “คำนวณ-แก้ไขแบบก่อสร้าง” มั่นใจสาวหาต้นเหตุได้ชัดเจน ด้านปภ.ดีเดย์ทดลองระบบเตือนภัย Cell Broadcast ครั้งแรก ผ่าน ‘4 ศาลากลางจังหวัด- 1 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ’ อธิบดี ปภ.เผยผลน่าพอใจ เตรียมทดสอบอีกสองครั้ง “7 กับ 13 พ.ค.”ก่อนคิกออฟจริงกค. รับทดสอบระบบวันแรก สัญญานล้ำไปพื้นที่ใกล้เคียงบ้าง ส่วนผู้ใช้ระบบ ‘2G - 3G’ ไม่ต้องกังวล ได้รับ SMS ภายใน 10 นาที ควบคู่ไปกับระบบ CBS
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 พฤษภาคม นายดำรง พุฒตาล อายุ 80 ปี พร้อม น.ส.นารากร ติยายน อายุ 57 ปี สองพิธีกรชื่อดัง เดินทางเข้าพบร.ต.อ.ทัตเทพ แก้วสมศรี รอง สว.(สอบสวน) สน.บางซื่อ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้ลงนามสัญญาการว่าจ้างก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ใหม่ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2563 ข้อหากระทำการโดยประมาททำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จากเหตุการณ์อาคาร สตง. อยู่ระหว่างก่อสร้าง ถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กทม. พังถล่มจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม
ดำรง-นารากรแจ้งความผู้ว่าฯ-อดีตผู้ว่า สตง.
น.ส.นารากร กล่าวว่า จากเหตุ สตง. พังถล่มหลังแผ่นดินไหว ในฐานะประชาชนมองว่า ผ่านมา 35 วันแล้ว ตั้งแต่เกิดเรื่องมาถึงวันนี้ ไม่มีการออกอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีแต่การชี้แจงว่าแก้ไขแบบอย่างถูกต้องเท่านั้น รู้สึกคับข้องใจมากว่าการถล่มของอาคารมีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่ หวั่นหากเวลาผ่านไปเนิ่นนานจะมีเพียงแต่วิศวกรที่ต้องถูกดำเนินคดีเท่านั้น นอกจากนี้ เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายใหญ่แก่ประเทศชาติและประชาชน ทั้งงบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชน ทั้งความไม่ชอบมาพากลในการอนุมัติและควบคุมการก่อสร้าง มีการเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลกทำลายความเชื่อมั่นภาพลักษณ์ความปลอดภัยของไทยในสายตาชาวต่างชาติ
อธิบดีโยธาฯรายงานผลสอบตึกถล่ม
ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กล่าวหลังเข้ารายงานความคืบหน้าผลการตรวจสอบกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทยว่า เข้ารายงานใน 3 ประเด็นคือ การตรวจสอบความเสียหายของอาคารทั้งของภาครัฐและเอกชน ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยอาคารภาครัฐในกทม.ประมาณ 300 หน่วยงาน ประมาณ 900 กว่าอาคาร พบเสียหายรุนแรงกระทบการใช้งานเพียง 1 อาคาร คือ อาคารของสตง. ส่วนต่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งมีอาคารที่เสียหายและปิดการใช้ 16 อาคาร จากทั้งหมด 76 จังหวัด ซึ่งอาคารที่เสียหาย จะเห็นได้ว่ามีน้อยมาก และความรุนแรงระดับที่สามารถซ่อมแซมได้ตามหลักวิชาการก่อนที่จะเปิดบริการให้ใช้
ใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์หาต้นเหตุ
อธิบดีกรมโยธาฯกล่าวต่อว่า การรายงานความก้าวหน้าการสืบสวนเหตุอาคารสตง.ถล่มเบื้องต้นเราตรวจสอบการคำนวณ กำลังตรวจสอบรายละเอียดอยู่ ซึ่งมีจำนวนมากก็จะทำคู่ขนานกันไปคือ สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ว่าอาคาร สตง.มีทางถล่มจากการออกแบบหรือไม่ โดยขอเวลานายกฯไว้ 90 วันตามแผนมีอยู่ 4 สูตร วันนี้ จะได้ผลว่าการออกแบบตามแบบทำให้อาคารพังหรือไม่ วิธีการคือ สร้างแบบจำลองโดยนำแบบเข้าในคอมพิวเตอร์ กำหนดวัสดุ แรงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเข้าไป จะทำให้รู้ว่าตึกสตง.พังหรือไม่ กำลังดำเนินการอยู่ ขณะที่การตรวจสอบเอกสารหลักฐานได้ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจเอกสารที่ตรวจยึดได้ มีทั้งเรื่องรายงานประจำวัน ประจำสัปดาห์ การขออนุมัติ การเทคอนกรีต และการทดสอบวัสดุ ส่วนวัสดุที่เก็บหน้างานเก็บร่วมกับตำรวจอายัติไปตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรอบเวลา 90 วันจะสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้ใช่หรือไม่ นายพงษ์นรากล่าวว่า ใช้เวลาดำเนินการไปแล้ว 1 เดือน และแบบจำลองนี้ทำโดย 5 หน่วยงาน ก่อนนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในแบบจำลอง และทำออกมาเป็นบทสรุป
พุ่งเป้าการคำนวณ-แก้แบบก่อสร้าง
ถามว่าคณะกรรมการตรวจสอบฯพุ่งเป้าไปที่ประเด็นใด อธิบดีกรมโยธาฯกล่าวว่า สิ่งที่ดูได้ทันทีคือการคำนวณตามแบบที่จ้างการก่อสร้างที่มีอยู่แล้ว และที่แก้ไขแบบว่าปัจจุบันที่อาคารก่อสร้างหลังนี้ออกแบบก่อสร้างคู่สัญญา แก้ไขแบบส่วนใดบ้างที่เกี่ยวกับโครงสร้าง เราจะนำเข้าแบบจำลอง ซึ่งแบบจำลองชุดนี้ เหมือนนำอาคารจริง ก่อนพังถล่ม และรันโมเดลเข้าไปในระบบ
ถามว่าก่อนหน้านี้ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษาสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์( วศท.) ให้ความเห็นว่าแบบไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง อธิบดีกรมโยธาฯกล่าวว่า ต้องรอผลสรุปของคณะกรรมการฯ เพราะเป็นหน้าที่คณะกรรมการ ตนไม่สามารถพูดก่อนได้
มั่นใจผลสอบบอกสาเหตุถล่มได้ชัดแจน
ถามย้ำถึงแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เมื่อมีผลทดสอบแล้วผลจะแน่นอนออกมาเป็นคำตอบให้สังคมได้ใช่หรือไม่ นายพงษ์นรากล่าวยืนยันว่าได้ ซึ่งแบบจำลองที่เราตรวจสอบดำเนินการเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ต้องสร้างแบบจำลองให้ครอบคลุมหลายสถานะ ในรายละเอียดคงต้องให้คณะกรรมการสอบฯไปพิจารณา การสอบสวนข้อเท็จจริงมีอยู่ 4 องค์ประกอบคือ 1.หน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงคือ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมด้วย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ปภ.และกทม. รวมไปถึงข้าราชการของกรมโยธาฯ ที่มีความรู้เรื่องนี้ โดยมีวิศวกรใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นประธานกรรมการ จะเห็นว่าองค์ประกอบคณะทำงานชุดนี้เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญโดยตรง ตนเชื่อว่าเมื่อผลออกมา จะสร้างความชัดเจนให้โครงการนี้ได้ว่าสาเหตุอาคารถล่มเพราะอะไร
อธิบดีกรมโยธาฯกล่าวย้ำว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ 4 ลำดับ ลำดับแรกเสร็จแล้ว คีย์ข้อมูลแล้ว หลังเสร็จแล้ว จะประชุม เพราะถ้าต่างคนต่างทำอาจมีเรื่อง
Human error เพราะการคีย์ข้อมูลต้องใช้การคีย์โดยคน ต้องเช็คกัน คุยถึงหลักเกณฑ์ต่างๆว่าจะใช้หลักใด เพื่อให้เป็นฐานเดียวกัน ก่อนประมวลผลออกมา และต้องดูว่าผลของแต่ละสถาบันออกมาในแนวทางเดียวกันหรือไม่ จึงออกมาเป็นผลสรุปของคณะกรรมการฯชุดนี้
ปภ.ดีเดย์ทดสอบระบบCell Broadcast
เวลา 12.00 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือCell Broadcast ระดับเล็กภายในอาคาร โดยจำลองสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งจะครอบคลุม 5 พื้นที่ศาลากลาง 5 จังหวัดคือ เชียงราย อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สงขลา และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A และ B โดยจะไล่เรียงเริ่มตั้งแต่หัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รายงานผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการเตือนภัยด้วยวาจา เพื่อขออนุมัติแจ้งเตือนผ่านระบบเซลล์บรอดแคสต์ไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทางกลุ่มไลน์ เพื่อส่งแจ้งเตือนให้ประชาชน เมื่ออนุมัติแล้วต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรม ปภ. เพื่อให้ส่งข้อความตามข้อมูลแจ้งเตือนที่เตรียมไว้ เมื่ออนุมัติให้ส่ง ให้จ้างชุดเวรดำเนินการ จากนั้นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติและผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการเตือนภัย แจ้งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่ายเพื่อยืนยันการส่งข้อความแจ้งเตือน จากนั้นผู้ให้บริการจะส่งข้อความ ไปยัง 5 พื้นที่ทดสอบ โดยมีระยะเวลาแสดง 10 นาที
เล็งทดสอบอีก2ครั้ง7และ13พค.
อธิบดีปภ.กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นจะทดสอบระบบ Cell Broadcast อีกสองครั้งวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 13.00 น. เป็นการทดสอบระดับกลางครอบคลุม 5 พื้นที่ อ.เมืองลำปาง อ.เมืองนครราชสีมา อ.เมืองนครสวรรค์ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดงของกรุงเทพฯ ส่วนครั้งที่ 3 วันที่ 13 พฤษภาคม เวลา 13.00 น.จะเป็นการทดสอบส่งแจ้งเตือนในระดับใหญ่สูงสุด เต็มพื้นที่ 5 จังหวัด เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร ขณะที่ ปภ.จะทดลองระบบ 77 จังหวัดพร้อมกัน ทั่วประเทศอีกครั้งก่อนเดือนกรกฎาคมนี้ด้วย
นายภาสกร กล่าวอีกว่า การทดสอบCell Broadcastครั้งนี้จะรองรับทั้ง Android เวอร์ชั่น11 ขึ้นไป และ iOS เวอร์ชั่น18 ขึ้นไป แต่จะไม่ครอบคลุมเครือข่าย 2G และ 3G โดยอาจมีสัญญาณล้ำออกไปรัศมี 1.5 กิโลเมตร นอกเหนือจากจุดเป้าหมาย ซึ่ง โทรศัพท์ประมาณ3ล้านเลขหมายที่ไม่รองรับจะมีการแจ้งเตือนทาง SMS หากเกิดเหตุ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะมีการจัดทำแบบสอบถามทาง Google form เพื่อจะวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการใช้ระบบCell Broadcastร่วมกับผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่ายด้วย
ผลทดสอบประสบความสำเร็จน่าพอใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อมีการทดสอบระบบ Cell Broadcast (CBS) เสร็จสิ้น อธิบดี กรมปภ.ได้สอบถามทั้ง 5 จุดถึงการส่งสัญญาณเตือนของเครือข่ายทั้ง 3 ค่าย ได้รับสัญญาณเตือนและข้อความในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งนายภาสกรกล่าวว่า การทดสอบระบบครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ ประชาชนได้รับการแจ้งเตือน เวลาใกล้เคียงกันไม่ถึง 1 นาทีสัญญาณและน้ำเสียงชัดเจน ทั้งพื้นที่ 5 จุด และ3 ค่ายโทรศัพท์มือถือ พร้อมขอให้ติดตามผลเพื่อทำการปรับปรุงประสิทธิภาพในการส่งต่อไป
นายภาสกรให้สัมภาษณ์หลังทดสอบระบบว่า การทดสอบวันนี้ ต้องการดูประสิทธิภาพของผู้ให้บริการว่าครอบคลุมพื้นที่ตามที่เรากำหนดหรือไม่ ปรากฏว่าสัญญาณอาจล้นไปพื้นที่ใกล้เคียงบ้าง เนื่องจากตัวสัญญาณเครือข่าย ยังไม่ครอบคลุมในส่วนภูมิภาค ในรัศมี 1.5 กิโลเมตรในพื้นที่ที่เราทดสอบ
กลุ่มใช้2G3Gได้รับSMSไม่เกิน10นาที
ทั้งนี้ ระบบส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูง จำเป็นต้องรองรับกับโทรศัพท์ที่อัพเดตเวอร์ชั่นโทรศัพท์ โดยแอนดรอยด์อัพเวอร์ชั่นเป็น 11 ที่มีคนใช้อยู่ 70 ล้านเลขหมาย และระบบ iOS ที่ต้องอัพเดตเวอร์ชั่นเป็น 18 มีผู้ใช้บริการ ประมาณ 50 ล้านเลขหมาย ส่วนประชาชนที่ยังใช้บริการเครือข่าย 2G และ 3G มีเพียง 3 ล้านเลขหมาย จะได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS ไม่เกิน 10 นาที ซึ่งเราจะส่งการแจ้งเตือนผ่าน CBS และ SMS คู่ขนานไปให้ประชาชนรับทราบข้อมูลครบถ้วน และระบบเซลล์บอร์ดแคสจะสมบูรณ์ใช้งานได้เดือนกรกฎาคม และไทยจะมีระบบแจ้งเตือนภัยที่ทันสมัยไม่แพ้ประเทศใดในโลก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี