เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัญหาการขโมยสายไฟในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐเป็นมูลค่าหลายล้านบาท แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ไฟทางดับ ทางเท้ามืด เสี่ยงอุบัติเหตุและอาชญากรรม บางพื้นที่ระบบระบายน้ำไม่ทำงานเพราะไม่มีไฟฟ้าเลี้ยงปั๊ม ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังซ้ำซาก การเดินทางและความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของชาวกรุงเทพฯ จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากพฤติกรรมโจรกรรมที่อาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่สะเทือนทั้งเมือง เพื่อรับมือกับภัยเงียบนี้ กทม.จึงเปิด “ยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ” พร้อมระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการใช้เทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อป้องกันและลดความเสียหายที่เกิดซ้ำซากในหลายพื้นที่ของเมือง
โฆษก กทม.เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก สน.บางขุนเทียน บก.น.9 บช.น รายงานเหตุจับกุมแก๊งคนร้ายตระเวนลักทรัพย์ตัดสายไฟฟ้านครหลวง ความผิดฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์ที่มีไว้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ในเวลากลางคืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อให้สะดวกแก่การกระทำผิดหรือเพื่อพาทรัพย์นั้นไป" สถานที่เกิดเหตุ บริเวณหน้าร้านบุฟเฟ่ต์ทะเลเผาก่อนถึงโลตัส บริเวณซอยเอกชัย 87/1 แขวงคลองบางบอน เขตบางบอน, ฝั่งตรงข้ามร้านสะดวกซื้อ CJ ปากซอยบางบอน 4 แขวงบางบอน เขตบางบอน โดยการไฟฟ้าประเมินความเสียหาย วันที่ 3 , 5 , 7 พฤษภาคม 2568 เป็นเงินประมาณ 500,000 บาท วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ความเสียหายประมาณ 1,500,000 บาท
พฤติการณ์กล่าวคือ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 การไฟฟ้านครหลวง ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางขุนเทียน ว่าถูกคนร้ายลักตัดสายไฟบริเวณหน้าร้านบุฟเฟ่ต์ทะเลเผาก่อนถึงโลตัส บริเวณซอยเอกชัย 87/1 แขวงคลองบางบอน เขตบางบอน กทม. ว่าถูกคนร้ายลักตัดสายไฟจำนวน 3 เส้น รวมความเสียหายประมาณ 500,000 บาท จึงได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดย้อนหลังพบว่า คนร้ายกลุ่มเดิมมาก่อเหตุก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง คือวันที่ 3 และ 5 พฤษภาคม 2568 จากการสืบสวนทราบว่าผู้กระทำผิดเป็นชายกับพวกรวม 5 คน เป็นผู้ก่อเหตุ ผู้ก่อเหตุยอมรับสารภาพว่าก่อเหตุลักตัดสายไฟจริง และยังได้ก่อเหตุลักตัดสายไฟที่บริเวณปากซอยปากบอน 4 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ในเขตพื้นที่ สน.บางบอน ด้วย เบื้องต้นตรวจพบทั้ง 3 มีสารเสพติดในร่างกาย จึงได้ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์จะได้ขยายผลเพิ่มเติมและขอหมายจับเพื่อดำเนินคดีในความผิดดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ จากสถิติการแจ้งความ ของสำนักการโยธา ศูนย์เครื่องมือกล ส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 ในปี 2566 จำนวน 11 เรื่องการขโมยสายไฟฟ้า มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 15,903,185 บาท ปี 2567 จำนวน 9 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 3,304,323 บาท และปี 2568 แจ้งความจำนวน 5 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 4,167,332 บาท
ในส่วนสถิติการแจ้งความของสำนักการโยธา ศูนย์เครื่องมือกล ส่วนก่อสร้างและบูรณะ 2 ปี 2566 - 2568 จำนวน 15 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 2,312,965 บาท
ด้านสถิติการแจ้งความของกองควบคุมการก่อสร้าง โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ปี 2567 จำนวน 3 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 1,195,800 บาท งานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ จากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ปี 67 จำนวน 1 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท โครงการสะพานข้ามแยกบางกะปิ ปี 67 - 68 มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 2,111,211 บาท โครงการก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วง 2 คิดเป็นเงิน 33,800 บาท และโครงการก่อสร้างถนนพุทธมณฑล 1 ช่วง 1 จำนวนเงิน 31,512 บาท
ปัญหานี้ยังไม่นับรวมกับโครงการที่อยู่ในการดูแลของสำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขต ซึ่งทั้งหมดล้วนสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยแนวทางป้องกันแบบบูรณาการที่ผสมผสานทั้งเทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมาย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ดังนี้ 1.มาตรการทางเทคโนโลยีและกายภาพ เช่น การเปลี่ยนไปใช้หลอด LED และระบบ IoT พิจารณาใช้วัสดุอื่นทดแทนทองแดง เพื่อลดแรงจูงใจการโจรกรรม การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมโดยตรง การออกแบบที่เข้าถึงยาก รวมถึงการติดตั้งระบบตรวจจับและเฝ้าระวัง เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่เสี่ยง ระบบสัญญาณเตือนภัย หรือรั้วไฟฟ้า (ในพื้นที่ที่เหมาะสม) 2.เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย และ 3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น ประชาสัมพันธ์ช่องทางรับแจ้งเหตุที่เข้าถึงง่าย หรือการให้รางวัลนำจับ การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชน สอดส่องดูแลความปลอดภัยในพื้นที่
"ยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ ไม่ใช่แค่เรื่องของ กทม.แต่คือความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราใช้ทั้งเทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมาย และพลังของประชาชนเพื่อหยุดภัยเงียบนี้ให้ได้ หากพบเห็นพฤติกรรมน่าสงสัย ขอให้แจ้งทันทีผ่านทางสายด่วน 1555 หรือ Traffy Fondue หรือแจ้งตำรวจ โทร. 191" โฆษก กทม.กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี