733 ล้านคน คือ จำนวนผู้คนที่เผชิญสภาวะ“ความหิวโหย” ขณะที่อีกกว่า 2.33 พันล้านคนต้องเผชิญกับ “ภาวะขาดแคลนทางอาหาร”
ตัวเลขดังกล่าวปรากฏอย่างน่าหดหู่ใจในรายงานสถานะความมั่นคงทางอาหาร และโภชนาการของโลกประจำปี 2567 ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
นอกจากนี้รายงานของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) หัวข้อ “ChildFood Poverty: Nutrition Deprivation inEarly Childhood” หรือ “ความขาดแคลนอาหาร
ในเด็ก ภาวะขาดสารอาหารในช่วงปฐมวัย” ระบุว่า1 ใน 4 ของเด็กทั่วโลกเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารขั้นรุนแรง จำนวนนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมากเกือบ 200 ล้านคน
ในประเทศไทย รายงานดังกล่าวระบุว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 1 ใน 10 คนเผชิญความขาดแคลนทางอาหารขั้นรุนแรง พวกเขาไม่ได้รับสารอาหารมากไปกว่า 2 หมู่ต่อวัน โดยนางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติประเทศไทย เป็นห่วงว่าสถานการณ์นี้จะส่งผลโดยตรงไม่เพียงพอต่อสุขภาพกาย ทว่า ยังรวมถึงสุขภาพจิตของเด็กอย่างไม่มีวันหวนคืน
นอกจากนี้ ยังมีการอ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่ระบุว่า มีทารกเพียงร้อยละ 29 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีมีภาวะเตี้ยแคระแกร็นถึงร้อยละ 13 และมีภาวะผอมแห้งถึงร้อยละ 7
ผมเชื่อว่าข้อเท็จจริงนี้กระตุกการรับรู้เป็นแรงกระเพื่อมต่อคนไทยยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็น “ครัวอาหารของโลก”เป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ลูกหลานเราต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำที่เริ่มจากมื้อแรกของวัน
“เมื่อปากท้องถูกลืม ปัญญาก็ถูกทิ้ง”
ประเทศไทยได้ลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (พ.ศ.2573) (SDGs) ในปี 2558 ร่วมกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติอีก 192 ประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเอาชนะความท้าทาย เพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมร่วมกันผ่าน 17 เป้าหมาย โดยเป้าหมายที่ 2 Zero Hunger หรือ ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (End hunger, achieve food security and improved nutrition and promote sustainable agriculture) ภายในปี 2573
เพื่อตอบสนองกับเป้าหมาย และข้อเท็จจริงข้างต้น ผมขอชวนผู้อ่านพิจารณาความเป็นไปได้ของสาเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อเป็น “การตั้งหลัก”อันนำไปสู่การดำเนินการแก้ไขร่วมกัน
‘อิ่มท้อง จึงจะอิ่มปัญญา’ จึงเป็นข้อเตือนใจให้ผมลองขบคิดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ในฐานะภาคเอกชน ที่อยากเห็นประเทศไทย ปักธงชัยชนะขจัดความหิวโหยเพื่อลูกหลานเราได้
1.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสวัสดิการการเข้าถึงอาหาร
แม้ไทยจะมีเศรษฐกิจในระดับปานกลางค่อนข้างสูง แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนยังคงรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวยากจน เด็กจำนวนมากต้องเติบโตกับอาหาร
ราคาถูก ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ทั้งในด้านร่างกายและสติปัญญา ครอบครัวในกลุ่มเปราะบางไม่สามารถเข้าถึงอาหารคุณภาพดีส่งผลให้เด็กหลายคน “อิ่มแค่แป้ง” แต่ขาดสารอาหารสำคัญอย่างโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุใจกลางของปัญหานี้อาจเป็นไปได้ว่า ไทยเรายังไม่มีระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ครอบคลุมสิทธิของพลเมืองเพื่อการเข้าถึงอาหารอย่างแท้จริง
2.ระบบอาหารที่ไม่สมดุล และนโยบายโภชนาการที่ยังไม่ทั่วถึง
แม้ไทยจะผลิตอาหารได้หลากหลายและมีมูลค่าการส่งออกสูง แต่ระบบอาหารภายในกลับยังมี “ช่องว่างเชิงโภชนาการ” ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเด็กทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียมเด็กในพื้นที่ห่างไกลหรือในระบบการศึกษาที่มีทรัพยากรจำกัด ยังคงได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพต่ำ ไม่หลากหลาย และไม่สอดคล้องกับหลักโภชนาการพื้นฐาน ขณะเดียวกัน การบริโภคอาหารแปรรูปที่มีไขมันและน้ำตาลสูงในกลุ่มเด็กเมือง ก็เป็นอีกด้านหนึ่งของปัญหา “ทุพโภชนาการ” ที่เริ่มกลายเป็นโรคระบาดเงาในเด็กไทย การไม่มีระบบติดตามประเมินโภชนาการที่ชัดเจนทั่วประเทศ ทำให้ปัญหานี้มักถูกมองข้ามและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
3.ขาดการลงทุนในช่วง “1,000 วันแรกของชีวิต”
1,000 วันแรกของชีวิต นับเป็นห้วงเวลาที่สำคัญที่สุด โดยนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า ช่วงเวลาครรภ์จนถึงเด็ก 2 ขวบ เป็นช่วงโอกาส และวิกฤตของการเติบโตด้านสมอง และร่างกาย ทว่าอย่างที่ผมได้อ้างอิงสถิติไปข้างต้น ไทยเรามีทารกเพียงร้อยละ 29 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่
เป็นไปได้หรือไม่ที่ปัญหานี้อาจจำต้องมองถึงโครงสร้างสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิที่ไม่ทั่วถึง กอปรกับปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท และพื้นที่ชายขอบ ตลอดจนงบประมาณเพื่อโภชนาการของแม่ และเด็กยังมีข้อจำกัด
“อิ่มท้อง จึงจะอิ่มปัญญา” จึงเป็นข้อเตือนใจให้ผมลองขบคิดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ในฐานะภาคเอกชน ที่อยากเห็นประเทศไทย ปักธงชัยชนะ ขจัดความหิวโหยเพื่อลูกหลานเราได้ ดังนี้
1.อาหารต้องได้รับการเข้าถึง
รัฐบาลควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอาหารชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือกลุ่มเปราะบาง เช่น การจัดตั้ง “ธนาคารอาหาร” (foodbank) ศูนย์กระจายอาหารสดในระดับตำบล หรือระบบจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันที่ใช้ผลผลิตท้องถิ่นอย่างมีมาตรฐาน ภาคธุรกิจสามารถร่วมพัฒนา “ระบบอาหารในโรงเรียน” ที่มีความมั่นคง สะอาด และสอดคล้องกับหลักโภชนาการ ทั้งยังช่วยสร้างตลาดให้เกษตรกรในพื้นที่
2.1,000 วันแรกแห่งชีวิต กับวาระแห่งชาติ
เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจำเป็นต้องมี “นโยบายระดับชาติ” ที่บูรณาการโภชนาการเด็กในช่วง 1,000 วันแรกอย่างจริงจัง เช่น เพิ่มงบประมาณสนับสนุนศูนย์เด็กเล็กและศูนย์โภชนาการในชุมชน สนับสนุนอาหารเสริมให้เด็กกลุ่มเปาะบาง ใช้ระบบติดตามภาวะโภชนาการอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกสุขภาพชุมชนและดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะการเชื่อมฐานข้อมูลจากโรงเรียน หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
3.ลงทุนมากกว่าช่วยเหลือ : ปฏิรูปเกษตรกรรมเพื่อโภชนาการ
ในฐานะภาคเอกชน ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเกษตร อีกทั้งประเทศไทยยังมีพื้นฐานด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ผมเชื่อมั่นว่า ภาคการเกษตรสามารถเข้ามามีบทบาทโดยตรง เพื่อทุเลา หรือขจัดปัญหาด้านความหิวโหย และส่งเสริมโภชนาการของอาหาร สร้างโอกาสการ “เข้าถึง” และเชื่อมต่อ “คุณภาพ” ได้
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ไทยอาจจัดระบบสหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มเกษตรรายย่อยให้เชื่อมต่อกับศูนย์เด็กเล็กปฐมวัยในระดับพื้นที่ชุมชน หรือหมู่บ้าน โดยภาครัฐอาจเป็นเจ้าภาพเพื่อพัฒนากลไกนี้ให้เกิดขึ้น ผ่านกรอบแนวคิด ลงทุนมากกว่าช่วยเหลือ สร้างระบบรับประกันการเข้าถึงอาหารของเด็ก อาทิ จัดระบบจัดซื้ออาหารสดจากกลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่น เพื่อป้อนเข้าสู่ศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่ ส่งเสริมการปลูกพืชผักพื้นบ้าน พืชท้องถิ่น และพืชหลากหลายชนิด(diversified crops) ที่เหมาะกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งสารอาหารสำคัญสำหรับเด็ก และยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าหรืออาหารแปรรูปที่อาจไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ เป็นต้น
ในฐานะภาคเอกชน ผมขอยกตัวอย่างความร่วมมือที่ “เห็นผลจริง” กับการทำงานกันระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และชุมชน ผ่านโครงการ “ไข่ไก่เพื่ออาหารกลางวัน” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (ซีพีเอฟ) ที่สนับสนุนโรงเรือนมาตรฐานเลี้ยงแม่ไก่ให้กับโรงเรียน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้การเลี้ยงไก่ไข่ และการบริหารเพื่อให้เกิด “กองทุนโครงการเลี้ยงไข่ไก่เพื่ออาหารกลางวัน” เป็นทุนสะสมทางโภชนาการให้กับโรงเรียนอีกด้วย
โครงข่ายของโครงการนี้เริ่มจากเมื่อแม่ไก่ฟักไข่ บรรดาไข่ไก่จะถูกส่งเข้าโรงครัว เพื่อเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารให้กับนักเรียน รับประกันว่าเด็กจะได้รับประทานไข่ 5 วันต่อสัปดาห์ อีกส่วนจะได้รับการจำหน่ายให้กับร้านค้าในชุมชน และคนทั่วไป รายรับจะได้รับการจัดเก็บในกองทุน โครงการนี้ดำเนินมาเป็นปีที่ 37 มีโรงเรียนเข้าร่วม1,018 โรงเรียน มีนักเรียนได้รับประโยชน์กว่า 2.2 แสนคน ที่สำคัญตัวเลขการบริโภคไข่ไก่ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 77 หรือจากเดิม 156 ฟองต่อคนต่อปี กลายเป็น 276 ฟองต่อคนต่อปี ภายหลังเข้าร่วมโครงการ
จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว ปัญหาทั้งหมดนี้จึงมิใช่แค่เพียงเด็กหิว หรือขาดอาหารเท่านั้นแต่คือ ความมั่นคงทางด้านอาหารที่ต้องได้รับการแก้ไข และไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่งหรือ
หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่คือภารกิจร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อน เชื่อมโยงกลไกระหว่างเกษตรกร ชุมชน และโรงเรียน
ณ วันนี้เราอาจต้องใช้ความคิดที่ว่า การแก้ไขคือการลงทุน หาใช่ความช่วยเหลือ เราต้องแก้ไข เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะกับลูกหลานเพราะเมื่อ
“มื้ออาหารไม่ขาด ปัญญาจึงไม่พรากจากอนาคต”
อ้างอิง
https://www.sdgmove.com/2024/
08/09/fao-food-security-and-nutrition-report/
https://www.sdgmove.com/
2024/06/07/child-food-poverty-unicef/
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ
ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร และการพัฒนากลยุทธ์
บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี