‘โควิด’เปลี่ยนสายพันธุ์เร็ว
หมอยงชี้ยากป้องกันติดเชื้อ
“หมอยง” ชี้โควิดเปลี่ยนสายพันธุ์เร็ว ยากจะป้องกันการติดเชื้อด้วยวัคซีน-ภูมิคุ้มกันดั้งเดิม
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 ศ.ดร.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง“โควิด 19 หลากหลายสายพันธุ์ จึงยากที่จะป้องกันการติดเชื้อด้วยวัคซีนและ imprint immunity หรือภูมิคุ้มกันที่จำไว้เดิม จะเป็นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม”ระบุว่า โควิดไวรัส เป็นไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมและเกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมอย่างมากและรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายขึ้น แต่ลดความรุนแรงของโรคลงตามกฎเกณฑ์ของวิวัฒนาการ
ศ.ดร.ยง ย้ำว่า ระบบภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น จากการฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อ จะยังคงความเดิมของสายพันธุ์เดิม หรือจำไว้เดิม เมื่อได้รับสายพันธุ์ใหม่ หรือฉีดวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ ภูมิคุ้มกันจะไปกระตุ้นความจำเดิม imprint immunity ได้ดีกว่าสายพันธุ์ใหม่ ทั้งที่เราต้องการให้กระตุ้นสายพันธุ์ใหม่ไม่ใช่สายพันธุ์เดิม จึงเป็นเหตุผลที่ การฉีดวัคซีนซ้ำๆ หรือ การติดเชื้อซ้ำมาอีก ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นสายพันธุ์เดิมมากกว่าสายพันธุ์ใหม่ จึงทำให้ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้น้อยลง โดยเฉพาะจากวัคซีน
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อ หรือวัคซีนที่เคยฉีด ร่างกายจะมีหน่วยความจำระดับเซลล์ ต่อตัวไวรัสโดยเฉพาะการทำลายไวรัสในระดับเซลล์ โดยภูมิที่สร้างความจำไว้ให้กับเซลล์ โดยเฉพาะที่เกิดจากการติดเชื้อ และหรือวัคซีน ทำให้การกำจัดไวรัสหลังการติดเชื้อ ได้ดีและเร็วขึ้น จึงเป็นการลดความรุนแรงของโรคลง
ศ.ดร.ยง กล่าวอีกว่าประชากรส่วนใหญ่เคยติดเชื้อแล้ว หน่วยความจำระดับเซลล์ จึงมีความจำที่ดีมากต่อไวรัสโควิดไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด ทำให้การติดเชื้อครั้งที่ 2 หรือครั้งหลังๆ ความรุนแรงจะลดลงตามลำดับ
มีผู้ป่วยรายหนึ่งติดเชื้อแล้วถึง 7 ครั้ง จากการทำงานในหน่วยโควิด และโรคทางเดินหายใจ จึงมีการติดเชื้อซ้ำได้บ่อย และ เห็นได้ชัดเจน การติดเชื้อครั้งแรกรุนแรงที่สุด และการติดเชื้อครั้งหลังๆ แทบจะไม่รู้เลยว่าเป็นโควิด 19 และจากการศึกษาของเรา การติดเชื้อครั้งที่ 2 จำนวนหลายร้อยคน เห็นได้ชัดเจนว่าความรุนแรงลดลง
ในเด็กหลายคน เคยกลัวว่า เมื่อติดเชื้อโควิดจะทำให้เกิด ความรุนแรงคล้ายหัดญี่ปุ่น (Kawasaki disease) เรียกว่า MIS-C แต่กลับพบว่าเมื่อเข้าสู่ยุคของโอมิครอน อัตราการเกิด MIS-C ได้ลดลงอย่างมาก และอย่างไรก็ตามที่จริง MIS-C ก็พบได้ตั้งแต่ยุคก่อนที่จะมีโควิดเสียอีก
ดังนั้นในระบบของภูมิคุ้มกัน ทำให้ในปัจจุบัน บริษัทวัคซีนโควิด 19 จำนวนมากได้เลิกผลิตวัคซีนแล้ว ที่รู้ยังคงเหลืออยู่ 2 บริษัท ที่เป็น mRNA อยู่ 1 บริษัท และ protein subunit อีกหนึ่งบริษัท แต่การนำเข้าวัคซีนมาในประเทศไทยมีเพียงบริษัทเดียว และมีราคาแพงมาก ซึ่งหาฉีดได้ยากมาก เพราะโรงพยาบาลต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาเข้าโรงพยาบาล เพราะการเก็บรักษาค่อนข้างยาก ดังนั้นความจำเป็นในการฉีดวัคซีนในประเทศไทย จึงมีน้อยมากมาก และเชื่อว่าต่อไปก็คงจะหาวัคซีนในประเทศไทยไม่ได้
“โควิด 19 ในปัจจุบันถึงแม้จะพบผู้ป่วยได้มาก แต่ส่วนใหญ่อาการจะน้อยลง และดูแลรักษาเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจ เมื่อไม่มีอาการก็ไปโรงเรียนได้ไปทำงานได้ ไม่มีการกำหนดว่าจะต้องหยุดกี่วัน สิ่งสำคัญขนาดนี้ คือ การป้องกันทางด้านสุขอนามัย ด้วยการล้างมือ ใช้แอลกอฮอล์ ถ้าป่วยให้ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และการให้ความรู้กับเด็กนักเรียนในการป้องกันโรคทางเดินหายใจ รวมทั้งโรคมือเท้าปากไปพร้อมๆกัน จึงมีความสำคัญมากกว่า”ศ.ดร.ยง ระบุทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี