24 พ.ค. 2568 ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ เขียนบทความ “ทำไมการเปิดคาสิโนในประเทศไทยอาจส่งผลกระทบต่อ well-being ของประชาชนแตกต่างจากการเปิดคาสิโนในสิงคโปร์” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก “Nattavudh Powdthavee - ณัฐวุฒิ เผ่าทวี” เนื้อหาดังนี้
วันนี้ผมอยากชวนคิดต่อถึง behavioural insights ที่เฉพาะตัวของสังคมไทย ซึ่งอาจทำให้การเปิดคาสิโนในประเทศนำไปสู่ผลกระทบภายนอก (externalities) ที่รุนแรงกว่าประเทศอย่างสิงคโปร์หรือประเทศอื่นๆ ที่มีระบบควบคุมที่เข้มงวดและบริบททางสังคมแตกต่างกันอย่างชัดเจน
เพื่อนๆหลายคนน่าจะเคยอ่านบทความที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับ just-world beliefs กันไปบ้างแล้วนะครับ ส่วนใครที่ยังไม่เคยอ่าน just-world beliefs หรือ “ความเชื่อว่าโลกนี้ยุติธรรม” ก็คือแนวคิดทางจิตวิทยาที่บอกว่า คนเรามักจะมีแนวโน้มเชื่อว่าโลกนี้ยุติธรรม คนดีจะได้รับผลลัพธ์ที่ดี ส่วนคนที่ลำบากหรือประสบปัญหา ก็มักจะถูกมองว่า "สมควรแล้ว" หรือ "ต้องมีอะไรผิดพลาดบางอย่าง" ซึ่งแนวคิดนี้มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมในศาสนาพุทธที่แพร่หลายในสังคมไทยอยู่ไม่น้อย แม้ทั้งสองแนวคิดจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียวก็ตาม
แล้ว just-world beliefs เกี่ยวอะไรกับการเปิดคาสิโนในประเทศไทย?
มันเกี่ยวข้องอย่างมาก เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อในแนวคิดนี้อยู่ลึกๆ เรามักเห็นได้จากทัศนคติที่ว่า “ถ้าคุณจน ก็เพราะคุณขี้เกียจเอง”, “ถ้าคุณติดกัญชา ก็เพราะคุณเลือกที่จะเสพมัน”, หรือ “ถ้าคุณติดการพนัน ก็โทษใครไม่ได้นอกจากตัวคุณเอง” ความเชื่อเหล่านี้ทำให้เรามองปัญหาสังคมต่างๆว่าเป็นผลของการตัดสินใจส่วนบุคคล มากกว่าจะเป็นผลของโครงสร้าง แรงจูงใจ หรือบริบททางสังคมที่ซับซ้อน
ในบริบทของการเปิดคาสิโน ความเชื่อแบบนี้อาจทำให้สังคมไทยขาดการผลักดันมาตรการป้องกันหรือเยียวยาที่เหมาะสม เพราะเราถือว่า “ใครเล่นจนหมดตัวก็สมควรแล้ว” แทนที่จะตั้งคำถามว่า ทำไมคนเหล่านั้นถึงตกหลุมพรางของการพนันได้ง่าย? หรือ ภาครัฐควรออกแบบระบบอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนส่วนหนึ่งกลายเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมนี้?
พูดง่ายๆก็คือแนวคิดของ just-world beliefs ทำให้คนที่ออกแบบนโยบายมีความเชื่อว่าประโยชน์ของการเปิดคาสิโนมันมากกว่าโทษเยอะ และถึงแม้ว่ามันจะมีโทษตามมา มันก็เรื่องของส่วนบุคคลที่เขาเลือกที่จะเดินทางผิดเอง มันไม่ใช่หน้าที่ของคนออกนโยบาย
ในทางกลับกัน ประเทศที่มีแนวโน้มจะถือ just-world beliefs น้อยกว่า เช่น สิงคโปร์ หรือประเทศในยุโรปหลายประเทศ มักมีทัศนคติที่แตกต่างออกไปต่อความเหลื่อมล้ำในสังคม ตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่า “ถ้าคุณเกิดมาจน นั่นไม่ใช่เพราะคุณขี้เกียจ แต่เป็นเพราะคุณโชคร้าย” ความคิดแบบนี้นำไปสู่การยอมรับว่า ความเหลื่อมล้ำคือผลของโชคและโครงสร้าง มากกว่าความสามารถหรือความพยายามของแต่ละบุคคล
เมื่อสังคมยอมรับว่าความโชคร้ายไม่ได้เป็นความผิดของใคร รัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ที่เกิดมาในจุดที่เสียเปรียบมากกว่าปกติ นี่คือเหตุผลที่ประเทศเหล่านี้มักมีระบบสวัสดิการที่แข็งแรง มีมาตรการรองรับคนเปราะบาง และให้ความสำคัญกับการป้องกันผลกระทบเชิงลบจากนโยบายอย่างรอบด้าน
เพราะฉะนั้น เวลาที่มีนักการเมืองยกตัวอย่างการเปิดคาสิโนในประเทศสิงคโปร์ เราต้องไม่ลืมว่า สิงคโปร์ไม่ได้แค่ “เปิดคาสิโน” แล้วปล่อยให้คนในประเทศจัดการตัวเอง แต่เขาวางระบบป้องกันผลกระทบไว้ล่วงหน้าอย่างรัดกุม เช่น มีการเก็บค่าเข้าเฉพาะคนสิงคโปร์, มีระบบแบนตัวเองและแบนโดยครอบครัว, มีองค์กรดูแลปัญหาการพนันโดยเฉพาะ และที่สำคัญรัฐไม่โทษเหยื่อ แต่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนธรรมดา
มันจึงเกิดเป็นคำถามว่า แล้วเมืองไทยล่ะ เรามี safeguards อย่างนี้ไหม เรามีระบบแบนตัวเองหรือให้ครอบครัวแบนคนที่เสี่ยงติดการพนันไหม? เรามีหน่วยงานเฉพาะที่คอยดูแลและประเมินผลกระทบทางสังคมจากการพนันแบบจริงจังหรือเปล่า? เรามีมาตรการป้องกันคนเปราะบางไม่ให้ถูกดูดเข้าไปในวงจรหนี้พนันไหม?
เท่าที่ผมทราบ เรายังไม่มีการออกแบบ safeguards ที่ควรจะเป็น “ลำดับความสำคัญอันดับต้น ๆ” เวลาที่พูดถึงนโยบายการเปิดคาสิโนในประเทศไทยเลยด้วยซ้ำ
ซึ่งสำหรับผม มันสะท้อนความเชื่อลึกๆแบบ “ตัวใครตัวมัน” ที่ฝังอยู่ในวิธีคิดของคนที่ผลักดันนโยบายนี้ ความเชื่อที่ว่า ถ้าคุณเลือกจะเล่น คุณก็ต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะต้องป้องกันหรือเยียวยา
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี