“กรมส่งเสริมการเกษตร” เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพันธกิจ 1.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้ 2.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีขีดความสามารถในการผลิตและจัดการสินค้าเกษตร โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต 3.ให้บริการทางการเกษตรและผลิตปัจจัยทางการเกษตรเพื่อสนับสนุนและจำหน่ายแก่เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และ 4.ศึกษา วิจัย และพัฒนางานด้านการส่งเสริมการเกษตร และบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีรายได้เพิ่มขึ้น” ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงาน “นสพ.แนวหน้า” มีโอกาสได้พูดคุยกับ พีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ถึงความท้าทายของเกษตรกรไทยในปัจจุบัน และบทบาทของกรมฯ ที่จะเข้าไปสนับสนุน
- วันนี้ภาพของแวดวงเกษตรไทยเมื่อเทียบกับในอดีตเป็นอย่างไร? ปัญหาเดิมๆ ยังอยู่หรือไม่? หรือมีเรื่องใหม่อะไรเข้ามาบ้าง? : เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่อง Climate Change (การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ) มีสิ่งบ่งชี้มาเป็นสิบปี แต่เพิ่งแสดงอาการชัดเจนเมื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่น อุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการปลูกพืชอย่างชัดเจน เช่นเรื่องการออกดอกของทุเรียน เราพบและเห็นตรงกันกับชาวสวนว่าทุเรียนจะเคลื่อนการออกดอกไป 1 เดือน เดิมเดือนเมษายนคือจุดพีคของทุเรียนตะวันออก
ทีนี้พออากาศเปลี่ยน อุณหภูมิเปลี่ยน ทำให้ทุเรียนเคลื่อนจุดพีคไปออกเดือนพฤษภาคม แล้วเมื่อก่อนพีคเดือนเดียว แต่ตอนนี้พีคทั้งพฤษภาคมและมิถุนายน ก็อยู่ระดับที่ใกล้เคียงไม่ต่างกันมากนัก แต่ก่อนพอขึ้นมาคือโด่งเลยแล้วพอเดือนมิถุนายนผลผลิตก็แทบจะหมด แปลว่าอุณหภูมิหรือโรคร้อนทำให้การเกษตรเปลี่ยนไป แล้วก็มีงานวิจัยจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลจากโลกร้อนทำให้ภาคเกษตรไทย ประเมินความเสียหายในทุกพืชไว้ 7 – 8 หมื่นล้านบาทต่อปี เมื่อโลกร้อนขึ้น อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง ฟ้าฝนมาไม่ตรงกำหนดหรือบางทีก็มามากเกินไป ก็ส่งผลให้เกิดความเสียหาย
“ยกตัวอย่างปีนี้ 2568 ทุเรียนเขาจะบอกว่าฝนมันตกดี ผลผลิตออกเพียบเลย เพียบจริงแต่ถ้าสังเกตเห็นคุณภาพของทุเรียน ฝนตกในช่วงเก็บเกี่ยว ปลายพฤษภาคม – ต้นมิถุนายน จริงๆ ทุเรียนมันต้องแห้งพอสมควรแล้ว ความหวาน – หอม - มัน จะชัดเจน แต่พอมีฝนบ้าง ทำให้เกรดเนื้อของทุเรียนมันไม่ได้ดี 100% เมื่อก่อนมันอาจจะเกรด A B สัก 90% แต่พอเจอฝนซึ่งก็เป็นผลจาก Climate Change ที่มันไม่ได้แปลว่าร้อนอย่างเดียว มันก็ทำให้เกรด A B เหลืออยู่ที่ประมาณ 70 – 80% ดังนั้นลูกยังเติบโตได้ไหม? ก็เติบโตได้ ถ้าใครไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็มาขายก็ได้
แต่ถามว่าแทนที่จะได้เกรด A เยอะๆ ขาย 100 ลูกได้เกรด A 90 ลูก ลูกละ 1,000 ก็ได้สตางค์เยอะขึ้น แต่เกรดที่มันหายไปก็ทำให้ผลผลิตลดลง หรือลิ้นจี่ ชัดเจนเลยสมุทรสงคราม ปีที่แล้วไม่ออกเลยเพราะความเย็นไม่ถึง พืชอย่างลิ้นจี่ ความเย็นช่วงธันวาคม - มกราคม – กุมภาพันธ์ จะต้องมีความเย็นติดต่อกันต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ประมาณ 20 วันขึ้นไป มันถึงจะเริ่มออกดอก ถ้าอุณหภูมิแบบนี้จบเลย ซึ่งเกษตรกรสมุทรสงครามก็ทำใจแล้ว เขาก็มีความหลากหลายในตัวเอง ไม่ได้ปลูกลิ้นจี่อย่างเดียว”
มาดูที่ตัวเกษตรกรเองก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เมื่อก่อนอายุเกษตรกรเฉลี่ย 40 ปลายๆ แต่วันนี้อายุเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นประมาณ 50 ปลายๆ ทำให้เห็นว่ากำลังแรงงานในภาคเกษตรมีอายุมากขึ้น สูงวัยมากขึ้น ซึ่ง 2 อย่างนี้ไปในทิศทางที่เรียกว่ามีแรงกดดันกับภาคการเกษตรมากกว่าเดิม อากาศก็ไม่เป็นใจ คนก็อายุเยอะขึ้น กำลังลดลง การที่จะออกไปทำไร่ทำนาวันหนึ่ง 5 – 6 ชั่วโมง อย่างในอดีตก็ไม่ไหว ก็เกิดอาชีพใหม่เรียกว่ารับจ้างทำการเกษตร หรือ Service Provider ขึ้นมาโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ลูกหลานเกษตรกรที่มองเห็นภาพธุรกิจ ซึ่งกลุ่มนี้ก็ทำได้ดีพอสมควร
ต้นทุนเรื่องของปุ๋ย เรื่องของน้ำมัน ปรับตัวขึ้นตามระดับของเศรษฐกิจอยู่แล้ว ถือเป็นกลไกตลาดโลก เพียงแต่รัฐบาลก็พอจะกำกับดูแลราคาไม่ให้เอารัดเอาเปรียบกันมากเกินไป อีกเรื่องหนึ่งคือพฤติกรรมการปลูกพืชของเกษตรกรไทยยังใช้เทคโนโลยีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ยังใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลัก ก็เกิดปัญหาว่าพอคนไทยไม่ทำงานในไร่นาแล้ว คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หันไปทำงานที่สบายกว่าเดิม ในขณะที่แรงงานต่างชาติก็เข้ามาอยู่ในภาคเกษตร มีระบบกฎหมายแรงงานก็ว่ากันไป นี่คือพฤติกรรมของเกษตรกร ซึ่งรวมถึงยังปลูกพืชเชิงเดี่ยวอยู่
อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของกฎหมายในการเกษตรของโลก สาเหตุก็มาจากโลกร้อนขึ้น อากาศเปลี่ยนแปลง เชื้อโรคก็แข็งแรงขึ้นหรืออยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นมาใหม่ ส่งผลว่าถ้าเราจะทำให้คนในประเทศได้มีอาหารที่สะอาดปลอดภัยกิน การปลูก การผลิต การแปรรูป มันคงต้องมีมาตรฐาน ความเข้มข้นของมาตรฐานกฎหมายบนโลก ในปัจจุบันจะเข้มข้นกว่าในอดีต นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลง
แล้วความเข้มข้นของเชื้อโรคหรือมาตรฐานที่เพิ่มขึ้นมันส่งผลต่อต้นทุนการผลิต เอาง่ายๆ อย่างโควิด ถามว่าแต่ก่อนเรามีค่าใช้จ่ายเรื่องซื้อแมสก์ - ซื้อที่ตรวจหรือไม่? แต่วันนี้เรามีพวกนี้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไปแล้ว เช่นเดียวกันกับในภาคเกษตร เราต้องปลูกพืช – เลี้ยงสัตว์ให้มีมาตรฐาน มีความปลอดภัยไม่มีเชื้อจากชีวภาพ ไม่มีสารเคมี ก็คงต้องมีการลงทุนในเรื่องการจัดแปลง จัดสวนจัดไร่นาให้สามารถป้องกันสิ่งเหล่านั้น
- ทราบว่าหนึ่งในตลาดหลักของสินค้าเกษตรไทยอย่างสหภาพยุโรป (EU) จะมีมาตรฐานเข้มงวดมากขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น EUDR (การผลิตต้องไม่ทำลายป่าไม้) หรือ CBAM (การผลิตต้องไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ตรงนี้จะกระทบกับภาคเกษตรของไทยมาก – น้อยเพียงใด? : มันก็มีความเหลื่อมล้ำในโลกเช่นกัน ประเทศที่มีความพร้อม บังคับใช้กฎหมายได้ ผู้ประกอบการ เกษตรกรในประเทศที่เขาสามารถผลิตได้ตามนั้นเขาก็สามารถขายสินค้าได้
แต่ในประเทศที่ไม่มีความพร้อม เรียกว่ามีปัญหาในประเทศเช่นกัน ซึ่งเรื่องของการเผา การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็ประกอบด้วยก๊าซคาร์บอน ก๊าซมีเทน ก๊าซอีก 4 – 6 ตัว รวมถึงก๊าซไนตรัสซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไนโตรเจนที่เราใช้ในปุ๋ย ในระบบการผลิตมันเกิดขึ้น เช่น ข้าว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซมีเทนซึ่งมีสัดส่วนสูงพอสมควร ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมหรือครัวเรือนที่มีรถยนต์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าปลูกข้าว แต่ในภาคเกษตรเองเราก็มีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน คือต้องก้าวข้ามให้ได้
“ถามว่าทำไมเราหนีไม่ได้? เพราะมันอยู่ที่คนซื้อ เหมือนรถ EV (ไฟฟ้า) กับรถสันดาป (น้ำมัน) คนที่ซื้อรถ EV ลึกๆ นอกจากประหยัดแล้วเขายังมีความรู้สึกว่าเขาช่วยโลก มันไม่ใช่กระแสนิยม มันเป็นเรื่องที่คนที่มีเหตุและผลเขาจะหันไปใช้สินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นแปลว่าตลาดที่ต้องการสินค้าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมก็จะมีสูงขึ้นเรื่อยๆ จากพันล้านเป็นสองพันล้านเป็นสามพันล้านคนบนโลกใบนี้
แล้วคนกลุ่มนี้ดันเป็นคนที่มีกำลังซื้อ ถ้าเราไม่ขายคนกลุ่มนี้ บอกว่าประเทศเราจะทำลายสิ่งแวดล้อมไปเรื่อยๆ เราไม่สนใจมาตรฐาน ถามว่าคุณจะไปขายใครก่อน? มันก็เกิดปัญหา ฉะนั้นเรื่องของมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ภาคเกษตรเราต้องเดินและก้าวข้ามไปให้ได้ เพียงแต่การจะก้าวข้ามไปถึงตรงนั้นได้รัฐเองต้องมีนโยบายหรือมาตรการบางสิ่งบางอย่างที่จะต้องมาสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถไปถึงตรงนั้นให้ได้”
อย่างเช่นบ้านเราจะส่งเสริมให้คนใช้ EV ก็มีเงินอุดหนุนคันละ 1 แสนบาท อะไรทำนองนี้ จะมีมาตรการด้านการเงินที่จะไปลดต้นทุนให้กับเกษตรกรที่จะสามารถไปในระบบที่จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเช่นกันในภาคการเกษตรที่ในอดีตไม่มี ต้องเข้าใจก่อนว่าโลกกำลังจะเคลื่อนไปอาหารปลอดภัย อาหารที่ตรงตามโภชนาการ และอาหารที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
- ในอนาคตอันใกล้ เช่น ปีงบประมาณ 2569 ที่กำลังจะมาถึง กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายใดที่อยากนำเสนอบ้าง? : บทบาทของกรมส่งเสริมการเกษตร เราคงไม่ได้ลดแลกแจกแถมอะไรมากว่า เป็นครูนอกระบบการศึกษาก็แล้วกัน สิ่งที่เราต้องทำคือ 1.สร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือเกษตรกร 8 ล้านคน ข้าราชการกรมฯ มีหมื่นคน เราคงไม่สามารถไปสอนคน 8 ล้านคนได้พร้อมกัน ปีหนึ่งก็สอนไม่ได้ เรามีโครงการอะไรก็แล้วแต่ อบรมแล้วอบรมอีก กว่าจะครบ 8 ล้านคนความรู้ก็เปลี่ยนไปแล้ว
เราจึงต้องใช้กระบวนการ E – Learning สร้างระบบเข้ามา ทุกคนใช้โทรศัพท์เป็นหมด จะผ่านไลน์ ดูคลิปยูทูบอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เราต้องมาทำอย่างนี้หนักขึ้นเพราะเกษตรกรทุกวันนี้อยากจะรู้ว่าเป็นโรคอะไร กลายเป็นว่าเป็นความรู้ที่มาจากแหล่งที่อาจจะมีอคติ (Bias) บอกความรู้มาสุดท้ายก็ขายปุ๋ย – ขายยาแทรก ดังนั้นภาครัฐเองต้องกระโดดเข้ามาในเวทีนี้เยอะพอสมควร ซึ่ง Learning Platform กรมฯ อาจไม่จำเป็นต้องเปิดคนเดียว เรามีเครือข่าย มีสถาบันการศึกษา ทุกคนพร้อมจะมาทำ
ยกตัวอย่างเช่นเดี๋ยวสิงหาคมนี้จะเปิดหลักสูตรทุเรียนเข้มข้น ทำร่วมกับทาง ม.บูรพา เรียนวันเสาร์ – อาทิตย์ สมัครเข้ามา ค่าเล่าเรียนฟรี อาหารการกินฟรีที่ ม.บูรพา เพียงแต่เดินทางกันมาเอาเอง ไม่มีค่าที่พักให้ อย่างนี้ก็เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเกษตรกร 2.ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ตอนแรกผมก็เข้าใจผิดมาตลอด ผมเพิ่งมาเจอเกษตรกรทุเรียน แต่ก่อนผมไม่อยากให้ข่าว เดี๋ยวจีนรู้ว่าประเทศไทยปลูกเท่าไร แต่พอมาเจอเกษตรกรคนนี้บอกไม่ต้องกลัว เพราะเมื่อจีนรู้เกษตรกรก็ควรรู้ด้วย
“เกษตรกรจะต้องรู้ว่าถ้ามีข่าวเปิดตัวตั้งแต่ต้นๆ ฤดูกาล ปีนี้ทุเรียนเยอะแน่ ถ้าเกษตรกรที่เขาเก่งจะรู้วิธีว่าจะปลูกอย่างไรให้ออกพ้นช่วงพีค เขาจะไปหาเทคนิคในการหนีกัน การหน่วงไปว่าฉันไม่ออกเดือนพีคๆ แน่ ฉันขอให้ไปออกอีก 2 สัปดาห์ ราคาขึ้นพอดี นี่คือข้อมูลที่เกษตรกรต้องการ รู้เรื่องของตลาด เรื่องอนาคตของผู้บริโภค เรื่องฝนฟ้า อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป
เพราะวันนี้การให้น้ำพืช วันหนึ่งอุณหภูมิเปลี่ยนเกือบทุกๆ ชั่วโมง ถ้าขึ้นไปถึง 30 กว่าองศาเซลเซียสเมื่อไหร่พืชจะอยู่ไม่ได้ พืชจะปิดปากใบ พอพืชปิดปากใบ ฉีดน้ำรดน้ำไปเรื่อยก็เปลืองน้ำ ให้ปุ๋ยไปกับน้ำพืชไม่ดึงขึ้นก็เปลืองอีกเช่นกัน ความแม่นยำคือข้อมูลที่เกษตรกรต้องรู้และเอาไปใช้ประโยชน์ สิ่งเหล่านี้กรมฯ จะเน้นหนักมากขึ้นในการที่จะให้ข้อมูลเกษตรกร ไม่ว่าจะผ่านสื่อมวลชน ผ่านแอปพลิเคชั่นอะไรก็ตาม”
โดยเฉพาะแอปฯ Farmbook ที่เป็นทะเบียนเกษตรกร 8 ล้านคน ตอนนี้มีเกษตรกรที่มีแอปฯ อยู่ในมือถือน่าจะประมาณ 4 ล้านคน ครึ่งๆ แล้วและจะเดินหน้าไปเรื่อยๆ 3.เรื่อง E – Service งานบริการที่เราทำหลักๆ คือขึ้นทะเบียนเกษตรกร ก็ต้องทำระบบไม่ให้เกษตรกรต้องเหนื่อยมาหาเจ้าหน้าที่ที่อำเภอ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องเหนื่อยนั่งพิมพ์ เหมือนพนักงานธนาคารที่เมื่อก่อนไปทีก็ต้อง Print สมุดเข้า – ออก ตอนนี้ทุกคนมี E – Banking อยากฝากอยากถอนก็ไปทำกันเองแล้วกัน เพียงแต่เรามาดูความปลอดภัย
หรือการขึ้นทะเบียนวิหาสกิจชุมชน การจัดเกรดวิสาหกิจชุมชน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะทำเป็นงานบริการที่เป็น E – Service ที่จะทำให้มันเป็นดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น 4.การเฝ้าระวังโรคเชิงรุก ปีที่ผ่านเจอปัญหาโรคใบด่าง หนอนหัวดำ ใบร่วงยาง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพลี้ยกระโดดข้าว เยอะแยะมากมาย ผมกำลังจะเปลี่ยนวิธีการเป็นเฝ้าระวังโรคเชิงรุก คือทุกเดือนทีมของกรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องออกไปเก็บข้อมูล เก็บตัวอย่างต้นหมากรากไม้ ไปดูว่าความหนาแน่นของโรคและแมลง เช่น สมมติพื้นที่ 1x1 เมตร มีแมลงกี่ตัว
5.ทำจุดสาธิตศึกษาทดสอบ หรือ Sandbox ซึ่งตรงนี้จะมีตั้งแต่โครงการเกษตรมูลค่าสูงซึ่งปีหน้า (2569) เราจะเดินอีก 200 แปลง แปลงทดสอบเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเดินหน้าใน 9 พืช 9 อย่าง แล้วก็มีเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ อย่างนี้เป็นต้น ที่จะเป็น Sandbox ทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ คือมาทดสอบก่อนแล้วก็รีวิวให้ชาวบ้านดู ถ้าคุณสนใจมาดูงานแล้วก็ไปปรับปรุงประยุกต์ใช้ก็แล้วแต่
และ 6.ภารกิจร่วมบริหาร หรือภารกิจพิเศษในห้วงเวลาหนึ่ง คือบริหาร Demand – Supply โดยเฉพาะสินค้าสำคัญๆ ที่มีผลประโยชน์กับเศรษฐกิจ เช่น ร่วมบริหารผลไม้ในนามฟรุตบอร์ด ร่วมบริหารข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่มีกรรมการต่างๆ แล้วก็อะไรที่เราสามารถช่วยให้เกษตรกรรู้ทิศทางก่อนได้เราก็จะทำให้ รวมถึงเรื่องของการบริหารภัยพิบัติ ฝนตก น้ำท่วม แล้ง เราก็จะมีข้อมูลให้ เรื่องภัยพิบัติเราจะเน้นเชิงป้องกันมากกว่าจะไปสำรวจความเสียหายอย่างเดียว
“อันนี้จะเป็น 6 เรื่องใหญ่ที่ในปี 2569 จะเคลื่อนไปตรงนั้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวในตอนท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี