บพท.อัดฉีดทุนวิจัยหนุน มจธ. พัฒนาชุดความรู้สร้างนวัตกรรมการศึกษา-นวัตกรเชิงวัฒนธรรม เสริมสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดราชบุรี และจังหวัดชายขอบ
รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ฝ่ายบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงโครงการวิจัยการพัฒนาการเรียนรู้ สมรรถนะฐานอาชีพสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสและนวัตกรรมเชิงระบบเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนชายขอบ จังหวัดราชบุรี และโครงการวิจัยทุนทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโผล่งในบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี ช่วงราชบุรีและเพชรบุรี ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยคณาจารย์นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท. โดยกล่าวว่า โครงการวิจัยทั้ง 2 โครงการดังกล่าว มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ และมีเป้าหมายสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่ชุมชนในพื้นที่ชายขอบ ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ชุดความรู้จากงานวิจัย ไปออกแบบเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอน ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และประยุกต์ฐานทุนทางวัฒนธรรม ตลอดจนทรัพยากรในพื้นที่ มาสร้างมูลค่า สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ที่มีความมั่นคง-ยั่งยืน
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่าโครงการวิจัยการพัฒนาการเรียนรู้ สมรรถนะฐานอาชีพสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสและนวัตกรรมเชิงระบบเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนชายขอบ จังหวัดราชบุรี ได้กำหนดพื้นที่วิจัยครอบคลุม 6 อำเภอของจังหวัดราชบุรี ได้แก่ สวนผึ้ง, บ้านคา, จอมบึง, บ้านโป่ง, โพธาราม และอำเภอเมือง ซึ่งริเริ่มดำเนินการในช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 มีการแพร่ระบาด และเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนในโรงเรียน ทำให้นักเรียนขาดโอกาสทางการศึกษา โดยคณะนักวิจัยได้ค้นคว้าวิจัยแสวงหาแนวทางและเครื่องมือที่จะแก้ปัญหา ก้าวข้ามข้อจำกัดและอุปสรรค เพื่อทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ถือเป็นโมเดลการจัดการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ที่ตอบโจทย์และยั่งยืน ด้วยการวางระบบ กลไกช่วยเหลือครู โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นกลไกสำคัญ
“คณะนักวิจัยค้นพบว่ากลไกอาสาสมัครเพื่อการศึกษาประจำหมู่บ้าน (อศม.) ด้วยการประยุกต์แนว ความคิดมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ในระบบสาธารณสุข สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ โดยให้ทำหน้าที่เป็นเสมือนครูช่วยสอน ซึ่งได้ผลดีเยี่ยม”
นายศุเรนทร์ ฐปนางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แนวทางในการพัฒนา อศม. หรืออาสาสมัครเพื่อการศึกษาประจำหมู่บ้าน นับเป็น “นวัตกรรมอาสาสมัครการศึกษา” สามารถแก้ไขปัญหานักเรียนตกหล่นทางการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างได้ผล โดยคณะวิจัยจะคัดสรรบุคคลจิตอาสาซึ่งมีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับนับถือของชุมชน ไปรับการอบรมทักษะการถ่ายทอดวิชาความรู้ เพื่อไปทำหน้าที่ อศม. สอนนักเรียนในหมู่บ้าน
“นอกจาก อศม.แล้ว คณะวิจัยยังพัฒนาสื่อช่วยสอน และเครื่องมือช่วยสอนสำหรับ อศม. ด้วยการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรที่มีทั้งวิชาการ และวิชาชีพที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน บันทึกไฟล์เสียงใส่ทรัมป์ไดร์ฟ สำหรับไปถ่ายทอดสู่การรับรู้ของผู้เรียน ผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์ เพื่อความสะดวกคล่องตัว เนื่องจากบริเวณพื้นที่ชายขอบจะมีปัญหาข้อจำกัดเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต และระบบไฟฟ้า”
นางสาวญาณิฐา สินธุศิริ ครูชำนาญการ โรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 บ้านบ่อหวี ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการวิจัยการพัฒนาการเรียนรู้ สมรรถนะฐานอาชีพสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสและนวัตกรรมเชิงระบบเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนชายขอบ จังหวัดราชบุรี กล่าวว่าโครงการวิจัยดังกล่าวมีบทบาทอย่างสูงในการแก้ปัญหานักเรียนตกหล่นกลางคันได้เป็นอย่างดี ตลอดจนเสริมทักษะด้านอาชีพ ด้านการจัดการ แก่ทั้งตัวนักเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองอีกด้วย
ไม่เพียงเฉพาะความรู้ทางวิชาการทักษะด้านอาชีพเท่านั้น โครงการวิจัยภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยการสนับสนุนทุนวิจัย จาก บพท. ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อน-เชื่อมต่อบนฐานทุนวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่ง ผศ.นันทนา บุญลออ นักวิจัยภายใต้กรอบการจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยง พื้นที่แถบเทือกเขาตะนาวศรี กล่าวว่า ผลจากการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงโรงเรียน-ชุมชน-ครัวเรือนเข้าด้วยกัน จากการสืบค้นทุนทางวัฒนธรรมและการนำไปสร้างให้เกิดมูลค่า โดยมุ่งเน้นสนองความต้องการของชุมชน สอดคล้องกับเศรษฐกิจชุมชน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชน
โดยในระยะต่อมา สามารถกระตุ้นให้เกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือนวัตกรชุมชน นวัตกรเชิงวัฒนธรรม นักจัดการข้อมูลวัฒนธรรมของพื้นที่ เกิดศูนย์เรียนรู้ศิลปะการย้อมสีธรรมชาติและหัตถกรรมผ้ากะเหรี่ยง ศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมการตีเม็ดเงินกะเหรี่ยง ศูนย์เรียนรู้การขึ้นรูปภาชนะจากใบไม้และเส้นใยธรรมชาติ ตลาดวิถีวัฒนธรรม อีกทั้งยังสนับสนุนให้นักเรียนมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างโลกความเป็นจริงที่สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม
การเชื่อมต่อประชาคมวัฒนธรรมของพื้นที่ต่างๆ และก้าวสู่การสร้างแพลตฟอร์มในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสำนึกท้องถิ่นบนฐานทุนวัฒนธรรมในปีปัจจุบันผ่านโครงการตลาดวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงน่าเอ๊ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนบนฐานทุนวัฒนธรรมและการบริหารจัดการตลาดวัฒนธรรมเพื่อสร้างสมดุลของเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชาติพันธุ์ ///-026
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี