รพ.ธรรมศาสตร์ฯ จัดโครงการต้นแบบพิชิตอ้วน-พิชิตเบาหวานครบวงจร ‘ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 แห่งการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน’
วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จัดโครงการ ‘พิชิตอ้วน พิชิตเบาหวาน’ สร้างสุขภาวะที่ดี เน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและยั่งยืน ลดค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขไทยระยะยาว
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แจ้งว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับจัดโครงการ ‘พิชิตอ้วน พิชิตเบาหวาน’ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00-12.00 น. ณ โถงกิจกรรม ชั้น 1 อาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานที่มีข้อจำกัดด้านการรักษา เช่น มีปัญหาค่าใช้จ่าย การขาดองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพ สามารถเข้าถึงการรักษาแบบองค์รวมโดยแพทย์และสหสาขาวิชาตามมาตรฐานทางการแพทย์ อีกทั้งเพื่อให้ผู้เป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานเข้าสู่ภาวะเบาหวานสงบ และเป็นต้นแบบในการรักษาโรคต่อไปในระบบสาธารณะสุขไทย
ทั้งนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์การดูแล NCDs ในบทบาทของ สปสช. และ นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 กล่าวแนวทางการสนับสนุนการดำเนินงานในระดับเขตสุขภาพ นอกจากนี้ประชาชนที่เข้าร่วมงานยังได้ความรู้และมุมมองแนวคิดเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ในการเสวนา หัวข้อ ‘พิชิตอ้วน พิชิตเบาหวาน’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน คือ อาจารย์ แพทย์หญิงกนกกาญจน์ ชูพิศาลยโรจน์ อายุรแพทย์ด้านโภชนศาสตร์คลินิก อาจารย์ นายแพทย์พรรควุธ จันทร์สว่างภูวนะ ศัลยแพทย์ด้านการส่องกล้องและกล้องส่องผ่าตัด และอาจารย์ แพทย์หญิงกนกพร สรรพวิทยกุล อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม อาจารย์แพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแพทย์ประจำโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
สำหรับโครงการ ‘พิชิตอ้วน พิชิตเบาหวาน’ จะเปิดรับสมัครคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 40 คน โดยคัดเลือกจากผู้ที่เป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน อายุระหว่าง 18-50 ปี มี BMI 27-40 kg/m2 เป็นเบาหวานมาไม่เกิน 5 ปี และมีค่า HbA1C < 10 ที่มีข้อจำกัดการเข้าถึงการรักษาโรคแบบองค์รวมได้ ส่วนการดำเนินโครงการผู้เป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการจะได้รับการรักษาแบบ Intensive lifestyle modification ร่วมกับการรักษาตามมาตรฐาน โดยทีมสหสาขาวิชา และมีการใช้ Telehealth มาร่วมในการดูแลผู้ป่วยเพื่อลดข้อจำกัดการเดินทางมาโรงพยาบาล และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลด้าน Lifestyle modification ส่วนการประเมินผลโครงการนั้นตั้งเป้าหมายไว้ ร้อยละ 80 ของผู้เข้าร่วมโครงการสามารถลดน้ำหนักตัวได้มากกว่าร้อยละ 10 และสามารถเข้าสู่ระยะเบาหวานสงบได้ หรือโรคร่วมต่าง ๆ ดีขึ้น ซึ่งหากจบโครงการแล้วผู้เข้าร่วมโครงการยังคงสามารถดูแลตนเองและควบคุมสภาวะโรคอ้วนและเบาหวานได้ดีตามเป้าหมาย โดยนอกจากจะลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลภายในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในระดับประเทศได้อีกด้วย ///-026
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี