กปภ.เตรียมตรวจน้ำดิบแม่น้ำโขงหลังมีข่าวพบสารโลหะหนักในบางจุด-เร่งประสานนักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างน้ำ ขณะที่ชาวบ้านริมน้ำกกยังเดือดร้อนหนัก-ไม่กล้ากินปลา-ดินโคลนทำต้นไม้ไม่งาม
5 พฤษภาคม 2568 นายอภิศักดิ์ สวัสดิรักษ์ ผู้จัดการการประปาภูมิภาค(กปภ.)แม่สาย-เชียงแสน จ.เชียงราย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข้อกังวลเรื่องการตรวจพบสารโลหะหนักในบางจุดของแม่น้ำโขง ว่าทาง กปภ.มีแผนที่จะเก็บน้ำดิบในแม่น้ำโขงที่ กปภ.ใช้ผลิตน้ำประปาของเชียงแสนแเละเชียงของ ในเดือนนี้ โดยอยู่ระหว่างการประสานนักวิทยาศาสตร์ในพื้นที่มาเก็บตัวอย่างน้ำในจุดที่ กปภ.ทั้งสองแห่งสูบน้ำไปทำน้ำประปา
นายอภิศักด์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กปภ.ตรวจคุณภาพน้ำทั่วไปจะตรวจทุกเดือน โดยจะมีแลปที่เชียงราย เชียงใหม่และลำปาง ส่วนการตรวจสารปนเปื้อนโลหะหนักจะตรวจปีละครั้ง แต่หลังมีสถานการณ์ที่พบสารหนูในแม่น้ำสาขาแม่น้ำโขง โดยเฉพาะน้ำสาย น้ำรวก และน้ำกก จะมีการตรวจถี่ขึ้น ช่วงหน้าแล้งจะตรวจทุกเดือนส่วนในฤดูน้ำหลากก็ดูตามสถานการณ์เพราะเมื่อปริมาณน้ำมาก สารโลหะหนักก็เจือจาง แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
“การผลิตประปามีกระบวนการทางเคมีที่สามารถแยกโลหะหนักออกไปได้ รวมถึงระบบการกรอง และมีการตรวจน้ำหลังกระบวนการผลิตทุกเดือน ความขุ่นของแม่น้ำสายในปีนี้ตอนฤดูน้ำหลากสูงประมาณ 7,000 NTU ซึ่งเป็นช่วงฝนตกมีดินโคลน แต่ช่วงนี้อยู่ในระดับประมาณ 1,000NTU ส่วนในปี 2567 น้ำในแม่น้ำสายความขุ่นอยู่ที่ระดับ 3,000-4,000 NTU”ผจก.กปภ.แม่สาย-เชียงแสนกล่าว
ด้านมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) และทีมนักวิชาการ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชมงคล ล้านนาเชียงราย ภายใต้เครือข่ายข้อมูลอุทกภัยแม่น้ำกก ได้ลงพื้นที่ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพบปะพูดคุยกับชาวบ้านและติดตามการติดตั้งเสาวัดระดับน้ำซึ่งจะแจ้งเตือนเหตุในยามฉุกเฉิน และยังได้หารือถึงสถานการณ์ในพื้นที่
ทั้งนี้ในการลงพื้นที่บ้านผาใต้ ได้สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านชาติพันธุ์ลาหู่ และนัดหมายกับอาสาสมัครในพื้นที่ในการติดตั้งเสาวัดระดับน้ำ ริมน้ำกก พร้อมชวนร่วมอบรมเครือข่ายเฝ้าระวัง นอกจากนี้คณะยังได้ลงพื้นที่บ้านใหม่หมอกจ๋ามซึ่งเป็นชุมชนชาติพันธุ์ไทใหญ่ โดยมี นายสุรชัย ปันจันทร์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านใหม่หมอกจ๋าม พาร่วมกิจกรรม
นายสุรชัยกล่าวว่า เมื่อก่อนหลังน้ำท่วมพืชผลทางการเกษตรจะเติบโตงอกงามขึ้นเพราะกระแสน้ำได้พัดพาเอาดินทรายและดินร่วนมาผสมกันในพื้นที่ริมฝั่งน้ำ แต่หลังจากน้ำท่วมเมื่อกันยายน 2567 พบว่าดินกลายเป็นดินโคลนแห้งและเหนียวแน่นมาก ปลูกพืชผลไม่ค่อยขึ้น
“ช่วงน้ำท่วมใหญ่ พวกเราได้วัดเป็นที่พึ่งในการพักพิง การช่วยเหลือเยียวยาที่ต้องมีเอกสารหลักฐานหลายอย่าง ซึ่งบางคนไม่มีรูปถ่ายเพื่อเป็นหลักฐานในการเบิกงบประมาณเยียวยา เราต่างคิดหาวิธี เพื่อให้ชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ เมื่อ 20 ปีก่อน กระแสน้ำกกไหลเปลี่ยนทิศทางจากเดิม ซึ่งในตอนนั้นอาจมีข้อดีคือมีที่งอกให้ชาวบ้านได้ทำการเกษตรริมฝั่งน้ำ แต่ไม่รู้ว่าอนาคตต่อไปทิศทางน้ำจะหวนกลับคืนเพื่อเอาพื้นที่คืนอีกเมื่อไหร่”นายสุรชัย กล่าว
ทั้งนี้ทางคณะยังได้มีโอกาสเข้าไปกราบและนมัสการพระครูปลัดปิยะ ถาวโร เจ้าอาวาสวัดใหม่หมอกจ๋าม เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ในพื้นที่ โดยเจ้าอาวาสได้เล่าย้อนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อ ปี 2567 ซึ่งพระและเณรต่างช่วยเหลือชุมชน ทั้งให้ที่พักพิงชาวบ้านที่บ้านเรือนประสบน้ำท่วมหนักไม่สามารถอยู่อาศัยได้ และสร้างโรงทานแจกจ่ายอาหารให้คนในชุมชน แต่ละวันกว่า 2 พัน
นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่บ้านแก่งทรายมูล พูดคุยกับชาวบ้านและกลุ่มอาสาสมัครในพื้นที่ที่ร่วมกันเฝ้าระวัง สถานการณืริมฝั่งน้ำ โดยนางฟองชาวบ้านในพื้นที่ได้กล่าวว่า เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีกรมประมงเข้ามา และให้ชาวบ้านหาปลาเพื่อนำไปตรวจหาสารปนเปื้อนในปลา เนื่องจากกระแสความผิดปกติของตัวปลา ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวาดผวา และไม่กล้าลงไปหาปลากันอีกเลย แม้จะหาปลาได้ก็ไม่ค่อยมีคนกล้าซื้อปลา ได้แต่หวังว่าผลการตรวจปลาจะไม่มีสารปนเปื้อนและสามารถกลับมาทานได้อีกครั้ง
.012
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี