รร.กทม. พัฒนาการศึกษา 4 แนวทาง ยกระดับคุณภาพ-ดึงเด็กเข้าระบบ แก้วิกฤตเด็กไม่ได้เรียน
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางพัฒนาการศึกษาโรงเรียนสังกัดกทม. ว่า สิ่งสำคัญของการพัฒนาการศึกษา คือการพัฒนาคน จากเดิมการเรียนรู้ในโรงเรียนอาศัยครูเป็นศูนย์กลาง แต่ปัจจุบันกทม. ปรับเปลี่ยนให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ยึดความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก ให้นักเรียนเป็นเจ้าของเวลาเรียน ส่วนครูทำหน้าที่เป็นโค้ช ซึ่งแนวทางนี้มีการพูดถึงกันมานานแล้ว แต่การดำเนินการต้องพัฒนาด้านอื่นควบคู่ไปด้วย ได้แก่ 1. ลดภาระครู กทม.ได้จ้างธุรการทำงานเอกสาร จ้างรปภ. เพื่อให้ครูไม่ต้องเข้าเวร สามารถลดการทำเอกสารการเงิน และ เพิ่มครูที่มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และสวัสดิการบ้านพักครู ลดการย้ายออกจากพื้นที่ อุดช่องว่างต่างๆ เพื่อให้ครูใช้เวลากับเด็กมากขึ้น 2. พัฒนาครู โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ในปี 2568 กทม.ตั้งเป้าพัฒนาครูแกนนำด้านเทคโนโลยีจำนวน 1,400 คน ให้สามารถออกแบบหลักสูตร สื่อการสอน และวัดผลด้วยเทคโนโลยีได้ เป้าหมายทุกโรงเรียนในสังกัดกทม. ต้องมีครูแกนนำด้านนี้ โดยจะสร้างโค้ช 120 คน เพื่อพัฒนาครูแกนนำ รวมถึงจัดทำโครงการก่อการครู เน้นให้ครูเข้าใจความเป็นครูมากขึ้น
3. นำเทคโนโลยีมาใช้ กทม.มีนโยบายห้องเรียนดิจิทัล เริ่มนำร่องปี 2566 ที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน ปรากฏว่าผลการเรียนดีขึ้นทุกวิชา ปี 2567 ขยายเพิ่มเป็น 10 โรงเรียน และในปี 2568 ได้รับงบประมาณจัดทำห้องเรียนดิจิทัล ระดับชั้น ป.4 และ ม.1 ทั้ง 437 โรงเรียนกทม. นอกจากนี้ ยังใช้ AI มาช่วยสอน เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ช่วยฝึกพูดฝึกเขียน สามารถฝึกเด็กได้พร้อมกันและทั่วถึงทุกคนทั้งเด็กเก่งและไม่เก่ง จากการทดลอง 6 โรงเรียน ในห้องเรียนที่มีการเรียนดีที่สุด พบว่า ภาษาอังกฤษดีขึ้นร้อยละ 37 ซึ่งในปี 2568 จะขยายให้ครบทุกโรงเรียน นอกจากนี้ยังใช้ AI มาช่วยเสริมศักยภาพและพัฒนาการสอนของครู นำร่องไปแล้ว 2 โรงเรียน และ 4. การปรับหลักสูตร ปี 2567 กทม.ปรับหลักสูตรในรอบ 16 ปี โดยลดเวลาเรียนวิชาหลักในห้อง เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัตินอกห้องมากขึ้น เช่น ทำกิจกรรม โครงการต่าง ๆ ให้เด็กได้ลงมือทำจริง นอกจากนี้ยังเพิ่มวิชาการเงิน และวิชาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ เป็นครั้งแรกโดยร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เป็นต้น รวมถึงเปลี่ยนการประเมิน จากการประเมินผลรายวิชา เป็นการประเมินทักษะและสมรรถนะ ซึ่ง 4 แนวทางยกระดับคุณภาพการศึกษาดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการแล้ว อยู่ระหว่างขยายให้ครบทุกโรงเรียน
นอกจากนี้ ในด้านการพัฒนาเด็กแรกเกิด จากข้อมูลกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า เด็ก 0-6 ขวบ มีจำนวนประมาณ 300,000 คน 1 ใน 4 ได้รับการศึกษา ส่วน 3 ใน 4 ยังไม่รู้เรียนที่ไหน ซึ่งกทม. ต้องนำเด็กที่ยังไม่ได้เรียนหนังสือเข้าระบบการศึกษา โดยจัดทำโครงการ BookStart กำหนดให้เด็กที่เกิดในโรงพยาบาลสังกัดกทม. 8 แห่ง ได้รับหนังสือนิทาน 3 เล่ม และคู่มือความเป็นแม่ เพื่อเตรียมตัวเป็นแม่และเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องมากขึ้น ส่วนเด็กอายุ 1.5-3 ขวบ เน้นการปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ดีขึ้น เริ่มรับเด็กตั้งแต่ 1.5 ขวบ โดยปัจจุบันได้เพิ่มเงินเดือนครูในรอบ 12 ปี เพิ่มงบประมาณเด็กรายหัว ค่าอาหาร ค่าวัสดุ จัดทำหลักสูตรแนวทางการสอนกลางให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในอนาคตจะมีการร่างข้อบัญญัติ เพื่ออุดหนุนศูนย์เด็กเล็กที่อยู่นอกชุมชน โดยจะเสนอสภากทม.ในสมัยหน้าต่อไป ส่วนเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป ปัจจุบันได้ขยายให้โรงเรียนสังกัดกทม.รับเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จากเดิม 4 ขวบ ในปี 2567 ดำเนินการแล้ว 191 โรงเรียน ในปี 2568 เพิ่มเป็น 312 โรงเรียน จะมีเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาเพิ่มประมาณ 9,400 คน นอกจากนี้ ยังมีการทำห้องปลอดฝุ่น 1,966 ห้อง พัฒนาหลักสูตรปฐมวัย ตามแนวทาง Play-based Learning ไม่เร่งอ่านเขียน รวมถึงมีการเพิ่มสนามเด็กเล่นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
"ช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตคือ 0-8 ปี เพราะมีพัฒนาการสูงมาก โดยเฉพาะการพัฒนาสมองช่วง 3-6 ปี จากข้อมูล กสศ. วิจัยว่า ช่วงอายุ 3-5 ปี หลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด ขณะที่ตัวเลขจากทะเบียนราษฎร์มีคนเกิดประมาณปีละ 50,000 คน นับช่วงอายุ 0-6 ปี มีประมาณไม่เกิน 300,000 คน จากการนับเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนเอกชน มีประมาณ 70,000 คน เทียบแล้วประมาณ 1 ใน 4 คนที่อยู่ในโรงเรียน ไม่รู้ว่าอีก 3 คนอยู่ไหน เป็นปัญหาวิกฤตมาก การพัฒนาต้องดึงเด็กเข้าระบบให้เร็ว ให้เด็กอยู่ในสถานภาพหรือคุณภาพที่ดีขึ้น ศูนย์เด็กต้องดี โรงเรียนต้องดี" รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
036
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี