กทม. โชว์ “ทางเท้าเลียบคลองพร้อมเลนจักรยาน” โครงการขยายจุดเชื่อมต่อเส้นทางจักรยานริมคลองแสนแสบ จ่อทำที่ลาดพร้าว/พร้อมพงษ์/ท่าพระ/สามยอด ตั้งเป้าเชื่อมระบบขนส่งสาธารณะไร้รอยต่อ
วันที่ 7 ก.ค.68 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่นำทีมสื่อมวลชนสัญจร ทางเดินเลียบคลองแสนแสบ ท่าเรือวัดใหม่ช่องลม - ท่าเรือ มศว ประสานมิตรแขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง ให้ข้อมูลโครงการส่วนขยายจุดเชื่อมต่อเส้นทางจักรยานเลียบคลองแสนแสบ ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกในการเดินทางของประชาชนตลอดแนวคลองแสนแสบ รวมถึงส่งเสริมการใช้จักรยานและการเดินเท้าเป็นทางเลือกในการสัญจรในเมืองอย่างยั่งยืน โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และลดปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบควบคู่ไปกับการก่อสร้างทางเดินและทางจักรยาน ตั้งแต่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงเขตหนองจอก ปลายสุดของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
การดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา กทม. ได้ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) พร้อมทางเดินและทางจักรยานแล้วเสร็จ รวมระยะทางประมาณ 60,380 เมตร และปัจจุบัน อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. และทางเดินพร้อมทางจักรยาน ความยาวประมาณ 4,720 เมตร ประกอบด้วย งานปรับปรุงขยายเขื่อน ค.ส.ล. คลองแสนแสบจากบริเวณถนนพระรามที่ 6 ถึงบริเวณสะพานเฉลิมหล้า โครงการก่อสร้างเขื่อนและปรับปรุงเขื่อน ค.ส.ล. คลองแสนแสบจากบริเวณทางด่วนเฉลิมมหานครถึงประตูระบายน้ำคลองตัน และโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและประตูเรือสัญจรคลองแสนแสบตอนคลองบางชัน ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อดำเนินการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. และทางเดินพร้อมทางจักรยาน ความยาวประมาณ 12,700 เมตร ใน 2 ช่วง ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างเขื่อนและปรับปรุงเขื่อน ค.ส.ล. คลองแสนแสบจากบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงบริเวณทางด่วนเฉลิมมหานคร และ 2. โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบ (ระยะที่ 1) จากบริเวณซอยรามคำแหง 185 ถึงบริเวณซอยราษฎร์อุทิศ 37
นอกจากนี้ กทม. ยังมีแผนดำเนินการในระยะถัดไป โดยจะดำเนินการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. และทางเดินพร้อมทางจักรยาน ความยาวประมาณ 17,200 เมตร แบ่งเป็น 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบ (ระยะที่ 2) จากบริเวณซอยราษฎร์อุทิศ 37 ถึงซอยเลียบวารี 32 และ 2. โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบ (ระยะที่ 3) จากซอยเลียบวารี 32 ถึงถนนเชื่อมสัมพันธ์
โครงการ “ทางเท้าเลียบคลองพร้อมเลนจักรยาน” ถือเป็นนโยบายสำคัญของกรุงเทพมหานคร ภายใต้แผนพัฒนา “เดินได้ ปั่นปลอดภัย” ที่ริเริ่มจากเขตพระนครถึงเขตหนองจอก โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ริมคลองแสนแสบและคลองสายรองในเขตเมืองให้เป็นเส้นทางสำหรับการเดินเท้าและปั่นจักรยานอย่างปลอดภัย ครอบคลุมระยะทางรวมกว่า 47,500 เมตร หรือประมาณ 47.5 กิโลเมตร โดยในช่วงต้นของโครงการ ได้ดำเนินการก่อสร้างทางเท้าควบคู่กับแนวเขื่อนริมคลอง พร้อมติดตั้งระบบไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิด และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มีจุดเริ่มต้นที่เขตพระนครถึงเขตหนองจอก และแผนขยายต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ เช่น ลาดพร้าว พร้อมพงษ์ ท่าพระ และสามยอด เพื่อเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ รถไฟฟ้า MRT เรือ และ BTS ได้อย่างสะดวก ตั้งเป้าโครงการแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2570 เพื่อสร้างเมืองที่ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และมีสุขภาวะที่ดีในระยะยาว
จากนั้น หลังจากให้ข้อมูลแผนการพัฒนาโครงการฯแล้ว รองผู้ว่าฯ วิศณุ ได้นำลงพื้นที่เดินเลียบคลองแสนแสบ ท่าเรือวัดใหม่ช่องลม - ท่าเรือ มศว ประสานมิตร แขวงบางกะปิ ที่ถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางริมน้ำในเขตกลางเมืองกรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่ตั้งอยู่ใกล้กับย่านชุมชนและสถาบันการศึกษาสำคัญอย่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) เท่านั้น แต่ยังเป็นจุดที่มีการสัญจรทางเรือหนาแน่นและเชื่อมต่อกับพื้นที่เศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยหลากหลายรูปแบบ โดยเส้นทางนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็น ทางเดินเท้าและทางจักรยานเลียบคลอง ที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน โดยมีการปรับปรุงผิวทางเดินให้เรียบเสมอ ติดตั้งราวกันตกในจุดเสี่ยง เพิ่มแสงสว่างตลอดเส้นทาง และจัดให้มีทางลาดสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ใช้รถเข็น สามารถใช้งานร่วมกันได้โดยไม่ถูกรบกวนจากการจราจรบนถนนหลัก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีความเงียบสงบกว่าพื้นที่ถนนภายนอก เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจในช่วงเช้าและเย็น ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากใช้เส้นทางนี้เป็นทางลัดระหว่างบ้าน ที่เรียน หรือที่ทำงาน และยังนิยมใช้ในการออกกำลังกาย เช่น เดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน โดยเฉพาะนักศึกษาและบุคลากรของ มศว ที่สามารถเดินเชื่อมถึงท่าเรือได้อย่างสะดวก
ตลอดการดำเนินโครงการ กทม.ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ จุดเชื่อมต่อ ทางลาด ทางข้าม และพื้นที่พักผ่อนต่าง ๆ ตลอดแนวคลอง เพื่อให้เกิดการใช้งานจริงอย่างยั่งยืน โดยมีการประเมินผลตอบรับจากพื้นที่นำร่อง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกถึงความปลอดภัยและความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นจากโครงสร้างทางเท้าและเลนจักรยานที่มีการจัดสรรอย่างเป็นระบบ
036
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี