อึ้ง!ใช้กระดาษแค่4แผ่น
กู้2.2ล้านล้าน
สภาฯนัดถก28-29มีนา
ปชป.เตรียม50ส.ส.ชำแหละพรบ.
“ทักษิณ”ป้วนเปี้ยนบินโผล่ที่พม่า
40สว.ขู่ยื่นปปช.เอาผิดคนแก้รธน.
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทว่า ล่าสุด ได้เชิญวิปฝ่ายรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน มาหารือกันเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า สภาฯ จะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท 2 วัน ระหว่างวันที่ 28-29 มี.ค. โดยจะใช้วิธีเรียกประชุมสภาฯ นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาในเรื่องนี้
สภาฯนัดถกพรบ.เงินกู้28-29มีนา
โดยเฉพาะในวันที่ 28-29 มี.ค. ไม่จำเป็นต้องใช้มติที่ประชุมขอเลื่อนกฎหมายมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนวันที่ 27 มี.ค.จะเป็นการประชุมทั่วไปตามวาระปกติ โดยกำหนดให้ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านอภิปรายฝ่ายละ 12 ชั่วโมงครึ่ง เริ่มตั้งแต่เวลา 09.30-22.00 น. และจะถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ให้ประชาชนได้รับชมด้วย
ส่วนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในขั้นรับหลักการนั้น กำหนดให้พิจารณาระหว่างวันที่ 1-2 เม.ย. หากพิจารณายังไม่เสร็จก็ค่อยมาหารืออีกครั้งว่าจะขยายเวลาให้หรือไม่ โดยให้วิปแต่ละฝ่ายไปตกลงเรื่องเวลาในการอภิปรายกันเอง
อึ้ง!กระดาษ4แผ่นขอกู้2.2ล้านล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น มีเนื้อหา 4 หน้า รวม 19 มาตรา โดยมีมาตราที่สำคัญ ได้แก่ หมวด 1 การกู้เงินและบริหารจัดการเงินกู้ มาตรา 5 ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาท หรือเงินตราต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามยุทธศาสตร์และแผนงาน และภายในวงเงินที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.นี้ โดยวงเงินกู้ รวมกันไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ภายในกำหนดเวลาไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.2563
ส่วนมาตรา 6 บัญญัติให้ไม่ต้องนำเงินที่กู้ส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง มาตรา 9 ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ดังกล่าว โดยดำเนินการกู้เงินรายใหม่ เพื่อชำระหนี้เดิมแปลงหนี้ ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระ ขยายหรือย่นระยะเวลาการชำระหนี้ ต่ออายุซื้อคืน หรือไถ่ถอนตราสารหนี้ของรัฐบาลหรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้
ขณะที่มาตรา 10 กำหนดว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะกระทำได้เฉพาะเพื่อเป็นการประหยัด ลดความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน หรือกระจายภาระการชำระหนี้ โดยจะกู้เป็นสกุลเงินแตกต่างจากหนี้เดิมก็ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ให้นับรวมเข้าไปวงเงิน 2 ล้านล้านบาท และต้องไม่เกินจำนวนเงินกู้ที่ยังค้างชำระ
สภาพัฒน์ต้องเห็นชอบโครงการ
อย่างไรก็ตาม หากหนี้เงินกู้ที่จะทำการปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวนเงินมาก และกระทรวงการคลังเห็นว่า ไม่สมควรกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ในคราวเดียวกัน อาจทยอยกู้เงินเป็นการล่วงหน้าได้ไม่เกิน 12 เดือน ก่อนถึงกำหนดวันชำระหนี้ได้ โดยมาตรา 11 กำหนดให้กองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศทำหน้าที่บริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนมาตรา 12 กำหนดให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ทำหน้าที่บริหารและจัดการการกู้เงินการเบิกจ่าย การชำระหนี้ที่เกี่ยวกับการกู้เงิน
สำหรับหมวด 2 การเสนอและการบริหารจัดการโครงการ มาตรา 14 ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำรายละเอียดของโครงการ เสนอให้ ครม.อนุมัติ ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังก่อน มาตรา 18 กำหนดให้กระทรวงเจ้าสังกัดของโครงการต้องจัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลโครงการและแผนงาน และรายงานผลต่อกระทรวงการคลังด้วย และมาตรา 19 กำหนดว่าให้ ครม.ต้องรายงานผลการกู้เงินและการดำเนินงานต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อทราบภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
“แม้ว”โผล่พม่าไปท่าเรือทวาย
สำนักข่าวอีเลฟเว่นของประเทศพม่า ได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่าเมื่อเช้าวันที่ 21 มี.ค. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีอาญาแผ่นดินที่ทางการไทยต้องการตัว ได้เดินทางพร้อมคณะโดยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวจากเมืองย่างกุ้งมายังเมืองทวายของพม่า เพื่อร่วมหารือโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ส่วนรายละเอียดการเยือนพม่าครั้งนี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ
มีรายงานด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินออกจากพม่าภายในวันเดียวกันนี้เพื่อไปยังเกาะฮ่องกง โดยเปิดให้ ส.ส.เข้าพบเยี่ยมเยือน พร้อมกันนี้ยังได้เรียกแกนนำเข้าหารือเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาสัปดาห์หน้า
“นพดล” รับ “แม้ว” มาพม่าจริง
ด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฏหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชิวัตร กล่าวยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางมาที่พม่าจริง แต่มาด้วยสาเหตุใดอันนี้ไม่ทราบ เพราะเมื่อระบบสื่อสารของประเทศพม่าล่ม แต่ขณะนี้พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางออกจากประเทศพม่าแล้วและเดินทางต่อไปยังประเทศในเอเชีย แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ใด แต่อาจจะเดินทางไปที่เกาะฮ่องกง และไม่เกี่ยวกับการไปคุมเกมในสภาฯเรื่องพรบ.เงินกู้ 2.2ล้านล้านบาทเพราะถ้าจะทำจริงอยู่ที่ไหนก็สไกป์ได้
ปชป.ตั้งป้อมรอถล่มพรบ.เงินกู้
นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ "วิปฝ่ายค้าน" กล่าวว่า เบื้องต้นมีส.ส.ได้ยื่นขออภิปรายร่างพรบ.เงินกู้ดังกล่าวแล้ว 50 คน ขณะเดียวกันมีการแยกประเด็นที่จะใช้อภิปราย โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะเป็นผู้กำหนดประเด็นด้วยตนเอง และทั้งหมดจะสรุปในวันอังคารที่ 26 มี.ค. ในการประชุมของวิปฝ่ายค้าน
ทั้งนี้ มองว่า การที่รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งรีบและรวบรัดนั้นทำให้เกิดความสงสัยอีกทั้งยังไม่เห็นรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าวเลย ทั้งที่ตามปกติต้องส่งรายละเอียดให้กับส.ส.ได้พิจารณาก่อนการอภิปราย อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลไม่ส่งเอกสารและไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เชื่อว่า จะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในที่ประชุมสภาอย่างแน่นอน
ยื่นปปช.ฟันสว.-สส.แก้รธน.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สว.สรรหา หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. ให้สัมภาษณ์ กรณี ส.ว.และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยเน้นแก้ไขประเด็นที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง ว่า นอกจากทางกลุ่มฯจะเตรียมยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะยื่นต่อองค์กรตรวจสอบอื่น อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)ด้วย
โดยเห็นว่า การกระทำและเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา 122 ทั้งประเด็นการเสนอแก้ที่มาของส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน และการแก้มาตรา 68 ให้ประชาชนยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุดได้ทางเดียวหากพบเห็นการกระทำล้มล้าง การปกครอง ซึ่งถือเป็นการจำกัดและตัดสิทธิ์ของประชาชนที่จะยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐ ธรรมนูญ
แสดงให้เห็นว่า เป็นการกระทำที่ประสงค์จะไม่ให้มีการตรวจสอบ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ส่งเสริมประชาชนให้มีส่วนร่วมในการตรวจ สอบการใช้อำนาจรัฐ และยังไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมในมาตรา 3 วรรคท้ายด้วย ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญรับและตีความว่าขัดจริง การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ก็ต้องยุติไป และหากปปช.ตัดสินว่าขัดเช่นกัน ผู้ที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ก็จะมีความผิดตาม มาตรา 157 ด้วย
จีบภูมิใจไทยหนุนพรบ.นิรโทษ
นายสมคิด เชื้อคง สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองว่า ขณะนี้ได้ไปหารือทำความเข้าใจกับ สส.พรรคชาติไทยพัฒนาเพื่อขอเสียงสนับสนุนเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษขึ้นมาเป็นวาระพิจาณาเร่งด่วน ในขณะเดียวกัน น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ไปหารือกับแกนนำพรรคภูมิใจไทย เพื่อขอเสียงสนับสนุนเช่นเดียวกัน
นายสมคิดกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีเสียงจาก สส.ที่ร่วมลงชื่อเเล้ว 40 เสียง เเละ สส.พรรครักประเทศไทยอีก 2 เสียงที่ยืนยันเเล้วว่าจะสนับสนุน บวกกับเสียง สส.พรรคเพื่อไทยรายอื่นรวมแล้ว 100 กว่าเสียง ดังนั้นหากได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลเเละพรรคภูมิใจไทยจะสามารถเดินหน้าได้เร็วขึ้นคาดว่าช่วงวันที่3-4เม.ย.จะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาได้
พท.จวก 40สว.ไร้จุดยืน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวแสดงความไม่พอใจที่กลุ่ม 40 ส.ว.ขู่ยื่นตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา
“กำพืดของส.ว.กลุ่มนี้มีที่มาและได้ประโยชน์เต็มๆ จากการทำรัฐประหาร เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)และเป็นส.ว.สรรหารวมแล้ว 11 ปี จึงไม่แปลกใจที่จะมีแนวความคิดสวนทางกับประชาชนเสียงข้างมากในประเทศตลอดเวลา เรียกว่า คงเส้นคงวาในจุดยืนฝืนมติมหาชนในระบอบประชาธิปไตย “นายอนุสรณ์ ระบุ
ทั้งยังถากถามว่า”"พอรู้ว่าจะให้ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งส.ว.กลับเกิดอาการลมจะใส่ ทุรนทุรายกันหมด กลัวว่าชีวิตนี้จะไม่ได้เป็นส.ว.ด้วยวิธีพิเศษอีก ท่านไม่คิดจะพัฒนาตัวเองเลยหรือ อย่างน้อยก็เป็นทางเลือกอย่างสง่างามให้กับประชาชนบ้าง ส่วน ส.ว.ที่เตรียมถอนชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราโดยอ้างว่าถูกหลอกนั้น วุฒิภาวะขนาดนี้ เป็นถึงส.ว.สรรหา ถ้าถูกหลอกก็อย่าไปเป็นอีกเลยส.ว. อายชาวบ้านเขาเปล่าๆ"นายอนุสรณ์กล่าว
องค์กรศาลมีความสำคัญ
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวบรรยายนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 4 ในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลกับการเมือง” ตอนหนึ่ง ว่า ขณะนี้มีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพยายามเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการพูดถึงทุกครั้งที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเรื่องนี้น่าจะถามประชาชนว่าจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างไรบ้างเพราะปัจจุบันทำให้ประชาชนกลับมาชนะคดีมากกว่าร้อยละ 40
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่เห็นด้วยถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการลดอำนาจประชาชน ซึ่งตนเห็นว่าประชาชนควรมีอำนาจมากขึ้นและรัฐต้องมีอำนาจลดลง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี