11 พ.ค. 2568 พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาค 4 ให้สัมภาษณ์กับ นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ จากเพจเฟซบุ๊ก "แนวหน้ามั่นคง" ที่ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ในประเด็นสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีข้อสังเกตว่าในรอบไม่กี่สัปดาห์ล่าสุด ผู้ก่อเหตุพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ ว่า หากไล่เรียงตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2568 มีเหตุลอบยิงอุสตาซ หรือครูสอนศาสนาอิสลาม ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
จากนั้นในวันที่ 20 เม.ย. 2568 เกิดเหตุลอบวางระเบิดบริเวณริมกำแพงหลังแฟลตตำรวจ สภ.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส มีเจ้าหน้าที่และนักเรียนที่กำลังเดินทางไปเรียนด้านศาสนาได้รับบาดเจ็บ ตามด้วยช่วงค่ำของวันเดียวกัน มีเหตุกราดยิงประชาชนกลุ่มไทยพุทธ ที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส มีผู้บาดเจ็บ 6 ราย , วันที่ 22 เม.ย. 2568 เกิดเหตุกราดยิงสามเณรที่ออกมาบิณฑบาต มีสามเณรมรณภาพ 1 รูป บาดเจ็บอีก 1 รูป ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา , วันที่ 24 เม.ย. 2568 มีเหตุลอบยิงชาวบ้านกลุ่มไทยพุทธในพื้นที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย ,
วันที่ 2 พ.ค. 2568 มีเหตุกราดยิงชาวบ้านกลุ่มไทยพุทธ ที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เสียชีวิต 3 ราย และยังมีอีกหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านั้นฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ก่อเหตุโจมตีเป้าหมายอ่อนแออย่างชาวบ้านกลุ่มไทยพุทธหรือพระสงฆ์ โดยจะกระทำแต่กับเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่ถืออาวุธ เช่น ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง โดยยึดหลักสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง (Right to Self Determination หรือ RSD) ที่ประกอบด้วย 4 เงื่อนไข คือ 1.การขัดแย้งกันด้วยอาวุธ 2.การเคยเป็นอาณานิคม 3.สิทธิมนุษยชน และ 4.อัตลักษณ์
ส่วนข้อกังวลว่าการก่อเหตุกับกลุ่มเป้าหมายที่อ่อนแอจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ในฐานะหน่วยงานรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนทุกฝ่าย จะต้องไม่มีการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ การต่อสู้ทางภาคประชาสังคมหรือทางการเมืองอาจยอมรับได้ แต่การโจมตีพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายอ่อนแอผู้ไม่เกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย สิ่งที่เป็นห่วงคือการตอบโต้กัน ตนได้ให้นโยบายไปแล้วว่าหากใครรู้เบาะแสผู้ก่อเหตุขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย จะไม่ใช้ความรุนแรงโดยผิดกฎหมาย
ซึ่งในอดีตอย่างช่วงปี 2547 เกิดเหตุแล้วต่างคนต่างรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วก็อาจมีการไปตอบโต้กัน แต่ ณ ปัจจุบันปี 2568 ผ่านมา 21 กว่าปีแล้ว เรารู้แล้วว่าใครเป็นกลุ่มไหน จะต้องไม่มีการกระทำนอกเหนือกฎหมาย ที่ผ่านมาตนก็พยายามพูดคุยกับผู้นำศาสนาในเรื่องการแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งจะใช้กระบวนการตามกฎหมาย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเหมือนกับลิงติดแห คือแก้ปัญหากันไม่จบ
“ท่านผู้นำศาสนาเข้าใจดีแล้วก็ร่วมมือกันอย่างดีในการร่วมกันแก้ปัญหาในพื้นที่ เพราะทุกท่านก็เห็นแล้วว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมา 21 ปี เรามีแต่การสูญเสีย เราควรมาร่วมมือกันแล้วก็นำไปสู่การพัฒนาบ้านเรามากกว่า ผู้นำศาสนาท่านทราบดีว่ามีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นมา นำไปสู่เรื่องการที่ประชาชนไม่มีความสุข การพัฒนาประเทศเราด้อยกว่าเรื่องเศรษฐกิจหรือการศึกษา” พล.ท.ไพศาล กล่าว
ส่วนข้อสังเกตว่าการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ สะท้อนความขัดแย้งกันเองในฝ่ายขบวนการหรือไม่ ระหว่างปีกการเมืองที่เน้นการพูดคุยกับปีกการทหารที่เน้นปฏิบัติการทางการทหารโดยไม่ให้น้ำหนักกับการพูดคุย จากข้อมูลด้านการข่าว ทราบว่าโครงสร้างของฝ่ายขบวนการมีความเปลี่ยนแปลงในส่วนของฝ่ายทหาร เกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่าที่ยึดหลัก RSD กับรุ่นใหม่ที่ใช้ความรุนแรง
และในส่วนของขบวนการก็มีข้อมูลว่าต้องการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง เพราะหากนับตั้งแต่เหตุปล้นปืนเมื่อปี 2547 ตามด้วยเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ หรือในปี 2548ที่มีเหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์เหล่านี้ไม่อยู่ในความทรงจำของคนรุ่นใหม่ จึงต้องการให้มีเหตุรุนแรงขึ้นเพื่อให้เป็นที่จดจำต่อไปของมวลชนในพื้นที่ ส่วนกรณีที่ฝ่ายขบวนการออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ แม้จากการตรวจสอบหลักฐานเพื่อประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมายจะพบว่าอาวุธที่ใช้ก่อเหตุมาจากการชิงไปจากฝ่ายเจ้าหน้าที่
ประเด็นนี้ต้องอธิบายว่า เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ จะมีเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าไปเก็บหลักฐาน เช่น การเก็บ DNA เก็บปลอกกระสุน หัวกระสุน เศษวัตถุระเบิด ฯลฯ ซึ่งหลายครั้งเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเมื่อเก็บหลักฐานมาตรวจสอบก็พบว่าอาวุธที่ใช้ก่อเหตุเคยถูกนำไปใช้ในการก่อเหตุครั้งอื่นๆ ก่อนหน้า นำไปสู่การออกหมายจับผู้ครอบครองอาวุธ ก็จะรู้ข้อมูลบางส่วนว่าที่ผ่านมาเคยออกหมายจับใครไว้ อาวุธที่ถูกนำกลับมาใช้อาจมีการเปลี่ยนมือหรือไม่แต่ก็รู้ว่าเป็นกลุ่มไหน
ส่วนที่เหตุความรุนแรงบางครั้งพบมีการใช้วัสดุอุปกรณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การใช้ถังก๊าซดัดแปลงเป็นระเบิด เรื่องนี้รู้ได้เพราะถังก๊าซของไทยกับของประเทศเพื่อนบ้านแตกต่างกัน รวมถึงส่วนประกอบวงจรจุดระเบิดก็ตรวจสอบได้ว่ามาจากที่ใด อนึ่ง สำหรับตนก็ไม่เคยเห็นว่ามีเหตุการณ์ใดที่ฝ่ายขบวนการออกมาแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งการออกมาประกาศว่าไม่เกี่ยวข้องกับการโจมตีกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ น่าจะเกิดจากถูกประณามจากหลายฝ่าย
แต่หากมองย้อนกลับไปดูการออกแถลงการณ์ของฝ่ายขบวนการ เช่น แถลงการณ์โดยโฆษกกลุ่ม BRN จะแสดงให้เห็นว่าต้องการสื่ออะไร อย่างเมื่อ 2 ปีก่อน มีแถลงการณ์ออกมาเรื่องการปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ นำไปสู่การก่อเหตุโดยพุ่งเป้าไปที่โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือจุดที่มีการนำทรัพยากรในพื้นที่มาแปรรูปแล้วส่งไปที่อื่น แถลงการณ์นั้นก็อาจสื่อถึงขบวนการซึ่งอาจมีหลายกลุ่มในพื้นที่
“อันนี้เช่นเดียวกัน อันนี้ต้องการว่าในการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ในกลุ่มขบวนการก็มีหลายกลุ่ม อย่างเช่นมีความขัดแย้งกันในกลุ่มของขบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำฝ่ายทหารคนเก่า – คนใหม่ แล้วก็ผมมองว่าเหตุรุนแรงที่ถูกประณามต่างๆ ขบวนการต้องการสื่อถึงใคร สื่อถึงขบวนการว่าให้หยุดก่อเหตุรุนแรงที่เขาไม่สามารถควบคุมได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วขบวนการโดยข้อเท็จจริงเขาก็ไม่เคยรับว่าเกิดเหตุ” แม่ทัพภาค 4 ระบุ
พล.ท.ไพศาล ยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่มีคำถามว่า การก่อเหตุรุนแรงโดยเน้นเป้าหมายอ่อนแอจะลดลงหรือไม่ภายหลังมีการออกแถลงการณ์โดยฝ่ายขบวนการว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว ต้องเข้าใจแนวทางการต่อสู้ของขบวนการ เกิดจากการมีองค์กรต่างๆ มาแนะนำ อย่างหลัก RSD ก็มีองค์กรจากทางยุโรปมาแนะนำ และน่าจะรวมถึงคำแนะนำเรื่องการพูดคุย การเขียนข้อตกลงต่างๆ ดังนั้นก็ต้องถูกกดดันจากองค์กรเหล่านี้เช่นกัน จึงอาจเป็นเหตุผลที่ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องกลับมาทบทวนว่าเป้าหมายการต่อสู้ของตนเองคืออะไร
เพราะในการพูดคุยกันที่ผ่านมาก็ใช้แนวทางสันติร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งการที่ฝ่ายขบวนการไปร่วมลงนามกับองค์กรที่มีข้อห้ามประการหนึ่งคือห้ามทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอ แต่กลับไปลงมือก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวก็อาจนำไปสู่การตัดการสนับสนุนขององค์กรต่างประเทศด้วย โดยฝ่ายขบวนการพยายามทำให้เงื่อนไขครบทั้ง 4 ข้อ อย่างเรื่องการเคยเป็นอาณานิคม มีการสร้างวาทกรรมเรื่องปาตานี ส่วนการขัดแย้งกันด้วยอาวุธก็จะเน้นก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่ซึ่งถืออาวุธ หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนก็สร้างมาก่อนหน้านั้นแล้ว เรื่องอัตลักษณ์ก็พยายามสร้างมาตลอด
แต่เมื่อเกิดเหตุทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอขึ้น องค์กรต่างๆ ที่แนะนำเรื่องการต่อสู้และการพูดคุยให้กับขบวนการก็จะต้องกดดันขบวนการ ส่วนคำถามว่ามองอย่างไรกับเรื่องการพูดคุยสันติสุขที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ที่มีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาประสานให้ เกิดเป็นการพูดคุยในกรอบแผนความเข้าใจร่วมกันที่นำไปสู่การสร้างสันติภาพ (Joint Comprehensive Plan Towards Peace หรือ JCPP) ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเองก็ต้องปรับแนวทางการปฏิบัติด้วย ก็ต้องมาทบทวนกรอบข้อตกลงต่างๆ
โดยการพูดคุยเป็นการทดสอบความจริงใจ ทางรัฐก็พยายามลดเรื่องด่านตรวจหรือมาตรการต่างๆ ตามที่ได้มีการพุดคุยกัน และเมื่อมีการพูดคุยกัน ที่ผ่านมาแม้ฝ่ายตรงข้ามจะยังไม่หยุดบ่มเพาะหรือฝึกคนรุ่นใหม่ขึ้นมา แต่เจ้าหน้าที่ก็มองว่าสถานการณ์ดีขึ้น ก็อาจลดกำลังบางส่วนลงไป แต่เมื่อลดกำลังแล้วเกิดเหตุการณ์ขึ้น ในบางพื้นที่กำลังที่ดูแลพื้นที่อาจเบาบางลง ก็ต้องมาปรับเปลี่ยนวิธีการว่าเมื่อเราวางไว้แน่นอย่างในอดีตตั้งแต่ปี 2547 ที่มีกำลังจากภายนอกพื้นที่เข้ามา จนเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็นำไปสู่การถอนกำลังบางส่วน
โดยเน้นการใช้กำลังในพื้นที่ เพิ่มในส่วนของตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) อาสารักษาดินแดน (อส.) ประสิทธิภาพและข้อจำกัดเป็นอย่างไรก็ต้องมาทบทวนกัน มีช่องว่างให้ฝ่ายตรงข้ามก่อเหตุได้ในห้วงที่ผ่านมา รวมถึงนายกรัฐมนตรีได้เรียกผู้บัญชาการทหารบก ตำรวจและมหาดไทย พูดคุยสอบถามว่ายังขาดเครื่องมืออะไรในการปฏิบัติหน้าที่บ้างหรือไม่ หรือเรื่องการประสานงานกัน
แต่ในส่วนของกองทัพภาค 4 ซึ่งดูแลพื้นที่ ตนก็มองว่าตำรวจกับฝ่ายปกครองร่วมมือกันได้ด้วยดี และนำภาคประชาสังคมมาร่วมด้วย แต่ในส่วนของเครื่องมือก็ให้แต่ละส่วนไปทบสวนว่าขาดแคลนอะไร ซึ่งที่ผ่านมามีการวางแผนกันว่าเมื่อสถานการณ์ลดลง งบประมาณและกำลังคนก็จะลดลง เพราะเข้าใจว่าที่ผ่านมารัฐบาลก็ใช้งบประมาณไปมากกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจต้องลดลง แต่อาจเพิ่มเครื่องมือที่จำเป็น หรือเข้มงวดมาตรการควบคุมชายแดนเพื่อป้องกันฝ่ายตรงข้ามใช้ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเป็นที่เตรียมตัวก่อเหตุหรือหลบซ่อน
ส่วนคำถามกรณีนายกรัฐมนตรีกำชับเรื่องการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ สะท้อนถึงปัญหาอะไรหรือไม่ ตนในฐานะผู้รับผิดชอบในพื้นที่ มองดูแล้วก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเรื่องการบูรณาการ ซึ่งจริงๆ แล้วการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ขึ้นอยู่กับพื้นที่ภาคใต้อย่างเดียว ยังมีในส่วนของระดับนโยบายและระดับการนำนโยบายไปปฏิบัติด้วย เช่น ข้อจำกัดของชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง จะแก้ไขอย่างไร
โดยที่ผ่านมามีการวางยุทธศาสตร์ไว้ว่าในอนาคต ปี 2570 จะใช้กลไกแก้ไขปัญหาตามปกติ เช่น ตำรวจหรือฝ่ายปกครอง ดังนั้นเรื่องใดที่เป็นข้อจำกัดที่เห็นว่าเกินอำนาจของหน่วยงานในพื้นที่ก็ต้องมาแก้ไข เช่น การจัดปลัดอำเภอเข้ามามากขึ้นเพื่อให้มาอยู่กับชุดคุ้มครองตำบล หรือปัจจุบันที่มีผู้หญิงเป็นปลัดอำเภอมากขึ้น เนื่องจากผู้หญิงเรียนหนังสือเก่งและสอบได้มากกว่า กลายเป็นว่าผู้หญิงต้องมาคุมกำลังชุดคุ้มครองตำบล ก็มีเรื่องของประสิทธิภาพ
“ส่วนของปลัดต้องไปฝึกวิชาทหาร ซึ่งจริงๆ เรามีหลักสูตรผู้บังคับหมวด ฝึกกันที่ศูนย์ฝึกกำลังสำรองของกองทัพบก ที่เอาปลัดอำเภอที่ดูแลความมั่นคงมาฝึก แต่ว่าเมื่อเรามีปลัด นายอำเภอหลายนายที่ต้องมาดูแล ชคต. ต้องเปิดหลักสูตรพิเศษไหม? ที่ไปเรียนให้มากขึ้น คงไม่ได้มาแค่อำเภอละ 1 คน ที่เป็นปลัดที่ดูแลงานความมั่นคง นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ระดับบนต้องมาช่วย มาแก้ปัญหา” พล.ท.ไพศาล กล่าว
ชมคลิปเต็มได้ที่นี่ (มีระยะเวลา 30 วัน นับจากวันถ่ายทอดสด ตามข้อกำหนดของ Facebook)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี