โรคภัยไข้เจ็บกับมนุษย์ แทบจะเป็นปกติวิสัย ที่ใครๆ ก็เจ็บป่วยกันได้ และเมื่อกล่าวถึงโรคที่มากับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศตามฤดูกาล ก็จะพบว่ามีสถิติทางสาธารณสุขที่น่าสนใจ ว่าช่วงฤดูฝน จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคหลายชนิด ทั้งที่เคยอุบัติขึ้น และเป็นโรคชนิดใหม่ๆ ที่เพิ่งพบ
ช่วงฤดูฝนของประเทศไทย นับตั้งแต่เดือน พ.ค.ของปี มักเป็นโรคที่เกี่ยวกับสภาวะอากาศที่มีความชื้นสูง เมื่อฝนตกแล้วบางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง น้ำรอการระบาย ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค หรือมีพาหะนำโรคหลายชนิดเติบโต และโจมตีผู้ที่ร่างกายอ่อนแอเป็นทุนเดิม
ทั้งนี้ โรคที่มักจะพบบ่อยๆ ในฤดูฝนของประเทศไทย อาทิ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร อุจจาระร่วง, บิด , ไทฟอยด์ , อหิวาตกโรค อันเกิดจากการบริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
โรคระบบทางเดินหายใจ ไข้หวัดใหญ่ , ปอดบวม , โรคโควิด-19 จากอากาศเย็น ความชื้นสูง ที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายผ่านละอองฝอยในอากาศ
โรคไข้เลือดออก จากยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค , ไข้ซิกา , ไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) สาเหตุที่พบคือยุงลายวางไข่ในพื้นที่มีน้ำท่วมขัง
โรคที่เกิดจากการแช่น้ำ หรือต้องใช้เท้าฝ่าพื้นที่น้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า , ฉี่หนู (เลปโตสไปโรซิส) โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีน้ำสกปรก ส่วนโรคผิวหนัง อาทิ โรคผดผื่นคัน , เชื้อราที่ผิวหนังจากความอับชื้น การสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้นนานจนเกินไป โดยไม่ได้ผลัดเปลี่ยนหรือทำความสะอาดเสื้อผ้าที่สวมใส่
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทย จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าไข้เลือดออก มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงเดือน มิ.ย.–ก.ย.โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ และภาคกลาง
โรคฉี่หนู มีผู้ป่วยแล้ว 861 ราย เสียชีวิต 7 ราย พบมากในพื้นที่น้ำท่วมขัง เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่เกษตรกรรม
โรคไข้หวัดใหญ่ มีการแพร่ระบาดเป็นระลอก โดยเฉพาะในโรงเรียนและสถานที่ชุมชน จนถึงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยแล้ว 382,471 ราย อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี มากที่สุด โดยเสียชีวิตแล้ว 51 ราย , โรคโควิด-19 พบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ภายหลังถูกกำหนดให้เป็นโรคประจำถิ่น แม้ว่าจะมีจำนวนลดลงจากช่วงวิกฤต แต่ก็ยังมีการระวังเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน ที่อากาศปิด
สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม 1.ภาคประชาชน ควรรักษาความสะอาดอาหารและน้ำดื่ม ควรทำให้สุก ล้างให้สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารริมทางที่ไม่ถูกสุขลักษณะ สวมเสื้อผ้าแห้ง หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ หากมีความจำเป็นต้องลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ท และล้างเท้าทันทีหลังจากลุยน้ำเสร็จแล้ว ป้องกันยุงลาย ใช้ยากันยุง กำจัดแหล่งน้ำขังรอบบ้านทุกสัปดาห์ เช่น จานรองกระถาง , ยางรถเก่า ฯลฯ หมั่นล้างมือ และใส่หน้ากากในที่แออัด เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อทางอากาศ และการสัมผัสในที่สาธารณะ
2.ภาครัฐ ควรจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เก็บขยะอย่างเป็นระบบ จัดการน้ำเสีย และฉีดพ่นกำจัดยุงในแหล่งที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อลดจำนวนยุงที่เป็นพาหะนำโรค ให้ความรู้ในเชิงรุกผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ มุ่งสร้างความตระหนักรู้ในชุมชน พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยง แจ้งเตือนการระบาด
การเตรียมพร้อมระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เตียง , ยา , บุคลากร และวัคซีนที่จำเป็น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ส่งเสริม “Smart Public Health” ในฤดูฝน โดยให้ข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น และระบบแจ้งเตือนในพื้นที่ระบาด บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการพื้นที่น้ำท่วมขัง และในด้านสุขาภิบาล
ด้านวิชาการ ควรสนับสนุนการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออก และการควบคุมยุงด้วยวิธีทางชีวภาพ เช่น ปล่อยยุงตัวผู้ติดเชื้อ Wolbachia จัดการกับยุงที่เป็นพาหะนำโรค
เหนือสิ่งอื่นใด หากทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน ไม่มองข้ามปัญหา โรคตามฤดูกาลย่อมแก้ไขได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี