‘มท.1’สั่งอธิบดีปภ.
พร้อมรับมือน้ำท่วม
ฝนถล่มหนักทั่วไทย
ห่วงพายุลูกใหม่‘วิภา’
“มท.1” สั่ง “อธิบดีปภ.” เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมทุกพื้นที่ห่วง “วิภา” พายุลูกใหม่ จะเข้าเกาะไหหลำ อุตุฯประกาศเตือน ทั่วไทยฝนตกหนักถึง 24 กรกฎาคม 2568 ย้ำ 16 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลากเตือน 38 จังหวัด ยังมีฝนตกหนัก “เชียงราย-เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน” เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน จับตาพายุดีเปรสชัน “วิภา” กำลังแรงขึ้น พายุโซนร้อน
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 ที่กระทรวงมหาดไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า ขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ได้มีการเตรียมการและประสานงานไปทุกจังหวัดและติดตามสถานการณ์
ขณะนี้ที่เกิดพายุต่างๆนั้น ก็น่าห่วงใยกับพายุลูกใหม่ ที่จะไปเกาะไหหลำ(พายุโซร้อน “วิภา“(WIPHA) ) เพราะแรงส่งที่จะสร้างให้เกิดผลกระทบก็ขยายตัว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องดู แต่ได้สั่งการไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เตรียมการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศประเทศไทยขณะนี้ เราเฝ้าดู ซึ่งได้มีการเตรียมรถใหญ่และรถต่างๆในทุกจุดแล้ว แต่ยังเป็นแค่เพียงน้ำหลาก มาในบางจุด ตรงไหนที่มันล้น มันหลากไม่สามารถควบคุมได้ น้ำก็ไหลลงมา เราก็ควบคุมดูแลและได้แจ้งเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังและให้ยกของขึ้นที่สูง
นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ที่เห็นภาพในโทรทัศน์ว่า น้ำล้นไปถึงหน้าอกตนเข้าใจว่าเป็นที่จังหวัดลำปาง ขณะนี้น้ำไม่มีแล้ว มีเพียงแค่ 1-2 วัน ก็ไปหมดแล้ว
เตือนทั่วไทยฝนตกหนักถึง24ก.ค.
นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย คลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 19-24 กรกฎาคม 2568) ฉบับที่ 3 โดยมีใจความว่า ในช่วงวันที่ 19-24 กรกฎาคม 2568 ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม อุทัยธานี กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังค่อนข้างแรง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้ วันที่ 20 - 21 กรกฎาคม 2568 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร มหาสารคามกาฬสินธุ์ ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง
วันที่ 22 - 24 กรกฎาคม 2568 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา
พายุ‘วิภา’ทวีกำลังแรงขึ้น
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือ ในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “วิภา” แล้ว และคาดว่าจะเคลื่อนผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในช่วงวันที่ 19-22 ก.ค. 68 ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
‘เชียงราย-เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน’เฝ้าระวัง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ทั้งนี้เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
พายุ ‘วิภา’เข้าทะเลจีนใต้กระทบไทย
อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “วิภา”แล้ว และคาดว่าจะเคลื่อนผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในช่วงวันที่ 19-22 ก.ค. 68 ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรงโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
เหนือเจอฝนตกหนักร้อย60
พยากรณ์อากาศ ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ตาก และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
กทม.-ปริมณฑล ฝนร้อยละ70
กรุงเทพและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สระบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมาทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี