คนเชียงรายไม่ทน-รวมตัวจี้รัฐบาลไทยหาวิธีปิดเหมืองแร่ต้นน้ำ-จัดกิจกรรมรณรงค์หยุดฆาตกรรมแม่น้ำกก-แม่น้ำสายทำลายอนาคตลูกหลาน ผู้เชี่ยวชาญหวั่นลุ่มน้ำเชียงรายกลายเป็นแหล่งมลพิษใหญ่
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 ที่บริเวณสวนตุง อ.เมือง จ.เชียงราย เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดเชียงรายจัดกิจกรรมรณรงค์หยุดเหมืองแร่ต้นแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย โดยมีการปราศรัยให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ที่แม่น้ำกกและแม่น้ำสายปนเปื้อนสารโลหะหนัก มีการตั้งโต๊ะให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อและเขียนโปสการ์ดถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อหาวิธียุติการทำเหมือง นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีและศิลปะการแสดงสด
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า เป็นอันตรายที่ยิ่งใหญ่ของคนเชียงรายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนที่แม่น้ำสำคัญถูกทำลายจากการทำเหมืองแร่จนปนเปื้อนสารพิษและไม่สามารถใช้การได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนเชียงรายต้องรับรู้ว่าแม่น้ำกกและน้ำสายกำลังจะตายและถูกกระทำจากฝีมือใคร และต้องร่วมกันรณรงค์ โดยวันที่ 5 มิถุนายน จะมีการรวมตัวกันครั้งยิ่งใหญ่ในวันสิ่งแวดล้อมสากล
“ครั้งนี้เหมือนเป็นการฆ่าลูกฆ่าหลาย ฆ่าอนาคตของบ้านเมือง อยากให้ทุกคนช่วยกันส่งข่าวและร่วมกันปกป้องแม่น้ำ ช่วยกันหยุดการฆาตกรรมแม่น้ำไว้ให้ได้”นายนิวัฒน์ กล่าว
น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.)กล่าว่าแม่น้ำกำลังเปื้อนพิษ เราเคยหยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขงไว้ได้ แต่วันนี้แม่น้ำกก แม่น้ำสายรวมถึงแม่โขงกำลังปนเปื้อนสารพิษโดยมีแหล่งกำเนิดอยู่ในพื้นที่กองกำลังว้าที่ไม่มีกฎหมายบังคับใช้ โดยมีการเปิดหน้าดินถึง 40 จุด และปีนี้เป็นเพียงปีที่ 2 ที่เกิดเหตุการปล่อยสารพิษ หากยังปล่อยไปเช่นนี้สารพิษจะลงแม่น้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ทำให้คิดถึงวันที่น้ำท่วมใหญ่เชียงรายเมื่อกันยายนปีที่แล้ว มีดินโคลนมาด้วย เหล่านั้นจะมีสารพิษปนมาด้วยหรือไม่ เราต้องมาเผชิญความเป็นจริงว่าต้นน้ำมีเหมืองแร่ ดังนั้นรัฐบาลต้องหาวิธียุติเหมืองที่ต้นน้ำในทันทีซึ่งทางสากลถือว่าเหมืองเหล่านี้เป็นเหมืองผิดกฏหมาย เป็นอาชญากรรมทางธรรมชาติ”น.ส.เพียรพร กล่าว
นายสืบสกุล กิจนุกร อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การรวมตัวครั้งนี้เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของชาวเชียงราย ที่มีปัญหารุมเร้าเพิ่มชขึ้นเรื่อยๆ มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นกำลังพังยับเยิน แพอาหารไม่มีคนเที่ยว พ่อค้าแม่ค้าเป็นหนี้สิน ธุรกิจโรงแรมหลายแห่งต้องเพิ่มต้นทุนเอาน้ำของโรงแรมตัวเองไปตรวจเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ร้านอาหารหลายแห่งต้องงดซื้อผักจากเกษตรกรเพราะใช้น้ำกกรดต้นไม้ ชาวประมงต้องสูญเสียอาชีพ ปลาแม่น้ำกกขายไม่ได้
“การแก้ไขปัญหาเพียงทุกวันนี้เป็นเพียงแค่รับมือเท่านั้น หน่วยงานต่างๆแค่เอาน้ำไปตรวจ แต่ที่เราต้องการมากกว่านั้นคือเราจะหยุดแหล่งกำเนิดมลพิษได้อย่างไร เราจะหยุดเหมืองในพื้นที่ว้าในพม่าได้อย่างไร เราจะหยุดเหมืองที่บริษัทจีนเข้าไปทำบริเวณต้นน้ำได้อย่างไร หากเราไม่แสดงตัวตนว่าเราไม่ยอมอีกแล้ว น้ำท่วมที่แม่สายเป็นตัวอย่างว่าเราต้องการปิดเหมืองทั้งหมดอย่างถาวาร ในวันที่ 5 มิถุนายนซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เราจะรวมตัวกันยื่นหนังสือผ่รนรัฐบาลไทยไป ยังรัฐบาลจีน พม่าและว้า”นายสืบสกุล กล่าว
น.ส.สมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยอิสระกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวเชียงรายเป็นประเด็นใหญ่มาก เรายังไม่เคยเจอกรณีที่ใหญ่ขนาดนี้ในเรื่องการปนเปื้อนสารพิษในธรรมชาติ ตอนแรกได้ยินแค่เหมืองทองคำต้นน้ำก็ตกใจแล้ว แต่ที่ตกใจกว่าคือมีการทำเหมืองแรร์เอิร์ธด้วย โดยเปิดหน้าดินมหาศาลเพื่อให้ได้แรร์เอิร์ธ เราเป็นประเทศปลายน้ำจึงน่ากังวลเพราะในพื้นที่นั้นไม่มีกฎหมายควบคุม เราอยู่ในสถานการณ์ที่รับรู้ข้อมูลน้อยมาก อยากเรียกร้องให้รัฐบาลหาข้อมูลว่ามีเหมืองแร่อะไรบ้างที่ต้นน้ำ มีการปล่อยสารพิษอะไรบ้าง ประชาชนต้องทำแผนที่ความเสี่ยง เพราะไม่สามารถรอให้หน่วยงรัฐมาตรวจและบอกเราได้ แต่เราทุกคนต้องช่วยกัน เราต้องการชุดตรวจเพื่อร่วมกันบันทึกข้อมูล
ผศ.เสถียร ฉันทะ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่าตอนนี้เราไม่รู้ว่าสารหนูสารตะกั่วจะมีผลต่อสุขภาพยอย่างไร แต่อีก 5 ปีข้างหน้า หากไม่มีการแก้ไข คนเชียงรายจะเริ่มเจ็บป่วย สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรที่จะเรียกร้องให้คนที่ทำมลพิษหยุดปล่อยสารพิษและฟื้นฟูระบบนิเวศ ตนเชื่อว่าสารโลหะหนักไหลไปกับน้ำหมดแล้ว เข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม สารโลหะหนักต่างๆเข้าไประบบห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นเราต้องหยุดแหล่งกำเนิดมลพิษในเมียนมา
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวว่า ปัญหาที่ใหญ่มากคือเรื่องการปกปิดข้อมูลและปิดกั้นไม่ให้ประชาชนรู้ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่อะไรบ้าง ใครเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ แต่วันนี้คนเชียงรายกำลังเดือดร้อนและแม่น้ำกำลังย่อยยับ ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องจัดการปัญหาโดยให้ข้อเท็จจริงกระจ่าง สิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำสาย รวก กกและโขงเกิดขึ้นจากอะไร อย่าแก้ปัญหาง่ายๆโดยการสร้างฝายดักตะกอนซึ่งยิ่งทำให้การแพร่กระจายมลพิษกว้างไปอีกก็ได้
นส.เพ็ญโฉมกล่าวว่า อาจต้องอาศัยกลไกระดับอนุภูมิภาคซึ่งดึงรัฐบาลจีนต้องเข้ามาด้วยในการแก้ปัญหา และเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคนเชียงรายไม่ช่วยกัน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน การเยียวยาจะเกิดขึ้นได้หากทุกคนต้องลุกขึ้น และหากไม่รีบแก้ในวันนี้ ลุ่มน้ำในเชียงรายจะกลายเป็นแหล่งมลพิษที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบเจอมา
น.ส.นิอร สิริมงคลเลิศกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนากล่าวว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำที่เราใช้หุงข้าวจะมีปัญหา อยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้ ทุกวันนี้ที่ลุ่มน้ำกกยังไม่มีระบบเตือนภัย เราอย่านอนรอความตายจากภัยเงียบของสารหนู เราต้องรวมพลังกันรณรงค์และเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 5 มิถุนายน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี