วันนี้ (21 พ.ค.62 ) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
3. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้การชำระหนี้แทนเกษตรกรทั้งทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันและบุคคลค้ำประกัน ได้กำหนดวิธีการในการชำระหนี้แทนเกษตรกรกรณีบุคคลค้ำประกันให้ชัดเจน โดยให้กองทุนชำระหนี้แทนได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อให้สามารถขยายขอบเขตการชำระหนี้ให้ครอบคลุมเกษตรกรที่มีปัญหามากยิ่งขึ้น
2. แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร จากคราวละ 2 ปี เป็น 4 ปี สำหรับกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร พ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ และกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการของสำนักงานเพื่อให้ได้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร ให้สำนักงานดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรครบวาระ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการทำงานและเพื่อประหยัดงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง
3. แก้ไขให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีสำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาตามความจำเป็น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ
2. เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่..) พ.ศ..... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับต่อไป
สาระสำคัญ
ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ยังคงหลักการเดิมตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. 2552 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้การรับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ผู้นั้นต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ หรือระดับทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส หรือระดับทักษะพิเศษ แต่ให้สามารถนำระยะเวลาที่เคยดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ หรือ ระดับทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส หรือระดับทักษะพิเศษ แล้วแต่กรณี ซึ่งต่อเนื่องกันมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี มาใช้เป็นคุณสมบัติในการพิจารณาให้รับราชการต่อไปได้ โดยตำแหน่งที่จะให้รับราชการต่อไปนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นตำแหน่งที่ผู้นั้นครองอยู่เดิม แต่ต้องไม่เป็นการกำหนดตำแหน่งเพิ่มใหม่ เพื่อบรรเทาปัญหาความขาดแคลนบุคลากรในสาขาที่เป็นภารกิจสำคัญของรัฐ และเพื่อรองรับปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงได้เสนอร่างกฎ ก.พ.ฯ ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว
เศรษฐกิจ - สังคม
3. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนเพื่อการจัดหาที่ดินสำหรับงานต่อเติมความยาวทางวิ่ง ท่าอากาศยานแม่สอด ของกรมท่าอากาศยาน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมท่าอากาศยานดำเนินการจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในกรณีที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลแม่สอด และตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พ.ศ. 2560 ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 12 ราย 21 แปลง พื้นที่รวม 108 ไร่ 1 งาน 64.64 ตารางวา เพื่อจัดหาที่ดินสำหรับงานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ท่าอากาศยานแม่สอด จังหวัดตาก ตามโครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด จังหวัดตาก รองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ในวงเงิน 104,514,443.74 บาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่กระทรวงการคลังอนุมัติให้ขยายระยะเวลาเบิกจ่ายเงินถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2562 โดยเบิกจ่ายในงบรายจ่ายอื่น ลักษณะค่าที่ดิน ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
4. เรื่อง ภาพรวมวันหยุดราชการประจำปีและการกำหนดให้วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)เสนอ ดังนี้
กำหนดให้วันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลและวันหยุดราชการประจำปีรับทราบภาพรวมวันหยุดราชการประจำปี รวม 19 วัน ส่วนการกำหนดให้เป็นวันหยุดประจำปีของธนาคารและวันหยุดของภาคแรงงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรได้ทรงรับบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ ดังนั้น สลค. จึงเห็นควรกำหนดให้วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล และเป็นวันหยุดราชการประจำปี และได้จัดทำภาพรวมวันหยุดราชการประจำปี โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 19 วัน รวมทั้งเปลี่ยนแปลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยให้สอดคล้องกับประกาศพระบรมราชโองการ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
หมายเหตุ * สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ริเริ่มจัดงานวันแม่แห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2519 เป็นต้นมา
5. เรื่อง ขออนุมัติขายที่ราชพัสดุ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่ได้ดำเนินการประมูลได้ผู้มีสิทธิซื้อแล้ว ตามนัยกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่มิใช่ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 3 จำนวน 2 แปลง ได้แก่
1. แปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 5054 แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 0 – 0 – 18 ไร่ พร้อมอาคารราชพัสดุทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น เลขที่ 998/284 จำนวน 1 หลัง ให้กับนางนันท์ธยาน์ วงษ์ไชโย ตามผลการประมูล
2. แปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 5065 ตำบลคลองสองต้นนุ่น อำเภอลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 0 – 0 – 20 ไร่ พร้อมอาคารราชพัสดุทาวน์เฮ้าส์ชั้นเดียว เลขที่ 201/1083 จำนวน 1 หลัง ให้กับนางสาวพิกุล อุรุวงศ์วณิช ตามผลการประมูล
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่ได้ดำเนินการประมูลได้ผู้มีสิทธิซื้อแล้ว ตามนัยกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่มิใช่ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 แปลง คือ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 5054 แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 0 – 0 – 18 ไร่ พร้อมอาคารราชพัสดุทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น เลขที่ 998/284 และแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 5065 ตำบลคลองสองต้นนุ่น อำเภอลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 0 – 0 – 20 ไร่ พร้อมอาคารราชพัสดุทาวน์เฮ้าส์ชั้นเดียว เลขที่ 201/1083 ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้จาการยึดทรัพย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่มิใช่ที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้มีมติเสนอให้กระทรวงการคลังขายที่ดินราชพัสดุทั้ง 2 แปลงดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากเป็นที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยมีลักษณะทางกายภาพไม่เหมาะสมในการใช้ราชการ และไม่มีศักยภาพที่จะนำมาจัดหาประโยชน์นำรายได้เข้ารัฐ หากดูแลรักษาไว้จะไม่คุ้มค่ากับการบำรุง ดูแลรักษา รวมทั้งได้กำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการประมูลขายที่ราชพัสดุทั้ง 2 แปลงดังกล่าว ซึ่งได้ดำเนินการประมูลขายตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยวิธีประมูลขายหรือแลกเปลี่ยนที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2551 และได้ผู้มีสิทธิซื้อแล้วสรุปรายละเอียดที่สำคัญได้ ดังนี้
โดยราคาที่ผู้ประมูลที่ดินราชพัสดุทั้ง 2 แปลงเสนอมานั้น มีมูลค่าสูงกว่า (1) มูลค่าขั้นต่ำในการประมูลที่คณะกรรมการฯ กำหนด (2) ราคาประเมินเพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ปี 2559 - 2562) และ (3) ราคาที่คาดว่าจะซื้อขายจริงในท้องตลาด ดังนั้นการขายที่ราชพัสดุทั้ง 2 แปลงดังกล่าว ในราคาที่ผู้ประมูลได้เสนอซื้อ จึงมีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการ
6. เรื่อง โครงการทุนการศึกษา ภายใต้มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการขอความร่วมมือหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจในสังกัดดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) เพื่อร่วมสมทบทุนการศึกษาในโครงการทุนการศึกษาภายใต้มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) และมอบให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ดำเนินการและประสานงานกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีและคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โครงการทุนการศึกษาภายใต้มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ดำเนินการขึ้นเมื่อปี 2552 เมื่อครั้งยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจน ยากลำบาก แต่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคง ต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีตามความสามารถของแต่ละคนอันเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ และศักยภาพแก่เยาวชนไทย ต่อมาในปี 2553 พระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ขึ้น ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการและทรงให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (มพพ.) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป โดยที่การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ มีกลไกคณะกรรมการมูลนิธิฯ กำกับดูแลอำนวยการระดับนโยบายและคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทานกำกับการบริหารดำเนินงานโครงการมีคณะอนุกรรมการช่วยขับเคลื่อนประสานความร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัดทุกจังหวัด
2. การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 – 2561 ส่งผลให้มีนักเรียนที่เรียนดี ประพฤติดี แต่มีฐานะยากจน ยากลำบากได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมั่นคงต่อเนื่องด้วยการได้รับทุนพระราชทานไปแล้วรวม 10 รุ่น โดยในปี 2561 มีนักเรียนทุนที่ยังคงสถานะความเป็นนักเรียนทุนฯ รวมทั้งสิ้น 1,096 ราย ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 500 ราย ระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า จำนวน 596 ราย รวมเงินทุนที่ได้จัดสรรไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 389,280,000 บาท และนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมามีนักเรียนอยู่ในระบบครบทุกระดับตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับปริญญาตรี โดยมีการใช้จ่ายเงินทุนพระราชทานคงที่นับจากปีดังกล่าวประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี
3. การดูแลและพัฒนาศักยภาพนักเรียนทุนในโครงการทุนการศึกษาฯ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการตามบทบาทภารกิจของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มท. สศช. สลค. มพพ. ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกคัดสรรนักเรียนทุนในแต่ละรุ่น/ปี การพัฒนาศักยภาพนักเรียนทุนด้านการศึกษา การเรียนรู้ ทักษะ และสมรรถนะด้านต่าง ๆ รวมถึงการเสริมสร้างความมีจิตอาสา และการสำนึกในสถาบันทางสังคมที่สำคัญของชาติผ่านโครงการและกิจกรรมอย่างหลากหลาย
4. การขอความร่วมมือหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจในสังกัดดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (วันที่ 29 ตุลาคม 2556) (15 กรกฎาคม 2557) (12 พฤษภาคม 2558) (19 เมษายน 2559 18 เมษายน 2560 และ 17 เมษายน 2561) ที่ผ่านมา สลค. ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมสมทบทุนการศึกษาในโครงการทุนการศึกษาฯ โดยมีหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจร่วมสมทบทุนในปี 2557 – 2561 รวมเป็นเงิน 345,130,000 บาท
7. เรื่อง รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการของขวัญปีใหม่ของกระทรวงมหาดไทยเพื่อมอบให้ประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2562 (มท.)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการของขวัญปีใหม่ของ มท. เพื่อมอบให้ประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยมีโครงการ “คืนคลองสวยทั่วไทย สุขใจเที่ยวท้องถิ่น” และโครงการ “ห้องน้ำท้องถิ่นสะอาดปลอดภัย” สรุปได้ดังนี้
1. โครงการ “คืนคลองสวยทั่วไทย สุขใจเที่ยวท้องถิ่น” โดยให้ทุกจังหวัดคัดเลือกคูคลองที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจได้เป็นต้นแบบอย่างน้อย 1 แห่ง และให้เร่งรัดพัฒนาคูคลองและพื้นที่บริเวณริมคลองดังกล่าวให้มีภูมิทัศน์สะอาดและสวยงาม โดยได้ดำเนินการตามเป้าหมายแล้ว จำนวน 76 จังหวัด และมีคูคลองที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นคลองต้นแบบระดับจังหวัด จำนวน 104 แห่ง เช่น คลองบางกล่ำ จังหวัดสงขลา คลองแม่มอก จังหวัดสุโขทัย และคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จังหวัดปทุมธานี
2. โครงการ “ห้องน้ำท้องถิ่นสะอาดและปลอดภัย” โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พัฒนาห้องน้ำสาธารณะทุกแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบให้ได้มาตรฐาน 3 เรื่อง คือ สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย เพื่อไม่ให้ห้องน้ำสาธารณะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคติดต่อและเพื่อความพึงพอใจของประชาชน โดยได้ดำเนินการตามเป้าหมายแล้ว จำนวน 76 จังหวัด และมีห้องน้ำสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อปท. ที่พัฒนา/ปรับปรุงแล้ว จำนวน 33,276 แห่ง จากจำนวน 40,991 แห่ง เช่น ห้องน้ำศูนย์บริการร่วมแบบเบ็ดเสร็จเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ห้องน้ำสวนสาธารณะเกาะลำพู จังหวัดสุราษฎร์ธานี และห้องน้ำภายในสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลวังโมกข์ จังหวัดพิจิตร
8. เรื่อง ผลการดำเนินการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2561 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต (คค.)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2561 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต สรุปได้ ดังนี้
1 ผลการดำเนินงานของ รฟม. ในปีงบประมาณ 2561
1.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
1.1.1โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 5 โครงการ ได้แก่
(1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ : งานก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 งานออกแบบ ผลิต และติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 61.03 เร็วกว่าแผนร้อยละ 2.55 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง – บางแค ในเดือนตุลาคม 2562 และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ในเดือนเมษายน 2563
(2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต : งานก่อสร้างงานโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 78.79 เร็วกว่าแผนร้อยละ 2.26 งานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถจะดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายสินทรัพย์และโอนภาระทางการเงินให้กรุงเทพมหานครแล้ว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2563
(3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) : งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 93.72 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 0.26 เนื่องจากผู้รับเงินค่าตอบแทนมาตกลงทำสัญญาน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ และมีการปรับแนวเขตทางโครงการช่วงดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืน งานก่อสร้างโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 18.33 เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.48 รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีความก้าวหน้าร้อยละ 75.00 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
(4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี : งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 90.57 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 1.58 เนื่องจากผู้รับเงินค่าตอบแทนมาตกลงทำสัญญาน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ และมีการปรับแนวเขตทางโครงการช่วงดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืน งานก่อสร้างโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 6.51 เร็วกว่าแผนร้อยละ 5.01 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564
(5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง : งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 94.34 เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.12 งานก่อสร้างงานโยธา ผลิดและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 7.48 เร็วกว่าแผนร้อยละ 5.98 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564
1.1.2 โครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคา จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) : งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 14.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 11.00 เนื่องจากผู้สนใจเห็นว่าข้อกำหนดขอบเขตของงานที่กำหนดไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ทำให้ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนองานคัดเลือกที่ปรึกษา งานโยธาและจัดหาผู้รับจ้างงานโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 14.80 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 12.70 เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติในการขอใช้พื้นที่ก่อสร้างและการจัดทำราคากลาง รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีความก้าวหน้าร้อยละ 50.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 25.00 โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการศึกษาฯ ตามข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีที่ให้ รฟม. เร่งเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงร่วมกัน และให้ระบุรายละเอียดดังกล่าวในรายงานการศึกษาฯ ด้วย โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2567
1.1.3 โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่
(1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย : งานขออนุมัติโครงการและศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีความก้าวหน้าร้อยละ 75.00 ตามแผนงานคัดเลือกเอกชนผลิต ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถยังไม่ดำเนินการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ จากคณะรัฐมนตรีโดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2568
(2) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต : คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 กันยายน 2561) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ตแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) มีความก้าวหน้าร้อยละ 93.33 ตามแผน รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 50.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 25.00 เนื่องจาก รฟม. ใช้ระยะเวลาจัดจ้างที่ปรึกษามากกว่าแผนที่กำหนดโดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2566
(3) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ : คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 กันยายน 2561) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สคก. มีความก้าวหน้าร้อยละ 90.00 ตามแผนงานว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 40.00 ตามแผน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการทางวิ่งระดับพื้นดินในเดือนกรกฎาคม 2567 และเปิดให้บริการทางวิ่งระดับทั้งพื้นดินและใต้ดินในเดือนมกราคม 2570
(4) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา : รฟม. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อร่างพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดนครราชสีมา มีความก้าวหน้าร้อยละ 80.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 10.00 เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการจัดเตรียมเอกสารประกอบร่างพระราชกฤษฎีกามากกว่าแผนที่กำหนด โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2567
นอกจากนี้ได้มีการศึกษาออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีสะพานพระนั่งเกล้ากับท่าเรือพระนั่งเกล้าแล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างและคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2562 รวมทั้งได้มีการวิเคราะห์และประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีตั๋วร่วมตามมาตรฐาน EMV (Europay, Mastercard และ Visa) ได้นำบัตรแมงมุมและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและคาดว่าจะจัดจ้างผู้ดำเนินการพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จภายในปี 2562
1.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน : ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าแล้ว 2 เส้นทาง โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
1.2.1 รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล มีผู้โดยสารเฉลี่ย 307,312 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 5.56 (เป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00)
1.2.2 รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม มีผู้โดยสารเฉลี่ย 46,540 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 78.50 (เป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00)
1.3 ด้านการเงิน
รฟม. มีผลประกอบการกำไรสุทธิ 2,304.39 ล้านบาท (กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 710.76 ล้านบาท) โดยมีรายได้ 14,006.69 ล้านบาท (เงินอุดหนุน 8,844.01 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายรวม 11,702.30 ล้านบาท และสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ร้อยละ 99.99 ซึ่งมีรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล 142.79 ล้านบาท น้อยกว่าเป้าหมายร้อยละ 10.90 (เป้าหมาย 160.26 ล้านบาท) และสายฉลองรัชธรรม 33.31 ล้านบาท มากกว่าเป้าหมายร้อยละ 78.80 (เป้าหมาย 18.63 ล้านบาท)
2.นโยบายของคณะกรรมการ รฟม.
2.1 ให้ดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันและลดผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน
2.2 ให้เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จและเปิดบริการได้ตามแผน และให้ศึกษาระบบรถไฟฟ้าในเมืองหลักอื่น
2.3 ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา
2.4 ให้บริหารสินทรัพย์ ดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง และให้บริการเสริมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้และลดภาระการสนับสนุนจากภาครัฐ
2.5 ให้พัฒนาทรัพยากรบุคคล และวัฒนธรรมองค์กร โดยให้พนักงงานมีส่วนร่วม
2.6 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และนำข้อคิดเห็นของประชาชนมาพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กร
2.7 ให้สื่อสารเชิงรุกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนละผู้ได้รับผลกระทบรับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของรถไฟฟ้าฯ
2.8 ให้บริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการบริหารเงินสด การบริหารจัดการหนี้ และการบริหารความเสี่ยง
2.9 ให้พัฒนาและปรับปรุงระบบแรงจูงใจทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงาน
3. โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต
3.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน3.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
รฟม. มีเป้าหมายว่าผู้ใช้บริการสายเฉลิมรัชมงคล ร้อยละ 69.35 และสายฉลองรัชธรรม ร้อยละ 63.50 ต้องมีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุดต่อบริการรถไฟฟ้าฯ และบริการเสริมอื่น ๆ และมีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5
3.3 ด้านการเงิน
รฟม. มีแผนที่จะหารายได้จากธุรกิจต่อเนื่องประมาณ 185 ล้านบาท (สายเฉลิมรัชมงคล 149.93 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 34.98 ล้านบาท) และมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ร้อยละ 1.26 นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยต้องควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงกว่าปีที่ผ่านมา
3.4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล
รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาบุคลากร โดยบุคลากรร้อยละ 95.83 ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินสมรรถนะ และมีแผนที่จะเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคคลากรในระบบราง พัฒนากระบวนการจัดทำและดำเนินกิจกรรมทางการตลาดเกี่ยวกับผู้โดยสาร บัตรโดยสาร สังคม รวมถึงประชาชน
3.5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี
รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาส่งเสริมธรรมาภิบาลองค์กรใน 4 มิติ และพัฒนาแนวทางการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านนี้ โดยมีเป้าหมายให้มีลำดับของผลประเมิน Integrity and Transparency Assessment (ITA) อยู่ในลำดับที่ 1-3 ของรัฐวิสาหกิจสังกัด คค.
4. สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2561 คค. มอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการดังนี้
4.1 เร่งดำเนินการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก ให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้โดยเร็ว รวมทั้งเร่งนำเสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ (งานระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถ) ให้ คค. พิจารณาด้วย
4.2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ ให้ รฟม. เร่งดำเนินการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสถานีสะพานพระนั่งเกล้ากับท่าเรือพระนั่งเกล้าให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
4.3 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมตามมาตรฐาน EMV ขอให้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ด้วย
4.4 เร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัด โดย
4.4.1 จังหวัดภูเก็ต ให้ รฟม.ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ให้เป็นไปตามแผน
4.4.2 จังหวัดเชียงใหม่ ให้ รฟม. เร่งดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ
4.4.3 จังหวัดนครราชสีมา ให้ รฟม. เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
ต่างประเทศ
9. เรื่องการให้สัตยาบันต่อความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านสุขภาพสัตว์และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน (ASEAN Coordinating Centre for Animal Health and Zoonoses: ACCAHZ)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านสุขภาพสัตว์และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน รวมทั้งให้ยุติการเสนอความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านสุขภาพสัตว์และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน (ASEAN Coordinating Centre for Animal Health and Zoonoses: ACCAHZ) และร่างพระราชบัญญัติเพื่อกำหนดสถานะทางกฎหมายและคุ้มครองการดำเนินงานศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านสุขภาพสัตว์และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเห็นชอบการให้สัตยาบันต่อความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านสุขภาพสัตว์และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน (ASEAN Coordinating Centre for Animal Health and Zoonoses: ACCAHZ) และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำสัตยาบันสารความตกลงดังกล่าวและดำเนินการยื่นต่อเลขาธิการอาเซียนต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อรองรับการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้แก่ศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านสุขภาพสัตว์และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน และความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Template of Host Country Agreement) สำหรับการจัดตั้งสำนักงาน ACCAHZ ตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป ก่อนที่จะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านสุขภาพสัตว์และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนในประเทศไทย พร้อมให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
อาเซียนตกลงให้จัดตั้ง ACCAHZ เพื่อความมุ่งประสงค์ในการอำนวยความสะดวกและจัดหากรอบความร่วมมือและการประสานในหมู่รัฐสมาชิกอาเซียน กับคู่เจรจาของอาเซียน หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในการป้องกันควบคุมและกำจัดโรคสัตว์ข้ามแดนและโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนในอาเซียน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้เกิดสู่ความมั่นคงและปลอดภัยด้านอาหาร ด้านสุขภาพสัตว์และมนุษย์การบรรเทาความยากจน และความเป็นอยู่ที่ดีและการดำรงชีวิตของประชาชนแห่งอาเซียน
ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านสุขภาพสัตว์และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน (ASEAN Coordinating Centre for Animal Health and Zoonoses: ACCAHZ) เป็นพันธสัญญาที่ต้องปฏิบัติตามพิมพ์เขียวเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) :ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นและการแสดงความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และยังจะช่วยส่งเสริมบทบาทนำในด้านการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรคระบาดสัตว์ข้ามแดนและโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนของประเทศไทย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
10. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน – สหภาพยุโรป ครั้งที่ 22
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและติดตามผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน – สหภาพยุโรป [ASEAN – The European Union (EU) Ministerial Meeting - AEMM] ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียมและผลการหารือทวิภาคีในช่วงการประชุมดังกล่าว และพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผลการประชุมฯ และผลการหารือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทวงการต่างประเทศได้เสนอผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน – สหภาพยุโรป ASEAN–The European Union (EU) Ministerial Meeting - AEMM] ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียมและผลการหารือทวิภาคีในช่วงการประชุมดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการติดตามประเด็นความร่วมมืออาเซียน – EU เช่น การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์การนำเสนอแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทยและประเด็นที่ไทยต้องการผลักดันให้เป็นรูปธรรม การรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – EU และความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียน – EU เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฮังการี บัลแกเรีย โปแลนด์ ลักเซมเบิร์ก และมอลตา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกรีซ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนของประเทศดังกล่าวมาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์รัฐยะไข่ในการสนับสนุนบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้นของอาเซียนที่จะดำเนินความพยายามร่วมกันผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติในรัฐยะไข่ เป็นต้น
ทั้งนี้ การเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวมีประเด็นเกี่ยวข้องที่ไทยจะต้องรับไปดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงมีการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 17 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) รับไปติดตามและดำเนินการให้เกิดผลเป็นอย่างรูปธรรมต่อไป
11. เรื่อง รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2562 และการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2562 และการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางในการเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์และกฎหมายสิทธิบัตรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2.ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานพิจารณากลั่นกรองการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้วยความรอบคอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
3.ในส่วนของรายงาน Notorious Markets ประจำปี 2561 ที่ได้มีการระบุชื่อตลาดในไทย 2 แห่งคือ ย่านพัฒน์พงษ์ และ www.shopee.co.th ให้กระทรวงพาณิชย์ประสานหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในตลาดดังกล่าวต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1.ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative : USTR) ได้จัดสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าสำคัญภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) เป็นประจำทุกปี โดยประกาศผลการจัดสถานะในช่วงปลายเดือนเมษายน ทั้งนี้ ในการจัดสถานะดังกล่าวมีการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพยสินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) ด้วย
2.หลังจากที่ไทยได้ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority WatchList : PWL) มากว่า 10 ปี เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 USTR ได้เปิดการทบทวนสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญหาของไทยนอกรอบ (Out-of-Cycle Review : OCR) และได้ปรับสถานะของไทยให้ดีขึ้นจากบัญชี PWL เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) นับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2560 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 มกราคม 2561) รับทราบ] และเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 USTR ได้ประกาศรายชื่อ Notorious Markets ประจำปี 2560 โดยไม่ปรากฏชื่อย่านการค้าหรือศูนย์การค้าในประเทศไทยเป็น Notorious Markets แม้แต่แห่งเดียว [คณะรัฐมนตรีมีมติ (27 กุมภาพันธ์ 2561) รับทราบ]
3.ในปี 2562 USTR ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศคู่ค้าจากผู้มีส่วนได้เสีย และประเทศที่ได้รับการประเมิน ซึ่ง พณ. ได้จัดทำความคิดเห็นประกอบด้วยข้อมูลความคืบหน้าและสถานะการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญตามแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) และได้ยื่นต่อสำนักงาน USTR แล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562
4.สถานะของไทยและประเทศคู่ค้าอื่นของสหรัฐฯ
4.1 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 USTR ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าฯ ประจำปี 2562 โดยไทยยังคงสถานะอยู่ในบัญชี WL ร่วมกับประเทศอื่นอีก 24 ประเทศ ได้แก่ บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย คอสตาริกา โดมินิกันรีพับลิค เอกวาดอร์ อียิปต์ กรีซ กัวเตมาลา จาเมกา เลบานอน เม็กซิโก ปากีสถาน ปารากวัย เปรู โรมาเนีย สมาพันธรัฐสวิส ตุรกี เติร์กเมนิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุสเบกิสถาน และเวียดนาม (สำหรับประเทศที่อยู่ในบัญชี PWL มีจำนวน 11 ประเทศ ได้แก่ อัลจีเรีย อาร์เจนตินา ชิลี จีน อินเดีย อินโดนีเซีย คูเวต รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย ยูเครน และเวเนซุเอลา)
4.2 ในส่วนของรายงาน Notorious Markets ประจำปี 2561 ได้มีการระบุชื่อตลาดในไทย 2 แห่ง เป็นการละเมิดในท้องตลาด 1 แห่ง คือ ย่านพัฒนพงษ์ และตลาดออนไลน์ 1 แห่ง คือ www.shopee.co.th
5.พัฒนาการและความคืบหน้าการดำเนินการของไทย สหรัฐฯ แสดงความพอใจต่อนโยบายและผลการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่สำคัญ ดังนี้
5.1 ระดับนโยบายสูงสุดของรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการคุ้มครองและการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทำให้การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตด้วย
5.2 การแก้ไขปัญหางานค้างสะสมการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า โดยมีการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และการเสนอแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5.3 ไทยได้เข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่ภาคเอกชนสหรัฐฯ
5.4 มีการเสนอแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ
6. ข้อกังวล/ข้อเสนอแนะของสหรัฐฯ
6.1 ยังคงมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ทั้งในท้องตลาดและตลาดออนไลน์ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน การขโมยสัญญาณเคเบิลและดาวเทียม การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับมอบอำนาจและการดำเนินคดีทางแพ่งที่ใช้เวลานาน และค่าเสียหายที่เจ้าของสิทธิได้รับไม่สมเหตุสมผล
6.2 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2558 ในบางเรื่อง เช่น การคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี (Technological Protection Measures : TPM) และการลักลอบบันทึก ภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ (Camcording) ยังไม่ตอบสนองต่อข้อกังวลของสหรัฐฯ
6.3 ยังคงมีปัญหางานค้างสะสมการจดทะเบียนสิทธิบัตร โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา
6.4 ควรมีการป้องกันการนำผลข้อมูลการทดสอบยาและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่ไม่เป็นธรรมหรือการเปิดเผยข้อมูลฯ ที่เป็นความลับอย่างมีประสิทธิภาพ
6.5 ควรมีความโปร่งใสโดยให้ผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญามีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสาธารณสุข
7. พณ. เห็นว่าเนื่องจากการจัดสถานะประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ รวมถึงรายงาน Notorious Markets มีผลต่อภาพลักษณ์ด้านการค้าและการลงทุนของประเทศ ประกอบกับข้อกังวลและข้อเสนอแนะที่ระบุในรายงานของ USTR มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของหลายหน่วยงานที่ต้องร่วมกันดำเนินการต่อไป และแม้ว่าการจัดสถานะประจำปีนี้มีผลเป็นที่น่าพอใจแต่ในการรักษาสถานะของไทยไว้ในบัญชี WL หรือผลักดันให้ไทยหลุดจากทุกบัญชีในอนาคต ควรมีการพัฒนาระบบการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทุกรูปแบบ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตลอดจนการส่งเสริมความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการกำหนดนโยบาย และมาตรการด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ
12. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ของการประชุมระดับสูงของคณะกรรมการบริหาร OECD Development Centre ครั้งที่ 5
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ (Communiqué) ซึ่งจะเป็นเอกสารผลลัพธ์ของ การประชุมระดับสูงของคณะกรรมการบริหาร Development Centre ครั้งที่ 5 และมอบหมายให้นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารข้างต้นโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญ
ร่างแถลงการณ์ของการประชุม HLM มีสาระสำคัญ คือ สนับสนุนการผลักดันประเด็นเรื่อง การพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยได้มีการหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาของมวลมนุษยชาติ การขจัดความยากจน ความอ่อนแอ และความไม่เท่าเทียม พร้อมทั้งย้ำว่าการให้ความมั่นคงทางสังคมว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและมีบทบาทสำคัญในการลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการพัฒนามนุษย์ โดยกล่าวถึงยุทธศาสตร์สำหรับ DEV ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ (1) สังคมและเศรษฐกิจนอกระบบที่ครอบคลุม โดยเฉพาะการหาแนวทางพัฒนาการระดมทุนสนับสนุนระบบการคุ้มครองทางสังคมและการเพิ่มการศึกษาในเรื่องความอ่อนแอและเศรษฐกิจนอกระบบเพื่อสร้างความเข้าใจและการวัดมูลค่าของเศรษฐกิจนอกระบบในแต่ละประเทศให้ดียิ่งขึ้น (2) การระดมทุนเพื่อนโยบายสาธารณะโดยเฉพาะการสร้างและส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและการพัฒนาเมืองทางผ่านเพื่อการเชื่อมโยงเมืองกับชนบทและ (3) การพัฒนาช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะการวิเคราะห์บทบาทของนโยบายระดับประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำหนดการพัฒนาในช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนการขยายความรู้ความเข้าใจในความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตและการปฏิรูปดิจิทัล
ทั้งนี้ ศูนย์การพัฒนา (Development Centre หรือ DEV) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ได้เชิญผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของคณะกรรมการบริหาร Development Centre ครั้งที่ 5 (5th High-Level Meeting of the Governing Board หรือ HLM) ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายใต้หัวข้อหลัก การพัฒนาเพื่อคนทั้งมวล: บทบาทของนโยบายภายในและระหว่างประเทศ (Development for ALL: The Role of Domestic and International Policies) เพื่อหารือการสร้างแนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมตลอดจนการหารือเกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ ที่สำคัญในเรื่องวาระเพื่อการพัฒนาตลอดจนการกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของ DEV ซึ่งนายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ (Communique) เป็นเอกสารผลลัพธ์ด้วย
แต่งตั้ง
13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการ พลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย ดังนี้
1. นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
2. นายธนา เวสโกสิทธิ์ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
4. นายพินเทพ เทวกุล ณ อยุธยา กงสุลใหญ่ (นักบริหารการทูตระดับต้น) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ให้ดำรงตำแหน่ง กงสุลใหญ่ (นักบริหารการทูตระดับสูง) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง สับเปลี่ยนหมุนเวียน และเพื่อดำรงตำแหน่งซึ่ง ก.พ. กำหนดให้เป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตามลำดับ โดยการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศตามข้อ 1. ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ
14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่กำหนดขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2562 จัดตั้งกรมการขนส่งทางราง
15. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยขึ้นใหม่แทนตำแหน่งที่ครบกำหนดวาระ ดังนี้
1. นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นประธานกรรมการ
2. นายอมร พิมานมาศ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
3. นายวรรณชัย บุญบำรุง เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
4. นายชูศักดิ์ เกวี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
5. นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป
16. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 113 /2562 เรื่อง ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 113 /2562 เรื่อง ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 106/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
1.ยกเลิกความในข้อ 3.1.5 และ ข้อ 3.4.1 ของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 106/2562 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
2.ยกเลิกความในข้อ 2 ของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 106/2562 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 2.รองนายกรัฐมนตรี(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
2.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
2.1.1 กระทรวงการคลัง
2.1.2 กระทรวงการต่างประเทศ
2.1.3 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
2.1.4 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.1.5 กระทรวงคมนาคม
2.1.6 กระทรวงพาณิชย์
2.1.7 กระทรวงอุตสาหกรรม
2.1.8 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2.1.9 กระทรวงพลังงาน
2.1.10 กระทรวงศึกษาธิการ
2.1.11 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
2.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
2.2.1 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2.2.2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
2.2.3 กรมประชาสัมพันธ์
2.3 การมอบหมายให้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ดังนี้
-บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
2.4 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
2.4.1 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
2.4.2 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
2.4.3 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
2.4.4 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
2.4.5 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
2.4.6 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
2.4.7 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
17. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 114 /2562 เรื่อง ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 114 /2562 เรื่อง ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 107/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นั้น
เพื่อให้การบริหารราชการดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ปรับปรุงการมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1.ยกเลิกความในวรรคสองของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 107/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“เพื่อให้การบริหารราชการดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงให้ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 18/2561 ลงวันที่ 18 มกราคม 2561 ที่ 145/2561 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ที่ 67/2562 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2562 และ ที่ 74/2562 ลงวันที่ 9 เมษายน 2562 และมีคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้”
2. ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 99/2561 ลงวันที่ 26 เมษายน 2561
2.1 เฉพาะข้อ 1 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560
2.2 เฉพาะข้อ 2.2 เฉพาะข้อความ “4.2.2 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
3. ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 324/2560 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เฉพาะข้อ 2.2.1 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560
4. ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 99/2561 ลงวันที่ 26 เมษายน 2561 ส่วนที่นอกเหนือจากข้อ 2 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
5.ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 324/2560 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ส่วนที่นอกเหนือจากข้อ 3 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี