วันนี้ (9 กรกฎาคม 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. .... และร่างระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. .... และร่างระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างระเบียบฯ
1. ร่างระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. ....
ร่างระเบียบฯ ได้กำหนดวิธีการในการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของหน่วยรับงบประมาณ ไปให้หน่วยรับงบประมาณอื่น ดังนี้
(1) กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายที่จะโอนไปให้หน่วยรับงบประมาณอื่น ต้องเป็นงบประมาณรายจ่ายที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงงบประมาณเหลือจ่าย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงงบประมาณรายจ่ายที่เป็นเงินอุดหนุนทั่วไปสำหรับหน่วยงานของรัฐสภา ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอัยการ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีกฎหมายกำหนดให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(2) การโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ
กำหนดให้ผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ซึ่งได้แก่ผู้ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำงบประมาณบูรณาการเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติหลักการในการโอนงบประมาณ โดยหน่วยงานเจ้าภาพบูรณาการจะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำความเห็นเสนอผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการพิจารณาว่าสมควรให้มีการโอนงบประมาณให้หน่วยงานใดหรือไม่ โดยพิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นของหน่วยรับงบประมาณที่ดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และหน่วยงานที่ขอรับโอนงบประมาณ โดยสำนักงบประมาณจะเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาด้วย และหากผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการอนุมัติหลักการให้โอนงบประมาณแล้ว หน่วยรับงบประมาณที่ขอรับโอนงบประมาณจะต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณส่งให้สำนักงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาโอนงบประมาณให้ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณต่อไป
(3) การโอนงบประมาณรายจ่ายบุคลากร
โดยการโอนงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภายใต้แผนงานบุคลากรภาครัฐ จะเริ่มพิจารณาในช่วงก่อนสิ้นไตรมาสที่สาม คือประมาณสิ้นเดือนพฤษภาคม โดยสำนักงบประมาณจะร่วมกับหน่วยรับงบประมาณตรวจสอบผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณว่ามีงบประมาณรายจ่ายบุคลากรที่ไม่สามารถใช้จ่าย หรือก่อหนี้ผูกพันให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณสามารถโอนไปให้หน่วยรับงบประมาณอื่นหรือไม่ ในขณะเดียวกันหน่วยรับงบประมาณที่มีงบประมาณรายจ่ายบุคลากรไม่เพียงพอจะต้องจัดทำคำของบประมาณมาที่สำนักงบประมาณ ซึ่งกำหนดให้เริ่มส่งคำของบประมาณเมื่อสิ้นไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ
กรณีที่สำนักงบประมาณพิจารณาแล้วมีความจำเป็นต้องโอนงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของหน่วยรับงบประมาณไปให้หน่วยรับงบประมาณอื่น จะพิจารณาโอนงบประมาณภายในกระทรวงเดียวกันก่อนในลำดับแรก หากยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะโอนให้หน่วยรับงบประมาณต่างกระทรวงจะพิจารณาโอนในลำดับถัดไป
2. ร่างระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. ....
ร่างระเบียบฯ ยังคงสาระสำคัญตามระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีการแก้ไขข้อความเพียงเล็กน้อยเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ดังนี้
(1) แก้ไขคำว่า “ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ” เป็น “หน่วยรับงบประมาณ”
(2) เพิ่มเติมกรณีการเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันซึ่งจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยกำหนดให้กรณีที่ต้องมีการขยายระยะเวลาการก่อหนี้ผูกพัน ก็ให้เสนอคณะรัฐมนตรีในคราวเดียวกันด้วย เนื่องจากเป็นกรณีที่มีผลกระทบต่อสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณตามมาตรา 11 (4) ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
(3) เพิ่มเติมให้สำนักงบประมาณสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารวงเงินงบประมาณสอดคล้องกับงวดงานที่ดำเนินการจริง
2. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญ
1. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ.2529 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 13 ได้กำหนดโอกาสและวันพิธีสำคัญให้ชักและประดับธงชาติ ณ อาคารสถานที่ ยานพาหนะ และที่สาธารณสถาน ดังนี้
1.วันขึ้นปีใหม่ 1 ม.ค.จำนวน 1 วัน
2.วันมาฆบูชา 1 วัน
3.วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันที่ 6 เม.ย.จำนวน 1 วัน
4.วันสงกรานต์ วันที่ 13 เม.ย.จำนวน 3 วัน
5.วันฉัตรมงคล วันที่ 4 พ.ค.จำนวน 1 วัน
6.วันพืชมงคล 1 วัน
7.วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี วันที่ 3 มิ.ย.จำนวน 1 วัน
8.วันวิสาขบูชา 1 วัน
9.วันอาสาฬหบูชา 1 วัน
10.วันเข้าพรรษา 1 วัน
11.วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 และวันที่ 29 ก.ค.จำนวน 2 วัน
12.วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันแม่แห่งชาติ วันที่ 12 ส.ค.จำนวน 1 วัน
13.วันพระราชทานธงชาติไทย วันที่ 28 ก.ย.จำนวน 1 วัน
14.วันสหประชาชาติ วันที่ 24 ต.ค.จำนวน 1 วัน
15.วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ วันที่ 5 และวันที่ 6 ธ.ค.จำนวน 2 วัน
16.วันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธ.ค.จำนวน 1 วัน
การชักและประดับธงในโอกาสหรือวันพิธีสำคัญอื่นๆ ให้เป็นไปตามที่ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นครั้งคราว
ส่วนการชักและประดับธงในงานพิธีสำคัญอื่นๆ ตามประเพณีนิยมให้ปฏิบัติต่อธงด้วยความเคารพ
2. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล และวันหยุดราชการประจำปี
3. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 มีพระบรมราชโองการประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
4. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 มีพระบรมราชโองการประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกอบกับเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 มีพระบรมราชโองการประกาศเรื่อง การกำหนดวันสำคัญของชาติไทย มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดว่า วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันชาติและเป็นวันพ่อแห่งชาติ
5. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีกำหนดให้วันที่ 3 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เป็นวันหยุดราชการประจำปี
6.สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 โดยยกร่างเป็นร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีหลักการและสาระสำคัญดังนี้
6.1เพิ่มเติมให้มีการกำหนดโอกาสและวันพิธีสำคัญให้ชักและประดับธงชาติ รวม 2 วัน ดังนี้
6.1.1 วันฉัตรมงคล วันที่ 4 พฤษภาคม จำนวน 1 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ที่กำหนดให้วันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล และเป็นวันหยุดราชการประจำปี
6.1.2 วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี วันที่ 3 มิถุนายน จำนวน 1 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ซึ่งกำหนดให้วันที่ 3 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เป็นวันหยุดราชการประจำปี
6.2 แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดของวันที่กำหนดให้ชักและประดับธงชาติรวม 3 วัน ดังนี้
6.2.1 แก้ไขจาก “วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันที่ 28 และวันที่ 29 กรกฎาคม” เป็น “วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 และวันที่ 29 กรกฎาคม” เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว อนึ่ง การกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติในวันที่ 28 และวันที่ 29 กรกฎาคม รวม 2 วัน นั้น เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ 2529 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 13 (9) กำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติในวันที่ 28 และวันที่ 29 กรกฎาคม รวม 2 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับหมายกำหนดการพระราชพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
6.2.2 แก้ไขจาก “วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม” เป็น “วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันแม่แห่งชาติ วันที่ 12 สิงหาคม” เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชชนนี ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ที่กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันแม่แห่งชาติด้วย
6.2.3 แก้ไขจาก “วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ วันที่ 5 และวันที่ 6 ธันวาคม” เป็น “วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ วันที่ 5 และวันที่ 6 ธันวาคม” เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกอบกับเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 มีประกาศพระบรมราชโองการเรื่องการกำหนดวันสำคัญของชาติไทย มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดว่า วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันชาติ และเป็นวันพ่อแห่งชาติ อนึ่ง การกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติในวันที่ 5 และวันที่ 6 ธันวาคม รวม 2 วัน นั้น เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ.2529 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 13 (13) กำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติในวันที่ 5 และวันที่ 6 ธันวาคม รวม 2 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับหมายกำหนดการพระราชพิธีวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
เศรษฐกิจ - สังคม
3. เรื่อง สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2562
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 3/2562 ตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
มติการประชุม กนป. ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ดังนี้
1. ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาราคาผลปาล์มน้ำมันตกต่ำ
1) รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ ตามมติ กนป. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) และผลปาล์มน้ำมัน (อัตราสกัดน้ำมัน ร้อยละ 18) ในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกิโลกรัมละ 15.75 - 16.00 บาท และกิโลกรัมละ 2.00 - 2.30 บาท ในเดือนเมษายน 2562 เป็นกิโลกรัมละ 21.75 - 22.00 บาท และกิโลกรัมละ 3.45 - 4.10 บาทในเดือน มิถุนายน 2562 ตามลำดับ ซึ่งการปรับตัวของราคาที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากความร่วมมือในการดำเนินมาตรการของกระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์
2) มอบหมายและกำชับให้คณะทำงานการแก้ไขปัญหาการนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม (คนป.) เข้มงวดการตรวจติดตามการนำเข้าปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากขณะนี้มีความแตกต่างของราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยสูงกว่าราคาในประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก
3) รับทราบความคืบหน้าการจัดทำเกณฑ์โครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ซึ่งกรมการค้าภายใน ได้รายงานปัญหาการพิจารณาข้อมูลค่าใช้จ่ายในการผลิต (ค่าสกัด) ที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ภาคเกษตรกร และภาคราชการ และยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มโดยด่วนที่สุด เพื่อให้ได้ข้อยุติและจัดส่งให้ฝ่ายเลขานุการ กนป. นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ต่อไป
2. การทบทวนยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ
1) รับข้อสังเกตของกรรมการ กนป. ไปทบทวน ปรับปรุง แก้ไข เช่น ด้านการผลิต มุ่งเน้นพื้นที่สอดคล้องกับ Zoning by Agri-map และไม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม แต่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และเปอร์เซ็นต์น้ำมัน) ด้านพลังงาน ให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลพลอยได้ (By product) ได้แก่ น้ำเสียจากกระบวนการผลิต และทะลายเปล่าปาล์ม ไปผลิต Biogas และ Biomass เป็นต้น
2) เห็นชอบการทบทวนยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม รวม 6 ด้าน (ด้านการผลิต ด้านนวัตกรรม ด้านมาตรฐานปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ด้านพลังงาน ด้านการตลาด และด้านการบริหารจัดการ) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอทั้ง 3 ระยะ และปรับระยะเวลาดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติเป็น ปี 2561 - 2580 (เดิมปี 2560 - 2579)
3) มอบหมายกระทรวงพาณิชย์รวบรวมยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ที่ได้มีการทบทวนและแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ แล้วจัดส่งให้ฝ่ายเลขานุการ กนป. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ต่อไป
4. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการสนับสนุนการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอดังนี้
1. อนุมัติให้กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบกดำเนินโครงการสนับสนุนการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ เป็นจำนวน 670 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,744.138 กิโลเมตร ปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 17,435.040 ตัน งบประมาณรวมทั้งสิน 2,568,783,400 บาท
2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่กระทรวงการคลังอนุมัติให้ขยายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2562 แล้ว วงเงิน 1,645,216,100 บาท ให้กองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินโครงการสนับสนุนการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามข้อ 1. ต่อไป
ต่างประเทศ
5. เรื่อง การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม Focal Points Network on Women, Peace and Security ณ กรุงวินด์ฮุก ระหว่างวันที่ 10 – 11 เมษายน 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของผู้ประสานงานระดับชาติด้านสตรี สันติภาพ และความมั่นคง (Joint Communiqué by the Focal Points on Women, Peace and Security) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมเครือข่ายผู้ประสานงานระดับชาติด้านสตรี สันติภาพ และความมั่นคง ณ กรุงวินด์ฮุก ระหว่างวันที่ 10 - 11 เมษายน 2562 โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนการรับรองให้กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง พร้อมมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) รับทราบและถือปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างถ้อยแถลงของผู้ประสานงานระดับชาติด้านสตรี สันติภาพ และความมั่นคง (Joint Communiqué by the Focal Points on Women, Peace and Security) เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมเครือข่ายผู้ประสานงานระดับชาติด้านสตรี สันติภาพ และความมั่นคง ครั้งที่ 3 ณ กรุงวินด์ฮุก นาบิเบีย ระหว่างวันที่ 10 - 11 เมษายน 2562 ภายใต้หัวข้อ “Women, Peace and Security : Towards Full Participation” (สตรี สันติภาพ และความมั่นคง มุ่งสู่การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่) และหัวข้อย่อย “Mainstreaming the Women, Peace and Security agenda in Regional Economic Communities (การผนวกวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคงในประชาคมเศรษฐกิจภูมิภาค)” โดยฝ่ายผู้จัดการประชุมได้เวียนร่างเอกสารดังกล่าวให้รัฐสมาชิกพิจารณาให้การรับรองภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม โดยมีสาระสำคัญ เช่น การผนวกรวมวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคงเข้ากับแผนประชาคมเศรษฐกิจภูมิภาคและสนับสนุนการบังคับใช้ฝ่านกรอบการดำเนินงานและแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค การรับรองแผนปฏิบัติการระดับชาติ (National Action Plan) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามข้อมติฯ ที่ 1325 (ค.ศ.2000) และข้อมติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและการเพิ่มพูนบทบาทและการแสดงออกของเยาวชนและสตรีในการสร้าง รักษา และเสริมสร้างสันติภาพ เป็นต้น
6. เรื่อง รายงานผลการจัดระดับประเทศไทยในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาประจำปี 2562 (พม.)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report (TIP Report) ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 โดยจัดระดับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวม 187 ประเทศ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ประเทศไทยยังไม่สามารถขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา แต่ได้เพิ่มความพยายามอย่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยรวมมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงการรายงานที่ผ่านมา ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังคงถูกจัดระดับอยู่ในระดับ 2 (Tier 2) เช่นเดียวกับปี 2561 (ประเทศในอาเซียนที่อยู่ในระดับ Tier 2 คือ สิงคโปร์และอินโดนีเซีย)
2. การดำเนินงานที่สำคัญของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้น เช่น การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์อย่างเข้มงวดด้วยการจำคุกเป็นเวลานานและตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ด้วยการให้ออกจากราชการ การพัฒนาคู่มือการทำงานต่างๆ ร่วมกับหุ้นส่วนในภาคประชาสังคม การวางมาตรฐานด้านการฝึกอบรมต่อต้านการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ได้ดำเนินการคัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายไปยังทีมสหวิชาชีพเป็นครั้งแรก ส่งผลให้สามารถคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้
3. ประเทศไทยยังไม่สามารถบรรลุมาตรฐานขั้นต่ำในหลายประเด็นที่สำคัญ เช่น การดำเนินคดีและตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์มีจำนวนลดลง และสามารถไต่สวนคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้เพียง 43 คดี รัฐบาลจำกัดการเดินทางและช่องทางการสื่อสารของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่อยู่ในสถานคุ้มครองของรัฐ การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐยังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถคัดแยกคดีค้ามนุษย์อย่างได้มาตรฐาน สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้มีข้อเสนอแนะนำที่สำคัญ เช่น พัฒนาศักยภาพของผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการเชิงรุกในการดำเนินคดีและตัดสินโทษผู้ค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน สอบสวนและดำเนินคดีในเชิงรุกกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์รวมทั้งตัดสินและลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยบทลงโทษที่เด็ดขาด สร้างความเชื่อมั่นว่าสถานคุ้มครองของรัฐและองค์การนอกภาครัฐจะดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงผลกระทบจากบาดแผลทางจิตใจอย่างเหมาะสม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการเยียวยาสภาพจิตใจ ทั้งนี้ พม.จะได้จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อพิจารณาข้อแนะนำที่สำคัญดังกล่าวและมอบเจ้าภาพหลักรับผิดชอบในแต่ละประเด็น และใช้ในการติดตามผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้เป็นกรอบในการจัดทำรายงานของประเทศไทยในปีต่อไป
7. เรื่อง การรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองการากัส (Caracas Political Declaration) ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุม NAM CoB เป็นผู้ร่วมรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองการากัส ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของร่างปฏิญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของไทยก่อนการรับรอง ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถใช้ดุลยพินิจดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในการเจรจาและดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ หากปรากฏว่า ถ้อยคำในร่างสุดท้ายของปฏิญญาทางการเมืองการากัส และเอกสารอื่นๆ ที่จะได้รับพิจารณาในที่ประชุม NAM CoB ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์และท่าทีของไทยในสาระสำคัญ แสดงท่าทีเชิงลบ หรือมีถ้อยคำรุนแรงประณามประเทศอื่นใด ให้กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือแจ้งข้อสงวน (reservation) หรือแสดงท่าทีที่อธิบายอย่างระมัดระวังถึงเหตุผลของไทยซึ่งทำให้ไม่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับถ้อยคำดังกล่าวได้ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
ร่างปฏิญญาทางการเมืองการากัสมีเนื้อหายืนยันและเน้นย้ำหลักการและท่าทีของกลุ่มประเทศ NAM ที่จะเคารพหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติ บรรทัดฐานและหลักการต่างๆ ที่เป็นที่ยึดถือในระดับนานาชาติ เพื่อการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของโลกโดยปราศจากการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียว
8. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการเร่งยกระดับภาคราชการพลเรือนในยุคดิจิทัล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อถ้อยคำและสาระของร่างถ้อยแถลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการเร่งยกระดับภาคราชการพลเรือนในยุคดิจิทัล (ASEAN Statement on Promotion of Good Governance and Acceleration of an Agile Civil Service in a Digital Economy) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้สำนักงาน ก.พ.สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และอนุมัติให้เลขาธิการ ก.พ.ในฐานะผู้นำภาคราชการพลเรือนรับรองและร่วมลงนามในร่างถ้อยแถลงดังกล่าวข้างต้น ในการประชุมผู้นำภาคราชการพลเรือนอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 ในเดือนสิงหาคม 2562 ณ กรุงเทพมหานคร ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการเร่งยกระดับภาคราชการพลเรือนในยุคดิจิทัล (ASEAN Statement on Promotion of Good Governance and Acceleration of an Agile Civil Service in a Digital Economy) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ที่ผู้นำภาคราชการพลเรือนของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะให้การรับรองและลงนามร่วมกันในการประชุมผู้นำภาคราชการพลเรือนอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2562 ณ กรุงเทพมหานคร และจะนำเสนอถ้อยแถลงดังกล่าวต่อผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อรับทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนประจำปี พ.ศ.2562 เป็นเจ้าภาพ มีสาระสำคัญ สรุปดังนี้
1. ส่งเสริมการเร่งพัฒนาศักยภาพของภาคราชการพลเรือนในอาเซียนให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัว เพื่อให้สามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยการปรับปรุงนโยบาย แนวทาง กระบวนการ ระบบ องค์กร กำลังคน และทัศนคติของข้าราชการให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
2. เสริมสร้างความร่วมมือในภาคราชการพลเรือนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการตอบสนองต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เกิดขึ้นในสังคมโลก โดยใช้กลไกกลยุทธ์ กรอบแนวคิด และเวทีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
(1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
(2) การพัฒนากรอบแนวคิดเพื่อการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับองค์กรเฉพาะสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องในอาเซียน ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน องค์การระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการส่งเสริมธรรมาภิบาลและราชการพลเรือนที่มีประสิทธิภาพและคล่องตัวในยุคดิจิทัล
3. ส่งเสริมวัฒนธรรมด้านธรรมาภิบาลในข้าราชการพลเรือนทุกระดับและในหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพื่อให้ประชาคมอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาที่ยั่งยืน
แต่งตั้ง
9. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.) จำนวน 3 คน ดังนี้
1. ศาสตราจารย์เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกิจกรรมทางทะเล
2. ศาสตราจารย์ชุมพร ปัจจุสานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
3. พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการทหารเรือ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป
10. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายวิเชียร พงศธร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านวิศวกรรม ในคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ แทนผู้ที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี