บึงกาฬผนึกกำลังทุกภาคส่วน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการ "Buengkan Zero Dropout" พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ควบคู่โครงการยืดหยุ่นการเรียนรู้ มุ่งเป้าลดเด็กหลุดจากระบบให้เป็นศูนย์
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 ณ หอประชุมศรีบึงกาฬ โรงเรียนบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำคัญภายใต้ชื่อ "ตำบลต้นแบบ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา เพื่อให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจังหวัดบึงกาฬ ตามโครงการ (Buengkan Zero Dropout)" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนข้อเสนอการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้านการศึกษาในภูมิภาค ระดับตำบล
นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมและมอบวุฒิบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา โดยมีนายสมหวัง อารีย์เอื้อ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ดร.กษมา ป้องกัน ผอ.สพม.บึงกาฬ นายนรภัทร สิทธิจักร รองผอ.สพม.บึงกาฬ ดร.ชวนะ ทวีอุทิศ ผอ.โรงเรียนบึงกาฬ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน รวมถึงผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 120 คนเข้าร่วม
การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางการลดจำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน พร้อมให้ความช่วยเหลือเด็กนอกระบบหรือเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่การเรียนรู้อีกครั้ง อันเป็นการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาในทุกช่วงวัย นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและเชิดชูผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และส่งเสริมให้เยาวชนกลับเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในชุมชนอย่างบูรณาการ
จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า จังหวัดบึงกาฬมีเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 3–18 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษากว่า 4,371 คน ที่ผ่านมา จังหวัดบึงกาฬมีตำบลต้นแบบ Zero Dropout แล้ว 1 แห่ง คือ ตำบลถ้ำเจริญ อำเภอโซ่พิสัย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาเด็กตกหล่นและเยาวชนนอกระบบ จนกระทั่งนักเรียนสามารถสำเร็จการศึกษาได้
นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวเน้นย้ำว่า “การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน จังหวัดบึงกาฬให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มที่หลุดออกจากระบบ เราจะไม่ปล่อยให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การประชุมในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพลังร่วมในระดับตำบล เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป”
นางรินทิพย์ วารี ศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวเสริมว่า “สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬ มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ โดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการทำงาน ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายให้ทุกตำบลในจังหวัดเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างแท้จริง ที่สำคัญ เราไม่ได้มองเพียงแค่การนำเด็กกลับมาเรียน แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละคนให้สามารถเรียนรู้ตามความถนัด และเชื่อมโยงไปสู่การมีอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว”
โครงการ “Buengkan Zero Dropout” มีกลไกสำคัญในการค้นหา ติดตาม ฟื้นฟู และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในระดับตำบล คาดหวังให้จังหวัดบึงกาฬเป็นต้นแบบของการดำเนินงานเชิงพื้นที่ด้านการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกระทรวงศึกษาธิการที่ยึดมั่นในเรื่อง “การให้การศึกษาที่เท่าเทียมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสเรียนรู้อย่างเสมอภาคและเติบโตในสังคมอย่างมีความสุข ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี