ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม สบส. อย. สสจ.ชลบุรี สสจ.นนทบุรี และสภาการแพทย์แผนไทย รวบสารพัดกำมะลอ 8 หมอปลอม 3 เภสัชเก๊ 2 คลินิกเถื่อน นักจัดกระดูก ดาว tiktok โดนด้วย
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.สำเริง อำพรรณทอง, พ.ต.อ.พัฒนพงศ์ ศรีพิณเพราะรอง ผบก.ปคบ., สภาการแพทย์แผนไทย โดย นายชนาณัติ แสงอรุณ เลขาธิการสภาการแพทย์แผนไทย, พร้อมด้วยกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายการเมือง, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา,
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี โดย นพ.กฤษณ์ สกุลแพทย์นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี โดย นพ.ปริพนท์ จุลเจิม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ได้ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการระดมกวาดล้างแพทย์เถื่อน จำนวน 8 ราย และเภสัชกรเถื่อน จำนวน 3 ราย ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และชลบุรี
พฤติการณ์สืบเนื่องจากจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และสภาการแพทย์แผนไทย อีกทั้งได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ให้ตรวจสอบบุคคลที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์กระทำการรักษาโรค และฉีดเสริมความงามให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงให้ตรวจสอบร้านขายยากลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติการณ์ใช้พนักงานร้านยาที่ไม่ใช่เภสัชกร ขายยาให้กับประชาชนทั่วไป
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ทำการสืบสวนพบว่า มีบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์และเภสัชกรหลายรายในพื้นที่หลายจังหวัดลักลอบใช้สถานที่ต่างๆ เปิดรับการรักษาและขายยาให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปจริง จึงนำมาสู่การปฏิบัติการร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และสภาการแพทย์แผนไทย ระดมกวาดล้างหมอเถื่อน สถานพยาบาลเถื่อน และเภสัชกรเถื่อน ในห้วงระหว่างวันที่ 21 – 26 พฤษภาคม ดังนี้
1. หมอเถื่อน สถานพยาบาลเถื่อน ในพื้นที่ จ .ชลบุรี จ.นนทบุรี และ กทม. รวมจำนวน 8 จุด รายละเอียดดังนี้
1.1. สถานพยาบาลสำหรับตรวจรักษาโรคทั่วไปแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จับกุม นาย ทรงยศ (สงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี ผู้ทำการตรวจรักษา ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.2. คลินิกเวชกรรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเปิดให้บริการรักษาตรวจรักษาโรคทั่วไป จับกุม น.ส.วริยา (สงวนนามสกุล) อายุ 52 ปี ผู้ทำการตรวจรักษาผู้ป่วย ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.3. คลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จับกุม น.ส.เทียนทอง (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี และ น.ส.กมลเนตร (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ผู้ให้บริการฉีดวิตามินบำรุงผิวกับผู้มารับการรักษา ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.4 คลินิกแห่งหนึ่งบริเวณ ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จับกุม น.ส.พุทธรัตน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ยา ฉีดให้กับประชาชน ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.5 คลินิกแห่งหนึ่งบริเวณ ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี จับกุม น.ส.เจษฎา (สงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี ผู้นำผลิตภัณฑ์ยา ฉีดให้กับประชาชน โดยสถานพยาบาลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการและใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลแต่อย่างใด มีการติดเลขที่ใบอนุญาตคลินิกเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นคลินิกที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.6 ร้านนวดเพื่อสุขภาพบริเวณ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร จับกุม นายสุรชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 44 ปี อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีผู้ติดตามใน TikTok จำนวน กว่า 180,000 คน ผู้ทำการตรวจรักษาโรคไหล่ติด โดยวิธีการนวด ดึง และดัดกระดูก ให้ผู้เข้ารับการรักษาโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับใบรับอนุญาต”
1.7 คลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งบริเวณแขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จับกุม น.ส.อภิชญานันท์ (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี ซึ่งนำเครื่องมือยิงเลเซอร์กำจัดขนให้ผู้รับการรักษาโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยเครื่องยิงเลเซอร์นั้นจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผู้ใช้จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.8. คลินิกแห่งหนึ่งบริเวณ พระราม 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร จับกุม น.ส.ฐิติตาฯ ( สงวนนามสกุล ) อายุ 30 ปี ผู้ทำการตรวจรักษาภายในสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินสถานพยาบาล ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต”
รวมตรวจค้น 8 จุด โดยเป็นสถานพยาบาลเถื่อน จำนวน 2 แห่ง, จับกุมผู้ต้องหา 9 ราย โดยเป็นแพทย์เถื่อน 8 ราย แพทย์จริงที่ทำการรักษาในสถานพยาบาลเถื่อน 1 ราย พร้อมตรวจยึดของกลาง เช่น ยาแผนปัจจุบัน ยาขึ้นไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ รวมทั้งพยานหลักฐานอื่นๆ รวมจำนวน 176 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก. ปคบ. ดำเนินคดี
โดยผู้ที่ทำหัตถการให้หรือให้การรักษาต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในส่วนผู้ที่ทำการนวดรักษาต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งผู้ต้องหาที่แอบอ้างเป็นแพทย์ทำการรักษาเหล่านี้ ส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานในสถานพยาบาลหรือคลินิกเสริมความงามมาก่อน จึงพอมีความเข้าใจในการทำหัตถการ และสวมรอยเป็นแพทย์ให้การรักษาแก่ประชาชนทั่วไป และที่น่าตระหนกเป็นอย่างยิ่ง คือ ผู้ต้องหาบางรายจบการศึกษาเพียงมัธยมศึกษาปีที่ 6 บางรายจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ป.ว.ส.) เท่านั้น ซึ่งสถานที่ที่แพทย์ปลอมเหล่านี้ให้การรักษา ไม่ได้เป็นสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตหรือเป็นคลินิกเถื่อน ยิ่งเป็นเพิ่มความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนผู้เข้ารับบริการ และการปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการรักษา ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. กรณีสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พ.ร.บ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556 ฐาน "ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์แผนไทยประยุกต์โดยไม่ได้รับอนุญาต" ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ร้านยาที่ขายยาให้ประชาชนทั่วไปโดยไม่มีเภสัชกร
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการจับกุมกลุ่มร้านขายยาน้ำ แก้แพ้ แก้ไอ รวมถึงการขยายผลจับกุมโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2568 นี้ เดือนมกราคม และเดือนเมษายน ที่ผ่านมาได้ร่วมกันทลายโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอมจำนวน 2 แห่ง และในการดำเนินงานครั้งนี้ อย.ได้ประสาน ปคบ.ส่งข้อมูลร้านขายยากลุ่มเสี่ยง แก้แพ้ แก้ไอ ให้กลุ่มวัยรุ่นไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จึงได้ร่วมกันตรวจค้นในครั้งนี้
โดยในวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ อย. ได้เข้าตรวจสอบร้านขายยา ภายในซอยเสือใหญ่อุทิศ แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 จุด
โดยร้านยาในกลุ่มนี้ บางร้านทราบดีอยู่แล้วว่าแก้ยาไอที่จำหน่ายให้กับกลุ่มวัยรุ่นไปนั้นเจตนานำไปผสมกับน้ำกระท่อมเพื่อใช้เป็นสารเสพติด มีพฤติการณ์ในการจูงใจกลุ่มวัยรุ่นให้ซื้อยาแก้ไอมากขึ้น โดยจัดทำระบบสมาชิก เช่น สมาชิกทั่วไป ต้องมียอดซื้อ 15 แถม 1 ขวด จะสามารถสะสม 1 แต้ม เมื่อครบ 15 แต้ม หรือซื้อ 225 ขวด โดยยอดซื้อแบบสมาชิกทั่วไปต่อเดือนประมาณ 13,000 – 15,000 จะได้เลื่อนสถานะเป็นสมาชิกระดับ VIP เมื่อเป็นสมาชิกระดับ VIP แล้วจะต้องซื้อ 12 ขวดจะได้รับแถม 1 ขวด โดยต้องมียอดซื้อต่อเดือนประมาณ 8,000 - 10,000 บาท เพื่อคงสถานะ VIP ทำให้ยาเสพติดประเภท 4X100 นี้แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางรวดเร็วยิ่งขึ้น และบางร้านยังตรวจพบว่ามีการขายยาหมดอายุหรือยาเสื่อมคุณภาพให้กับประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จับกุมผู้ที่ขายยาไม่ใช่เภสัชกร จำนวน 3 ราย ได้แก่ น.ส.พรรณ์นิภา (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี , นายธนทัศ (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี และ น.ส.มาซีเตาะ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ในข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ต้องหาที่ขายยาให้แก่ประชาชนนี้ มี 2 ราย จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนอีกหนึ่งราย จบเพียงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งร้านขายยาทั้งหมดไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน พบผลิตภัณฑ์ยาผิดกฎหมายและยาเสื่อมคุณภาพรวม จำนวน 3,378 ชิ้น และพบยาปลอม 317 ขวด จึงได้ตรวจยึดของกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
ในส่วนโทษของ พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มีความผิดดังนี้
ผู้รับอนุญาต มีความผิดตามมาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงห้าพันบาท
ผู้รับอนุญาต มีความผิดตามมาตรา 26(6) ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
และสำหรับร้านที่พบมีการขายยาปลอมจะมีความผิด ตามมาตรา 72(1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเข้มงวดในการป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนทั้งด้านการให้บริการสุขภาพและด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน หรือไม่ปลอดภัย ซึ่งปฏิบัติการครั้งนี้ ขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจสอบสวนกลาง ที่บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดซึ่งมีทั้งสถานประกอบการและบุคคลที่ให้บริการโดยไม่มีความรู้ ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือสร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนผู้รับบริการจากคลินิกเถื่อนและหมอเถื่อน รวมไปถึงการจัดการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการกวาดล้างตั้งแต่ต้นตอของปัญหายาเสพติด ด้วยการจับกุมร้านขายยากลุ่มเสี่ยงและเภสัชเถื่อนที่มีการขายยาน้ำ แก้แพ้ แก้ไอให้กับวัยรุ่นนำไปผสมสารเสพติดและน้ำกระท่อม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มเยาวชน และก่อให้เกิดปัญหาภัยสังคมตามมาเป็นลำดับ
กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง เพื่อจัดการปัญหาทั้งที่เป็นภัยต่อสังคมและภัยต่อสุขภาพ รวมไปถึงการปราบปรามผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการลักลอบนำเข้าหรือผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ความปลอดภัยของประชาชนแล้ว ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติอีกด้วย
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ด้วยกระแสนิยมในด้านสุขภาพและความงามมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีสถานพยาบาลประเภทไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (คลินิก) มากกว่า 40,000 แห่ง จึงอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีแอบเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ลักลอบเปิดคลินิกเถื่อน หรือแอบอ้างเป็นแพทย์ มาให้บริการ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ก่อนรับบริการทางการแพทย์ทุกประเภทขอให้ตรวจสอบหลักฐานสำคัญ 5 อย่าง ประกอบด้วย 1) ป้ายชื่อคลินิกต้องแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก 2) มีการแสดงใบอนุญาตเปิดกิจการคลินิก เลขใบอนุญาตต้องตรงกับเลขที่ที่ติดที่ป้ายชื่อคลินิก 3) มีการแสดงใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลซึ่งต้องมีการระบุชื่อผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะและต้องมีความเป็นปัจจุบัน 4)มีการแสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมคลินิกที่เป็นปีปัจจุบัน และ 5)มีการแสดงหลักฐานของแพทย์ที่ให้บริการในคลินิก โดยมี ชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายติดที่หน้าห้องตรวจ โดยสามารถตรวจสอบชื่อคลินิกได้ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (www.mrd-hss.moph.go.th) และตรวจสอบชื่อแพทย์ได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) หากไม่พบหลักฐานข้างต้นหรือขาดหรือไม่ครบถ้วนขอให้หลีกเลี่ยงการรับบริการและแจ้งมาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 เพื่อดำเนินการตรวจสอบ
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในการตรวจจับครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการตรวจเฝ้าระวังร้านขายยากลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติการณ์ขายยาน้ำ กลุ่มแก้แพ้ แก้ไอให้กับวัยรุ่น กลุ่มเยาวชน โดยนิยมเปิดร้านในแหล่งที่เป็นย่านการศึกษาหรือในชุมชน ซึ่งมีลูกค้าเฉพาะกลุ่มและมักเปิดในช่วงเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ โดย อย.ได้ร่วมกับ กองกำกับการ 4 บก.ปคบ. ในการกวาดล้างร้านขายยาเครือข่าย ที่มีการขอใบอนุญาตขายยาเพื่อบังหน้า มีการขอใบอนุญาตหลายใบโดยบุคคลเดียวกัน เพื่อหวังโควต้าการรับซื้อยาน้ำแก้ไอ จากโรงงานผู้ผลิตโดยลักษณะของร้านเหล่านี้ ภายในร้านมีรายการยาอื่นอยู่น้อยรายการ และมีการซุกซ่อนยาแก้ไออยู่ในลิ้นชัก และตู้ทึบ หรือเก็บไว้หลังร้าน และคนขายยาไม่ใช่เภสัชกร นอกจากนี้ ยังพบว่ายาแก้ไอที่ตรวจพบในร้านเหล่านี้เป็นยายี่ห้อเดียวกัน ซึ่งเป็นที่นิยมนำไปใช้ในทางที่ผิด คือ ใช้ผสมในสูตรสี่คูณร้อย และยังพบยาน้ำแก้ไอปลอมขายอยู่ในร้านด้วย
ที่ผ่านมา อย. ได้เฝ้าระวังกลุ่มยาน้ำแก้ไอ ซึ่งเป็นยาอันตราย ที่ต้องควบคุมการผลิตและขายให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยแหล่งที่จะขายยาดังกล่าวได้ต้องเป็นร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และผู้จ่ายยาต้องเป็นเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการของร้านเท่านั้น นอกจากนี้ อย.ได้มีประกาศให้ผู้รับอนุญาตผลิตและขายยาดังกล่าวไปยังร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตไม่เกินเดือนละ 300 ขวด ต่อแห่ง และร้านขายปลีกสามารถขายให้แก่ประชาชนได้ครั้งละไม่เกิน 3 ขวด สำหรับร้านที่ตรวจพบพฤติการณ์ขายยาอันตรายนำไปใช้ในทางที่ผิดนั้น นอกจากผู้ขายจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรมแล้ว ผู้รับอนุญาตจะต้องถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลาอย่างน้อย 120 วัน อีกด้วย
ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line: @FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ได้รับเบาะแสบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ทำการรักษาโรค และทำหัตถการฉีดเสริมความงามให้ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน ก่อนเข้ารับการรักษาโรค หรือเสริมความงามตามสถานพยาบาลต่างๆ ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตของคลินิกและแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนในเบื้องต้น เพราะอาจทำให้ได้รับความเสี่ยงในการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องจากบุคลากรที่ไม่ใช้แพทย์ ในกรณีการเสริมความงามหากทำการฉีดรักษาโดยบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์อาจทำให้ได้รับความเสี่ยงต่อการรักษาที่ผิดพลาด และเกิดผลกระทบกับใบหน้าได้ง่าย บางรายอาจถึงขั้นเสียโฉมยากต่อการแก้ไข และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด
ในส่วนตรวจสอบร้านขายยากลุ่มเสี่ยงข้างต้น กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับ อย. ตรวจสอบ เฝ้าระวังการผลิตและขายกลุ่มยาน้ำแก้ไอ ยาแก้แพ้ ซึ่งเป็นยาอันตรายไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มวัยรุ่นในลักษณะสารเสพติดที่เรียกว่า “4x100” เพื่อหวังผลให้เกิดอาการมึนเมา รวมถึงมีการลักลอบขายทางอินเตอร์เนตมาโดยตลอด อาจเสี่ยงได้ยาปลอมที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีตัวยาเป็นส่วนผสม อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ไม่หาย และอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต ผู้ผลิตและขายยาจะต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่ายาที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดมีมาตรฐาน และรักษาโรคได้จริง ทั้งนี้ บก.ปคบ.จะดำเนินกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถึงที่สุด โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิดสถานพยาบาลหรือแพทย์ที่ต้องสงสัยว่าอาจอยู่ลักษณะหมอเถื่อน หรือสถานที่ลักลอบผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี