‘แอนแทรกซ์’คร่า1ศพ
มุกดาหารติดสะสม2
เฝ้าระวัง247คน
สัมผัสโดยตรง
“สสจ.มุกดาหาร” เผยพบผู้ติดเชื้อ “แอนแทรกซ์” สะสม 2 ราย คร่าชีวิต 1 ศพ ประกาศเตือนชาวบ้านในพื้นที่งดบริโภค‘เนื้อวัว ควาย แพะ แกะดิบ’ป้องกันติดเชื้อ“แอนแทรกซ์”พร้อมเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่ร่วมสัมผัสโรคทั้งจากการร่วมชำแหละสัตว์-ผู้บริโภคเป็นเวลา 60 วัน พร้อมเร่งตรวจหาแหล่งที่มาของเชื้อ-ผู้ป่วยเพิ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มภารกิจสื่อสารความเสี่ยง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร งดบริโภคเนื้อวัว ควาย แพะ และแกะในรูปแบบดิบ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 เมื่อประชาชนในพื้นที่ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล ได้สัมผัสและบริโภคเนื้อวัวที่คาดว่าอาจปนเปื้อนเชื้อโรค ต่อมาเริ่มมีอาการไข้และมีตุ่มที่ผิวหนัง จึงถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลดอนตาล และส่งต่อมายังโรงพยาบาลมุกดาหาร แต่อาการไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตวันที่ 30 เมษายน 2568 แพทย์วินิจฉัยว่าเสียชีวิตจากโรคแอนแทรกซ์ โดยผู้เสียชีวิตรายนี้นับเป็นรายแรกของจังหวัดมุกดาหาร
นายแพทย์ณรงค์ จันทร์แก้ว สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหารเปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคแอนแทรกซ์ 1 ราย และได้เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่บริโภคเนื้อวัวร่วมกับผู้ป่วย พร้อมให้ยาป้องกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ โรคแอนแทรกซ์ไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ในส่วนมาตรการควบคุมโรค อำเภอดอนตาลได้ตั้งจุดตรวจและจุดสกัด 4 แห่ง ได้แก่ บ้านป่าพะยอม บ้านนาห้วยกอก บ้านภูวง และหน้าสถานีตำรวจภูธรป่าไร่ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์
ต่อมาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ ที่บ้านโคกสว่าง ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล พบว่ามีการเข้าตรวจสอบจุดชำแหละวัวที่มีอาการต้องสงสัย โดยเจ้าหน้าที่จากด่านกักกันสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร กรมปศุสัตว์ ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ และฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณโดยรอบ และฉีดวัคซีนให้กับโค และกระบือ ในรัศมี 5 กิโลเมตรจำนวน 800 ตัว เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ด้านนายทัศนเทพ รักษ์พิทักษ์กุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านโคกสว่าง เปิดเผยว่า สถานการณ์โดยรวมไม่น่าเป็นห่วง ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการและท้องถิ่น ที่เข้ามาสนับสนุนการควบคุมโรคเต็มที่ และได้รณรงค์ให้ประชาชนงดบริโภคเนื้อดิบ รวมถึงขอความร่วมมือหากพบสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะวัว มีอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
นายทัศนเทพกล่าวต่อว่า เริ่มแรกวันที่ 12 เมษายน และวันที่ 13 เป็นงานบุญผ้าป่า ได้ซื้อวัวมาชำแหละแบ่งกัน มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตมาร่วมชำแหละด้วย โดยมีบาดแผลเป็นตุ่มอยู่ที่มือ ก่อนแยกย้ายกันไป ต่อมาวันที่ 14-15 เมษายน ผู้เสียชีวิตเริ่มมีอาการ แต่ยังไม่ไปรักษาตัว กระทั่งวันที่ 28 เมษายน มีวัวตายโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงประสานปศุสัตว์อำเภอมาตรวจสอบ เจ้าหน้าที่แนะนำให้ฝังดินฝังกลบ แต่มีทีมงานอีก 1 ชุด มานำวัวตัวนั้นมาชำแหละแบ่งทำอาหาร จนทราบข่าวของผู้ป่วยคือ นายพัฒน์ คนยืน ผู้ตาย จึงประกาศเตือนชาวบ้านที่นำเนื้อวัวไป ให้นำเนื้อวัวไปกลบฝังดินเผา ห้ามรับประทานเด็ดขาด จากนั้นมีเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ออกมาสำรวจ ฉีดวัคซีน ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ บริเวณป่าสวนยางพาราที่ชำแหละวัว และบริเวณใกล้เคียงที่ชำแหละ ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบมาจากหมูหรือมาจากวัว ที่มาชำแหละมาจากบ้านนาสะโน อำเภอดอนตาล พื้นที่ใกล้กัน ตอนนี้มีผู้ป่วย 4 คน เสียชีวิต 1 คน กำลังรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 คน
ทั้งนี้ ยืนยันผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย เป็นชาย อายุ 53 ปี ชาวบ้านเหล่าหมี ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร โรคประจำตัว เบาหวาน อาชีพรับจ้างก่อสร้าง เริ่มป่วยวันที่ 24 เมษายน มีตุ่มแผลที่มือข้างขวา วันที่ 27 เมษายน เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลดอนตาล ด้วยอาการแผลที่มือผู้ป่วยเริ่มมีสีดำ ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้โต ขณะรอตรวจที่โรงพยาบาลดอนตาล มีอาการ หน้ามืด ชักเกร็ง แพทย์สงสัยเนื่องจากผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับโรคแอนแทรกซ์ จึงเจาะเลือดส่งตรวจยืนยันเชื้อ วันที่ 28 เมษายน ผู้ป่วยสงสัยโรคแอนแทรกซ์มีอาการแย่ลง จึงส่งรักษาต่อโรงพยาบาลมุกดาหาร และมีการเจาะเลือดและ swab บาดแผลส่งตรวจเพิ่มเติม ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สถาบันบำราศนราดูร วันที่ 29 เมษายน ผู้ป่วยอาการแย่ลง กระทั่งวันที่ 30 เมษายน ผู้ป่วยเสียชีวิต และได้จัดการศพตามมาตรฐาน พบผลตรวจด้วยวิธีเพาะเชื้อ Bacillus anthracis ที่ห้องปฏิบัติการสถาบันบำราศนราดูร ในตัวอย่างเลือด ผู้ป่วยมีประวัติชำแหละโค งานบุญผ้าป่า และแจกเนื้อโคที่ชำแหละไปรับประทานในหมู่บ้าน
สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหารกล่าวด้วยว่า หลังเกิดเหตุได้ค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสเพิ่มเติม พบผู้สัมผัสรวม 247 คน แบ่งเป็นผู้ชำแหละสัตว์ 28 คน และ ผู้บริโภคเนื้อดิบ 219 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 129 คน ให้ยา Doxycycline ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 129 คน นอกจากนี้ ยังพบผู้สัมผัสที่มีอาการ 1 ราย โดยมีอาการแผล เริ่มมีอาการวันที่ 27 เมษายน และมีประวัติร่วมชำแหละโควันที่ 12 เมษายน พร้อมผู้ป่วยรายแรก อยู่ระหว่างสอบสวนและส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ขณะเดียวกันได้ตั้งศูนย์คัดกรองผู้สัมผัสเพิ่มเติม ที่ศาลากลางหมู่บ้านในชุมชน
ขณะที่ปศุสัตว์อำเภอร่วมกับด่านกักกันสัตว์ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ บริเวณสถานที่ชำแหละ เก็บตัวอย่างเนื้อแห้ง หนังแห้ง โคและหมู และเก็บตัวอย่างเนื้อและเลือดที่อยู่บนเขียงที่ใช้ชำแหละ อุจจาระโค เพื่อส่งตรวจ ที่ศูนย์วิจัยและและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น ฉีดยาปฏิชีวนะในโค ในพื้นที่ บ้านโคกสว่าง หมู่ 6 จำนวน 124 ตัว ด่านกักกันสัตว์ขอความร่วมมือห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าออกพื้นที่เสี่ยงในรัศมี 5 กิโลเมตร
หลังจากนี้ จะค้นหาแหล่งที่มาของเชื้อ ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการในกลุ่มผู้ที่มีอาการ โดยเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเป็นระยะเวลา 60 วัน ส่วนมาตรการด้านสัตว์ วางแผนฉีดวัคซีนในสัตว์ ในรัศมี 5 กิโลเมตร ภายใน 1 สัปดาห์ เฝ้าระวังสัตว์ป่วยตายในอ.ดอนตาล จนกว่าจะไม่มีสัตว์ป่วยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 20 วัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี