เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 2/2568 โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองประธานกรรมการฯ , นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ 4 เรื่องที่สำคัญ ดังนี้
1.การเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) 3 แห่ง คือ 1) พื้นที่ชุ่มน้ำศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี 2) พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำบางปะกงตอนล่าง และ 3) พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำอิงตอนล่าง พร้อมทั้งอนุมัติขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำอิงตอนล่าง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ
2. (ร่าง) แนวทางการจัดระเบียบป้ายเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมภูมิทัศน์เมือง ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อการจัดระเบียบป้าย ส่งเสริมให้เมืองและชุมชนมีสิ่งแวดล้อมภูมิทัศน์ที่ดี
3.การปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ครอบคลุมการบำบัดน้ำเสีย ทั้งกิจกรรมการให้บริการจำหน่ายน้ำมัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซ่อมบำรุง รวมถึงการให้บริการอื่นๆ ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
และ 4.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน เพื่อกำหนด สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนเกินมาตรฐานในลำน้ำและแหล่งน้ำ โดยเฉพาะกรณีการตรวจพบสารโลหะหนักในแม่น้ำกก จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 6 โครงการ ได้แก่ 1) อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง - ห้วยบ้านโตก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบูรณ์ 2) อ่างเก็บน้ำแม่ตายละ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 3) ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ 4) ทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 347 กับทางหลวงหมายเลข 3263 (แยกวรเชษฐ์) 5) ทางหลวงหมายเลข 121 ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 108 - จุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 จ.เชียงใหม่ และ 6) งานก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าแรงสูงวชิราลงกรณ - สถานีไฟฟ้าสังขละบุรี อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาระบบการชลประทานให้ประชาชนใน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เชียงใหม่ เพิ่มศักยภาพในการเดินทางและขนส่งสินค้า ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.เชียงใหม่ รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี
โดย นายประเสริฐ ได้มีเน้นย้ำต่อที่ประชุมและมีข้อสั่งการไปถึงผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ว่า กรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอเกี่ยวกับการตรวจพบกองขยะอันตรายที่ อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี หรือเหตุการณ์พบสารปรอทในแม่น้ำกก ก็ขอให้ทุกฝ่ายหาทางเร่งแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ จากการได้ร่วมการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิได้มีประเด็นเกี่ยวกับ "ขยะอาหาร" (food waste) ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และกำลังจะเป็นประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม ก็ขอมอบนโยบายให้ฝ่ายเลขาฯ ศึกษาหาแนวทาง มาตรการ หรือวิธีการที่ทำให้ลดลง หรือควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
"ผมให้ความสำคัญกับการบำบัดน้ำเสียก่อนลงปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่อยากให้เป็นแบบข่าว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ที่เจอน้ำทิ้งสีดำคล้ำและมีกลิ่นเหม็น ถูกปล่อยลงชายหาดอ่าวประจวบ โดยไม่มีการบำบัด จึงขอให้ฝ่ายเลขาฯ สำรวจและสร้างความเข้าใจกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการเสนอของบประมาณการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ส่วนเรื่อง EIA ก็ขอเน้นย้ำอีกครั้งให้ท่านคณะกรรมการฯ ช่วยกันดูรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ละเอียด ตรวจสอบข้อมูลที่ผู้ศึกษาจัดทำมาว่าเป็นข้อมูลที่เป็นการตรวจสอบจริงภายใต้โครงการจริง และฝากช่วยกันดูว่าโครงการที่เสนอมามีความคุ้มค่า คุ้มเสีย กับผลกระทบที่จะเกิดในระยะยาวหรือไม่และหาข้อสรุปให้ได้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำ"
นายประเสริฐ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 - 4 พฤษภาคม 2568 ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการเขต 12 จ.นครราชสีมา เพื่อลงไปดูการรับมือภัยแล้งและน้ำท่วม โดยเฉพาะที่เขื่อนลำตะคอง พบว่ามีปริมาณน้ำเหลือใช้เพียง 16% จึงขอฝากให้ทระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม บูรณาการกับกระทรวงมหาดไทย และ สนทช.อย่างใกล้ชิด ในการพิจารณามีวิธีการบำบัดน้ำเสียเพื่อมาใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรให้มากขึ้น ลดการระบายลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียส่งผลกระทบต่อระบบต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งสามารถทำได้แล้วในหลายประเทศ และเชื่อว่าประเทศไทยก็จะต้องทำให้ได้เช่นกัน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี