อึ้ง! คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะจาก ‘ไตเรื้อรัง’ เพิ่ม 3 เท่า ในรอบ 30 ปี สูงสุดแซงมะเร็ง-หลอดเลือดหัวใจ สสส. สานพลัง Rocket Media Lab พัฒนารายงานสถานการณ์เด่นทางสุขภาพ “ไตแลนด์: เมื่อการกินนัว กินหวาน เสี่ยงสะเทือนไต” เปิดข้อเท็จจริง มุ่งขยายความร่วมมือภาคีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เฝ้าระวังตรงจุด
นางสาวนิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ของไทย โรคมะเร็งเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุด ในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 20% ของการสูญเสียปีสุขภาวะจากโรค NCDs ทั้งหมด รองลงมาเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ 19.3% และโรคไตเรื้อรัง 11.7% แต่เมื่อพิจารณาการสูญเสียปีสุขภาวะ ในช่วง 30 ปี (ปี 2534–2564) พบว่า โรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่มีการสูญเสียปีสุขภาวะเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3.14 เท่า สูงกว่าโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า และ 1.8 เท่าตามลำดับ สสส. จึงร่วมกับ สำนักข่าว Rocket Media Lab บริษัท ร็อกเกต มีเดีย แล็บ จำกัด จัดทำรายงานสถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ตอน “ไตแลนด์: เมื่อการกินนัว กินหวาน เสี่ยงสะเทือนไต” รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์โรคไตและการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อนำผลการศึกษาสู่การกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาปรับพฤติกรรมลดเสี่ยงการเกิดโรคไตเรื้อรังในรายพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ รายงานได้จัดทำในรูปแบบอินโฟกราฟิก 24 หน้า เข้าใจง่าย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.thaihealth.or.th/?p=387778
“สสส. ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพในทุกกลุ่มประชากร จึงได้ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ขยายผลมาตรการชุมชนลดเค็มครบคลุม 77 จังหวัด พัฒนานวัตกรรมเครื่องวัดความเค็มในอาหาร (Salt Meter) พร้อมสนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ใช้เป็นเครื่องมือรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมในระดับชุมชน รวมถึงสื่อสารสาธารณะผ่านแคมเปญ “ลดเค็ม ลดโรค” และ “ลดจิ้ม ลดเค็ม ลดโรค” โดยผลประเมินพบว่า ประชาชนเกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากการบริโภคเค็ม 92% และกระตุ้นการปรับพฤติกรรมลดการบริโภคเค็ม 85.1% มุ่งเป้าบูรณาการความร่วมมือป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการโรค NCDs ที่สัมพันธ์กับการกินเค็มอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการจัดเก็บภาษีโซเดียมอย่างต่อเนื่อง มุ่งสู่การปรับพฤติกรรมการบริโภคที่สมดุล เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน” นางสาวนิรมล กล่าว
นายสันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab บริษัท ร็อกเกต มีเดีย แล็บ จำกัด กล่าวว่า จากการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารจากการเติบโตของตลาดอาหาร 3 ชนิด 1.ขนมขบเคี้ยวรสเค็ม มีมูลค่าตลาด อยู่ที่ 45,328 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มเป็น 50,400 ล้านบาท ในปี 2568 2.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพิ่มการผลิต อยู่ที่ 3,710 ล้านซอง ในปี 2562 เพิ่มเป็น 4,000 ล้านซอง ในปี 2567 3.เครื่องปรุงรส มีมูลค่าตลาด อยู่ที่ 4.57 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 เพิ่มเป็น 5.64 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 สะท้อนพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่มีแนวโน้มบริโภคเค็มเพิ่มขึ้น นำไปสู่การเป็นโรคไตเรื้อรังมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2567 พบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 1,493,931 คน เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 519,618 คน คิดเป็น 34.78% รองลงมาคือ ภาคกลาง 383,242 คน และภาคใต้ 209,603 คน ที่สำคัญภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสียชีวิตจากโรคไตเรื้อรังมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศต่อเนื่อง 5 ปี รวม 4,223,653 คน หรือคิดเป็น 30.1% จากผู้เสียชีวิต 14,027,411 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงควรเป็นพื้นที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
“ไม่เพียงแค่ภาระทางสาธารณสุขที่เกิดขึ้นจากจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปีเท่านั้น แต่กระทบถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลด้านโรคไตเรื้อรัง ในปี 2566 มีแพทย์อายุรศาสตร์โรคไตเพียง 641 คน เท่ากับว่า แพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยถึง 2,331 คน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดเค็มจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรค NCDs ลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประเทศ” นายสันติชัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี