‘ประมงสมุทรสาคร-สำนักงานพัฒนาที่ดิน-ซีพีเอฟ’เปิดตัวน้ำหมักชีวภาพสูตรปลาหมอคางดำ Waste , Not Wasted ชาวสวนฝรั่งบอกเห็นผลดีหลังใช้แถมช่วยลดค่าปุ๋ย
ประมงสมุทรสาคร จับมือร่วมกับสำนักงานพัฒนาที่ดิน และซีพีเอฟ เปิดตัว น้ำหมักชีวภาพสูตรปลาหมอคางดำ ตั้งเป้าช่วยลดจำนวนปลาหมอคางดำเดือนละ 6,000 กิโลกรัม พร้อมแบ่งปันสูตรให้วิสาหกิจชุมชน ต่อยอดเป็นสินค้าสร้างรายได้ แบรนด์ Waste, Not Wasted ของเสียที่ไม่เสียของ ช่วยเกษตรกรประหยัดค่าปุ๋ยได้ถึงหมื่นบาทต่อไร่ เกษตรกรย้ำน้ำหมักชีวภาพช่วยให้ฝรั่งลูกโตขึ้น และมีรสหวาน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สนับสนุนประมงจังหวัดสมุทรสาครในการนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บูรณาการกับ สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร และศูนย์การเรียนรู้ของเสียที่ไม่เสียของ ต่อยอดนำปลาหมอคางดำที่จับได้จากกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” มาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพสูตรปลาหมอคางดำ ที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด และซีพีเอฟสนับสนุนถังพลาสติกขนาดใหญ่สำหรับหมักปลาได้ 300 กิโลกรัมต่อถัง
เผดิม รอดอินทร์ ประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า โครงการน้ำหมักชีวภาพใช้เวลา 1 เดือน จะช่วยให้สมุทรสาครจับปลาหมอคางดำออกจากระบบได้ทุกเดือน เดือนละ 6,000 กิโลกรัมหรือปีละ 72,000 กิโลกรัม เพิ่มมูลค่าเป็นของดีมาแบ่งปันให้พี่น้องเกษตรกรใช้รดบำรุงดินแทนปุ๋ย เตรียมคิกออฟเป็นสินค้าภายใต้แบรนด์ WASTE, NOT WASTED “ของเสียที่ไม่เสียของ” รวมทั้งถ่ายทอดสูตรการหมักให้เกษตรกรนำไปทำใช้เอง เป็นการบูรณาการประชาชนมีส่วนร่วมในการลดประชากรปลาหมอคางดำอีกทางหนึ่ง
ธนัชกฤต กลิ่นหวล ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร ได้แบ่งปันสูตรของน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ มีส่วนประกอบปลาหมอคางดำ 30 กิโลกรัม หมักกับ กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม และ สัปปะรด 10 กิโลกรัม ใส่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซองผสมน้ำเปล่า 10 ลิตร บรรจุในถังหมักนาน 1 เดือนได้น้ำหมักเข้มข้น 30 กิโลกรัม ก่อนใช้ต้องเจือจางกับน้ำก่อนนำมาฉีดพ่นและรดดิน ช่วยบำรุงพืชผลและบำรุงดิน
“สำนักงานพัฒนาที่ดินนำน้ำหมักชีวภาพไปวิเคราะห์ พบว่ามีธาตุอาหารหลักสำหรับพืชทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตชเซียม ( N-P-K) ธาตุอาหารรอง รวมทั้งกรดอะมิโนที่ช่วยการเจริญเติบโตของพืช จากการสอบถามเกษตรกร น้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำช่วยประหยัดค่าปุ๋ยได้ถึง 8,000-10,000 บาทต่อไร่/ต่อปี และผลผลิตสูงขึ้นอีกด้วย” ธนัชกฤต กล่าว
ขวัญชัย อุทัยไป เล่าว่า หลังจากนำน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำไปใช้กับสวนฝรั่ง เดิมฝรั่งให้ผลขนาดเล็ก และหน้าดินแข็งจากการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ต้นไม้ได้รับธาตุอาหารไม่สมบูรณ์ หลังจากใช้น้ำหมักชีวภาพเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าดินร่วนฟู ทำให้น้ำไหลผ่านดินได้ดี ผลฝรั่งมีขนาดใหญ่ขึ้น และยังมีรสชาติหวานอร่อย ผลผลิตดี ช่วยลดต้นทุนจากค่าปุ๋ยได้ 35%
“จากการดำเนินการตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สมุทรสาครสามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ล้านกิโลกรัม จากการสำรวจเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การแพร่ระบาดในพื้นที่ลดลงจนอยู่ในระดับปานกลาง พบปลาหมอคางดำ 10 ถึง 100 ตัว ต่อ 100 ตารางเมตร เป็นผลจากการบูรณาการความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของภาครัฐ เอกชนและชุมชนในการดำเนินงานเชิงรุกอย่างจริงจัง ในการควบคุมและลดปริมาณปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ปลายังมีประโยชน์ สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าช่วยสร้างโอกาสให้ชุมชนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง” เผดิมกล่าวปิดท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี