นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปี 2568 พร้อมทั้งมอบโล่ศิษย์เก่าเกียรติยศ ศิษย์ปัจจุบันเกียรติยศ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปี 2568 และมอบรางวัลการประกวดบทความ “ความภาคภูมิใจในการเป็นบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ” โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นางยุพิน บัวคอม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมด้วย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านฯ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้อำนวยการกองและกลุ่มที่ตั้งอยู่ส่วนกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด/กรุงเทพมหานคร และบุคลากรในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าร่วม ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ)
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวว่า วันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปี 2568 ถือเป็นวาระสำคัญในการแสดงพลังของหน่วยงานที่ขับเคลื่อน “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้เป็นจริงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ การจัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่การเพิ่มหน่วยงานในระบบราชการ แต่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อนำการศึกษาที่ก้าวข้ามกรอบห้องเรียนสู่ชีวิตจริงของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกวิถีชีวิต ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทั้งดิจิทัลชุมชน และการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว ให้ประชาชนสามารถปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีคุณค่า เพราะ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต คือพลังของประเทศ” ยิ่งประชาชนมีโอกาสเรียนรู้มากเท่าไร ประเทศยิ่งมีพลังในการพัฒนามากขึ้นเท่านั้น
นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดี สกร. กล่าวว่า สกร. กำหนดให้วันที่ 18 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเรียนรู้ หลังจากพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ ถือเป็นการยกสถานะจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มาเป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ซึ่งงานวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปี 2568 นี้ จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมทั้งสื่อสารบทบาท ภารกิจ และทิศทางการขับเคลื่อนงานในการส่งเสริมการเรียนรู้ ตลอดชีวิตที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย และทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
กรมส่งเสริมการเรียนรู้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พุทธศักราช 2566 โดยมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย พัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง รวมถึงการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองและในชุมชน และประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อสร้าง “ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในทุกบริบทของสังคมไทย ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเรียนรู้มุ่งมั่นดำเนินงานเชิงรุก เพื่อปลุกพลังการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มเปราะบาง โดยเชื่อมั่นว่า การเรียนรู้ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เกิดในห้องเรียน หากแต่คือเครื่องมือที่เปลี่ยนชีวิตคน และขับเคลื่อนประเทศได้อย่างแท้จริง
นายธนากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมภายในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปี 2568 ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) ครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกและยกย่องเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานของสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด ทั่วประเทศ และสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมตระหนักว่า “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” คือสิทธิพื้นฐานของทุกคน และเป็นทุนทางปัญญาที่จะหล่อหลอมประชาชน ให้มีศักยภาพในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคงและมีคุณค่าในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีมอบโล่ เชิดชูเกียรติแก่ “ศิษย์เก่า” และ “ศิษย์ปัจจุบันเกียรติยศ” และรางวัลประกวดบทความ “ความภาคภูมิใจในการเป็นบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ” รวมจำนวน 25 รางวัล และการจัดนิทรรศการผลงาน จากสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด ตามภารกิจที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 มาตรา 6 โดยจัดนิทรรศการใน 3 หมวด คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ซึ่งนิทรรศการและกิจกรรมที่ สกร.นำมาจัดแสดงในวาระวันสถาปนากรมฯ เป็นผลงานที่ภาคภูมิใจ เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ เน้นเรื่องการอ่านและกิจกรรมสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านงาน “Virtual Reading การอ่านในโลกเสมือนจริง” จังหวัดบุรีรัมย์ มีโครงการ “Buriram Zero Dropout Model” ซึ่งเป็นต้นแบบการช่วยเหลือเด็กนอกระบบให้กลับเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ ซึ่งตรงกับหนึ่งในภารกิจสำคัญของเรา คือ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี