วันนี้ (15 เมษายน 2563) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
กค. เสนอว่า
1. สภากาชาดไทยเป็นองค์กรสาธารณกุศลเพื่อมนุษยธรรมตามหลักการกาชาดสากล มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วย บาดเจ็บบรรเทาทุกข์ในเหตุการณ์สาธารณภัย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ สัญชาติ ลัทธิ ศาสนา โดยถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ. 2436 การดำเนินงานสภากาชาดไทยมีสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานการดำเนินกิจการเหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ ให้สามารถสนับสนุนภารกิจของสภากาชาดไทยอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรในนามของ “เหล่ากาชาดจังหวัด” ซึ่งมีหน้าที่บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย และราษฎรที่ยากจนในท้องถิ่นทุรกันดาร ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมกิจการอนุกาชาด อาสากาชาด บริการโลหิต และบริการดวงตา
2. โดยการดำเนินกิจการของสภากาชาดไทยมีแหล่งเงินทุนประกอบด้วย เงินจัดสรรให้โดยตรงจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินการ รวมถึงดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสภากาชาดไทย และโดยที่มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทย พ.ศ. 2461 บัญญัติให้สภากาชาดไทยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรรมการสภากาชาดไทยจัดการเรี่ยไรในหนทางต่าง ๆ ที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อรับเงินมาเป็นทุนดำเนินกิจการของสภากาชาดไทย
3. ดังนั้น เพื่อช่วยส่งเสริมให้มีการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานองค์กรสาธารณกุศลตามหลักการกาชาดสากล อันจะช่วยในการดำเนินงานของสภากาชาดไทย ซึ่งมีภารกิจด้านบริการทางการแพทย์และสุขอนามัยของประชาชนเป็นหลักสำคัญ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมสุขภาพอนามัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น เห็นควรกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริจาคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทย จึงเห็นควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดา บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินให้แก่สภากาชาดไทย ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าวสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรให้แก่สภากาชาดไทย ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 กค. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ขึ้น
4. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยรายงานว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวส่งผลให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีลดลงตลอดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ประมาณ 180 ล้านบาท แต่มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
4.1 ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการให้บริการสภากาชาดไทย ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพด้านการสาธารณสุขของประเทศให้ดีขึ้น และลดงบประมาณของรัฐ
4.2 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงินของสภากาชาดไทย เพื่อนำไปใช้สนับสนุนบริการด้านสาธารณสุขให้เกิดความทั่วถึง และประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น
4.3 ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกาชาดสากล
4.4 ช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านสาธารณสุข
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สภากาชาดไทย สามารถหักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สภากาชาดไทย สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่ได้จ่ายใน การจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่าย เพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
3. เงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือขายสินค้าหรือการกระทำตราสารที่มาจากการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทยของบุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล
4. ช่องทางการบริจาคที่ได้รับการยกเว้นรัษฎากร การบริจาคผ่านระบบอิเล็อทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร
5. ระยะเวลา สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
2. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยพิจารณาในประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
คค. เสนอว่า
1. คค. โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ร่วมกับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะอนุกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี (คกอ.) (คณะพิเศษ) ตามคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) แล้วเห็นว่า ปัจจุบันนี้ยังไม่มีกฎหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุม กำกับ ดูแลและบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้เชื่อมต่อในระบบการขนส่งมวลชนในทุกรูปแบบ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศได้โดยตรง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ ต่อไป แต่เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน นวัตกรรมเทคโนโลยีระบบตั๋วร่วมและระบบการชำระเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับจำนวนผู้ประกอบการขนส่งมวลชนทางรางกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกหลายราย ทั้งในเขตกรุงเทพฯ จังหวัดปริมณฑล และเมืองหลักในภูมิภาค จึงจะทำให้การควบคุม กำกับ ดูแลและบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเป็นไปอย่างยากลำบาก หากยังไม่มีหรือการออกกฎหมายพระราชบัญญัติในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมล่าช้า ในระยะเริ่มแรกจึงเห็นสมควรจัดทำเป็นร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ขึ้นก่อน เพื่อให้มีกฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมได้โดยเร็ว ซึ่งร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เป็นเพียงมาตรการทางการบริหาร กำกับ ดูแลระบบตั๋วร่วม ใช้ได้เฉพาะกับผู้ประกอบการขนส่งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ในอนาคตหากจะให้สามารถนำไปใช้กับผู้ประกอบการขนส่งทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมดจำเป็นต้องมีการจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติต่อไป ซึ่งจะสามารถใช้บังคับกับผู้ประกอบการขนส่งทั้งภาครัฐและเอกชนได้
2. ระบบตั๋วร่วมนี้เป็นไปตามนโยบายการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนโยบายการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ของ คค. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชนโดยการจัดการระบบการขนส่งสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาล ซึ่งการกำหนดนโยบายดังกล่าว คค. ได้จัดให้มีการศึกษาและจัดทำแผนการใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบ เช่น Common Ticket สามารถให้บริการได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และมีการพัฒนาการให้บริการรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศทั้งระบบ และมีการจัดเก็บค่าโดยสารเป็นระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) หรือระบบตั๋วร่วม รวมทั้งมีราคาค่าโดยสารที่เหมาะสม ทั้งนี้ต้องไม่มีผลกระทบต่องบประมาณภาครัฐ โดยมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ไม่จัดเส้นทางเดินรถที่ซ้ำซ้อน และศึกษาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าโดยต้องไม่เป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐ
3. คค. โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนาระบบตั๋วร่วมแล้วเสร็จ พร้อมที่จะบูรณาการการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนในทุกรูปแบบ โดยผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนอาจจะต้องมีการปรับปรุงระบบจัดเก็บรายได้ และระบบการเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้งานในระบบตั๋วร่วมได้ สำหรับระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและอยู่ในแผนของ คค. จะต้องดำเนินการจัดทำระบบตามมาตรฐานระบบตั๋วร่วมที่กำหนดไว้ แต่การที่จะดำเนินการให้เกิดการบูรณาการเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมในระบบขนส่งมวลชนได้นั้น ตัองได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนในการเข้าร่วมให้บริการระบบตั๋วร่วมและกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยกลไกด้านกฎหมายในการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานและขอบเขตความร่วมมือการให้บริการระบบตั๋วร่วม รวมถึงหลักเกณฑ์การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและสร้างเครื่องมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ระบบตั๋วร่วม โดยจะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมอย่างชัดเจนทั้งในระดับนโยบาย ระดับกำกับดูแล และระดับปฏิบัติการ จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและเพื่อให้มีการดำเนินการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมโดยเร็ว ทันต่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้น จึงได้มีการยกร่างระเบียบในเรื่องนี้ขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการทางการบริหาร กำกับ ดูแลระบบตั๋วร่วม โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วมและหน่วยงานระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การบริหารงานระบบตั๋วร่วมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จึงได้เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. กำหนดให้มีการบริหารจัดการบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ทั้งหมดด้วยระบบตั๋วร่วม
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและการใช้ตั๋วร่วม รวมทั้งเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เกี่ยวข้องกับระบบตั๋วร่วมต่อคณะรัฐมนตรี และมอบหมายหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่ คนต. มอบหมาย รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือดำเนินการตามที่ คนต. ได้มอบหมาย
3. กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม มีหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และการดำเนินงานของผู้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและผู้ให้บริการภาคขนส่งให้เป็นไปตามมาตรฐาน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและรายงานต่อ คนต. เสนอแนะนโยบายในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและมาตรฐานหรือมาตรการการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม แนวทางการเชื่อมต่อระบบและแผนพัฒนาระบบตั๋วร่วมต่อ คนต. รวบรวมข้อมูลอัตราค่าโดยสาร ศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบ และเสนอแนะกลไกหรือแนวทางการเจรจาตกลงในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม
4. กำหนดให้มีผู้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม บริหารศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง รวมถึงกำกับดูแลให้การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบตั๋วร่วมของผู้ออกและจำหน่ายตั๋วร่วมรายอื่น ให้เป็นไปตามมาตรฐานตามข้อบังคับของคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ตั๋วร่วมทั้งหมดมีมาตรฐานเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้ ควบคุมดูแลผู้ให้บริการภาคขนส่งเพื่อให้การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีหน้าที่รายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เมื่อผู้ให้บริการภาคขนส่งไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน มาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือข้อกำหนดใด ๆ ที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือประกาศของ คนต. รวมทั้งจัดเก็บข้อมูลในการใช้บริการระบบตั๋วร่วมหรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระบบขนส่งและนอกระบบภาคขนส่งและการจัดส่งข้อมูลการใช้ตั๋วร่วม การชำระเงิน และค่าใช้จ่ายอื่นใดให้แก่ธนาคารเพื่อการบริหารจัดการรายได้ พร้อมกับรวบรวมข้อมูลและประมวลผลข้อมูลเพื่อรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและ คนต.
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตาม หมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปดำเนินการจัดทำร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้สำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ รวมทั้งกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเป็นส่วนราชการระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
2. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการโอนบรรดาอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการและผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกองแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ สำนักงานปลัดกระทรวง ทส. และกองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. เฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับงานตามภารกิจของคณะกรรมการจัดที่ดิน ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
3. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการโอนบรรดาอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการและผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ และอัตรากำลังของกองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานตามภารกิจของคณะกรรมการจัดที่ดิน ไปเป็นของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย
4. เรื่อง ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
มท. เสนอว่า
1. ในปัจจุบันการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยของชาวต่างชาตินับได้ว่ามีความสำคัญต่อสังคมไทยโดยมีเหตุผลที่ต้องการเข้ามามีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยหลายประการ เช่น เข้ามาเพื่อทำงาน เพื่อการลงทุน เพื่ออยู่กับครอบครัว คู่สมรส หรือบุตรที่อยู่ในประเทศไทย การสนับสนุนชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจหรือลงทุนในประเทศไทย เป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ประการหนึ่ง ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องการการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุน อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ครอบครัวมีความมั่นคงและอบอุ่น การให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแก่คนต่างด้าวจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย
2. โดยที่มาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปี แต่มิให้เกินประเทศละ 100 คนต่อปี และสำหรับคนต่างด้าวไร้สัญชาติมิให้เกิน 50 คนต่อปี และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจะเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองและด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกอบกับมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 87/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น มท. จึงเห็นควรประกาศกำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2563
3. คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองได้ประชุมเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้ว
สาระสำคัญของร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย
กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีสัญชาติของแต่ละประเทศซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรประจำปี พ.ศ. 2563 มีจำนวนประเทศละไม่เกิน 100 คน และคนต่างด้าวไร้สัญชาติมีจำนวนไม่เกิน 50 คน
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศ สำหรับดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้มาตรการภาษีในเรื่องนี้ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2561 เรื่อง การยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรบางกรณี ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2561 เป็นมาตรการระยะยาว
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
กค. เสนอว่า
1. เนื่องด้วยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขอบเขต ประเภทของหลักทรัพย์ และสัดส่วนในการนำเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไปลงทุนหาผลประโยชน์ โดยในส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ให้นำเงินไปลงทุนได้ไม่เกินร้อยละ 30
2. โดยที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการกำหนดสัดส่วนในการนำเงินของ กบข. ไปลงทุนหาผลประโยชน์ตามที่กำหนดในปัจจุบัน ทำให้มีการลงทุนที่กระจุกตัวอยู่ในตราสารหนี้ไทย และขาดการกระจายความเสี่ยงที่ดี ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎกระทรวงตามข้อ 1. เพื่อปรับเพดานสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ จากเดิมไม่เกินร้อยละ 30 เป็นไม่เกินร้อยละ 40 ซึ่งจะช่วยเพิ่มเป้าหมายผลตอบแทนระยะยาวให้แก่สมาชิก กบข. และสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งยังสามารถช่วยลดแรงกดดันของค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
3. การแก้ไขกฎกระทรวงฯ เพื่อปรับเพดานสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศนั้น ยังสามารถขยายเพดานการลงทุนของ กบข. ได้ เนื่องจากยังอยู่ในกรอบการลงทุนตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ที่กำหนดให้วงเงินของกองทุนต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และสินทรัพย์อื่นได้ไม่เกินร้อยละ 40
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 40
7. เรื่อง ร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อใช้ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อใช้ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. การยกเลิกระเบียบฉบับเดิม ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2543 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายสีรำภายในราชอาณาจักร เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายสีรำภายในราชอาณาจักร เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547
2. ผลใช้บังคับ กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
3. หลักเกณฑ์การนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายของโรงงานอ้อยและน้ำตาลทราย
กำหนดให้โรงงานอ้อยและน้ำตาลทรายนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลโดยคำนวณจากปริมาณอ้อยที่ชาวไร่อ้อยส่งให้แก่โรงงานในแต่ละฤดูการผลิตอัตรายี่สิบบาทต่อหนึ่งตันอ้อย โดยแบ่งชำระเป็น 4 งวด ดังนี้
(1) งวดที่ 1 ภายในเดือนมิถุนายน
(2) งวดที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม
(3) งวดที่ 3 ภายในเดือนตุลาคม
(4) งวดที่ 4 ภายในเดือนธันวาคม
เงินที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้รับ ให้ตกเป็นของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายตามมาตรา 27 (8) แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
4. กรณีโรงงานไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กรณีโรงงานไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดชำระจนกว่าจะได้ทำการชำระเสร็จสิ้น
5. บทเฉพาะกาล
โรงานที่ยังมิได้นำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย สำหรับฤดูการผลิต ปี 2560/2561 ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) งวดก่อนวันที่ 15 มกราคม 2561 ให้นำส่งเงินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2543ฯ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(2) งวดตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 ให้นำส่งเงินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
โรงงานซึ่งได้นำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายสำหรับฤดูการผลิต ปี 2560/61 งวดตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 โดยเป็นการนำส่งเงินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2543ฯ ให้โรงงานนั้นมีหน้าที่นำส่งเงินเพิ่มให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ตามระเบียบนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้โรงงานนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายตามระเบียบนี้ สำหรับฤดูการผลิตปี 2561/2562 งวดก่อนระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
8. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
กค. เสนอว่า
การดำเนินการตามมาตรการนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
1. ประมาณการสูญเสียรายได้ โดยการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ในปี 2562 ถึง 2564 ประมาณปีละ 450 ล้านบาท
2. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และช่วยลดงบประมาณของภาครัฐในการกำจัดขยะพลาสติกตกค้าง โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ของปริมาณการผลิตพลาสติกทั้งหมดจำนวนปีละ 431,800 ตัน และเพิ่มทางเลือกของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ทดแทนพลาสติกที่สลายตัวไม่ได้ทางชีวภาพ อันจะช่วยส่งเสริมให้บรรลุเป้าประสงค์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ) มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนด และได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
เศรษฐกิจ - สังคม
9. เรื่อง ขอสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ทหารผ่านศึก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสนอ ให้สิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 หรือเหรียญราชการชายแดน หรือเหรียญอื่นที่เทียบเท่า ที่มีคุณสมบัติเป็นทหารผ่านศึกและได้รับบัตรประจำตัวทหารผ่านศึกนอกประจำการ บัตรชั้นที่ 3 แล้วเท่านั้น จำนวน 102,000 ราย ได้รับสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าโดยการจัดกลุ่มผู้มีสิทธิ ดังนี้
1. กลุ่มผู้ถือบัตรชั้นที่ 3 ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 41,177 ราย ให้ได้รับสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้า รายละ 45 หน่วยต่อเดือน
2. กลุ่มผู้ถือบัตรชั้นที่ 3 ที่มีรายได้เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 60,823 ราย ให้ได้รับสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้า รายละ 40 หน่วยต่อเดือน
ทั้งนี้ การให้สิทธิพิเศษดังกล่าวควรมีการตรวจสอบจำนวนผู้มีสิทธิให้มีความถูกต้องชัดเจนตามจำนวนที่มีอยู่จริง และไม่ซ้ำซ้อนกับผู้มีสิทธิตามมาตรการหรือโครงการสวัสดิการอื่นของรัฐ สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) มาดำเนินการเพื่อการดังกล่าว หากไม่เพียงพอ ให้นำเงินนอกงบประมาณมาสมทบ สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อ ๆ ไป ให้พิจารณาใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณเป็นลำดับแรก และหากไม่เพียงพอ เห็นควรให้เสนอขอจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกที่จะได้รับอุดหนุนจากรัฐบาล ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.)
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงกลาโหม (กห.) รายงานว่า
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 นั้น กห. (อผศ.) ได้พิจารณาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและความเห็นของ สงป. โดยพิจารณาประเภทการสงเคราะห์ตามสิทธิที่พึงได้รับลดหลั่นตามชั้นบัตร เช่นเดียวกับแนวทางการให้การสงเคราะห์ประเภทอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำซึ่งสิทธิที่พึงจะได้รับจะมีสัดส่วนที่แตกต่างกันตามประเภทการสงเคราะห์และพิจารณา การจัดลำดับ หรือกลุ่มผู้ถือบัตรตามฐานรายได้ที่ได้รับในการให้สิทธิพิเศษ ซึ่งในการประชุมสภาทหารผ่านศึก ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบการขอสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ทหารผ่านศึกกลุ่มถือบัตรชั้นที่ 3 สรุปได้ ดังนี้
1.1 กลุ่มผู้ถือบัตรชั้นที่ 3 ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 41,177 ราย ให้ได้รับสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้า รายละ 45 หน่วยต่อเดือน ใช้งบประมาณจำนวน 74.27 ล้านบาทต่อปี
1.2 กลุ่มผู้ถือบัตรชั้นที่ 3 ที่มีรายได้เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 60,823 ราย ให้ได้รับสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้า รายละ 40 หน่วยต่อเดือน ใช้งบประมาณจำนวน 97.51 ล้านบาทต่อปี
รวมงบประมาณที่ต้องใช้เป็นเงินจำนวน 171.78 ล้านบาทต่อปี และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. รายละเอียดในการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
ขั้นตอนในการดำเนินการ
1) เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้สิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว ทหารผ่าน ศึกฯ จะต้องยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเป็นทหารผ่านศึกจาก อผศ. ก่อน เพื่อยืนยันว่าเป็นผู้มีสิทธิพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรีจริง
2) จากนั้นทหารผ่านศึกฯ จึงนำหนังสือรับรองดังกล่าวไปแสดงกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
3) เมื่อ กฟน. หรือ กฟภ. ได้รับหนังสือรับรองแล้ว จึงจะให้สิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
4) สำหรับการเรียกชำระเงินค่าชดเชยส่วนลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้านั้น กฟน. หรือ กฟภ. จะมีหนังสือเรียกเก็บจาก อผศ. ในแต่ละเดือน
ประโยชน์ที่จะได้รับ
1) ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวของทหารผ่านศึกฯ อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิต
2) ทำให้ทหารผ่านศึกฯ ได้ตระหนักถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญแก่ทหารผ่านศึกผู้ที่เคยกระทำคุณงามความดีเพื่อปกป้องอธิปไตยและความสงบเรียบร้อยของประเทศมาแล้ว
3) ส่งเสริมให้สังคมได้มีส่วนร่วมในการยกย่องและเชิดชูเกียรติแก่ทหารผ่านศึก
หมายเหตุ อผศ. แบ่งประเภทบัตรประจำตัวทหารผ่านศึกฯ เป็น 4 ชั้นบัตร ดังนี้
บัตรชั้นที่ 1 ออกให้แก่ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีด้วยความกล้าหาญ เหรียญดุษฎีมาลาเข็มกล้าหาญ หรือเหรียญกล้าหาญ ทหารผ่านศึกฯ ที่พิการทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ และครอบครัวทหารผ่านศึก บัตรชั้นที่ 1 (ครอบครัวของทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่)
บัตรชั้นที่ 2 ออกให้แก่ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ เหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นที่ 1 เหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรป หรือเหรียญอื่นที่เทียบเท่า
บัตรชั้นที่ 3 ออกให้แก่ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เหรียญราชการเขตภายใน เหรียญราชการชายแดน เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 หรือเหรียญอื่นที่เทียบเท่า และต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 8 เดือน
บัตรชั้นที่ 4 ออกให้แก่ ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานเหรียญใด ๆ และต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 8 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีทหารผ่านศึกฯ จำนวนประมาณ 646,674 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2562)
10. เรื่อง ขอความเห็นชอบในหลักการการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก – ลำรู่ บางส่วน เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ จังหวัดพังงา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อก่อสร้างโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ด้วย
2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) ดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
3. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้จัดทำโครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ จังหวัดพังงา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค – บริโภค การเกษตรกรรม 2) สนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบริเวณเขาหลักของอำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และ 3) เพื่อภารกิจเสริมความมั่นคงด้านน้ำของฐานทัพเรือพังงา รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยทางด้านท้ายน้ำที่จะเกิดขึ้นในฤดูน้ำหลาก โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 4 ปี (ปี 2564 - 2567) วงเงินงบประมาณ 659 ล้านบาท โดยพื้นที่ของโครงการ จำนวน 1,250 ไร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลัก – ลำรู่ ในท้องที่บ้านลำรู ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ทั้งหมด กรมชลประทานจึงได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อขอใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลัก – ลำรู่ โดยได้มีหนังสือขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแล้ว และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้เห็นชอบในหลักการการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติเขาหลัก – ลำรู่ เนื้อที่ 1,250 ไร่ ด้วยแล้ว โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมชลประทานพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทานจะต้องควบคุมไม่ให้มีผู้ประกอบการแพ และบุคคลใด ๆ เข้าไปครอบครองพื้นที่น้ำและพื้นที่ขอบอ่างเก็บน้ำโดยเด็ดขาด ในการออกแบบและก่อสร้างเส้นทางเพื่อเข้าไปบริเวณก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ กรมชลประทานจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดการทำลายหรือสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและให้ดำเนินการเฉพาะในส่วนพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติให้เพิกถอนออกจากอุทยานแห่งชาติเท่านั้น ภายหลังจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จ ให้กรมชลประทานส่งมอบคืนพื้นที่ดังกล่าวให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติอีกครั้งโดยเร็ว เป็นต้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบด้วยแล้ว
11. เรื่อง ขอความเห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำหน่ายที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยเชียงใหม่ 2 (บางส่วน) ของ กฟผ. แปลงโฉนดที่ดินเลขที่ 1 3 2 3 4 ท้องที่ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 0-3-30 ไร่ ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในราคาที่ดิน ตารางวาละ 57,000 บาท เป็นเงินประมาณ 18,810,000 บาท หรือตามเนื้อที่ที่อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงหลักจากทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ราคาสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 833,530 บาท ค่าจ้างบริษัทเอกชนประเมินมูลค่าที่ดินเป็นเงิน 37,985 บาท และค่าดำเนินการเป็นเงินประมาณ 3,936,303 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 23,617,818 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า กฟภ. ต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในแปลงที่ดินที่จะขาย ค่าอากรแสตมป์ ค่าภาษีเงินได้ ค่าภาษีส่วนท้องถิ่น ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เองทั้งสิ้น
สาระสำคัญของเรื่อง
พน. รายงานว่า
1. กฟภ. มีความประสงค์ขอแบ่งซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยเชียงใหม่ 2 ของ กฟผ. ซึ่งปรากฏตามหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ 13234 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 0-3-30 ไร่ เพื่อใช้เป็นทางเข้า – ออก ของสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 115 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าเชียงใหม่ 2 จังหวัดเชียงใหม่ ของ กฟภ. ไปยังถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ลำปาง – เชียงใหม่ สำหรับจำหน่ายให้ประชาชนในพื้นที่ โดย กฟผ. ได้ตรวจสอบสภาพพื้นที่ดังกล่าว พบว่าปัจจุบัน กฟผ. ใช้เป็นลานเก็บอะไหล่ (Spare parts) และเป็นถนนคอนกรีตทางเข้าลานเก็บอะไหล่
2. กฟผ. ได้พิจารณากำหนดราคาที่ดิน ราคาสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในพื้นที่ที่จะขายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ รายละเอียดดังนี้
รายการ |
จำนวนเงิน (บาท) |
ที่มาของราคา |
1. ราคาที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 0-3-30 ไร่ ตารางวาละ 57,000 บาท |
18,810,000 |
กฟผ. ได้ว่าจ้างบริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียล เอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด ประเมินมูลค่าที่ดิน เนื่องจากเป็นสถาบันวิชาชีพที่มีมาตรฐาน มีความเป็นกลางและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป |
2. ราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏบนที่ดินที่ กฟผ. พิจารณาแบ่งขาย |
833,530 |
กฟผ. ประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างตามหลักเกณฑ์ในบัญชีราคากลางอาคารโรงเรือน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2559 ของ กฟผ. |
3. ค่าจ้างบริษัทเอกชนประเมินมูลค่าที่ดิน |
37,985 |
- |
4. ค่าดำเนินการร้อยละ 20 ของต้นทุน [(ลำดับที่ 1 + 2 + 3) x ร้อยละ 20] |
3,936,303 |
ความเห็นกระทรวงการคลังประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี กรณี กฟผ. ขอความเห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อันมีราคาเกิน 10 ล้านบาท |
รวม |
23,617,818 |
|
3. กฟผ. ได้แจ้งราคาแบ่งขายที่ดินให้ กฟภ. รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 23,617,818 บาท โดยมีเงื่อนไขให้ กฟภ. เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และค่าภาษีทุกประเภทที่ต้องชำระ ณ สำนักงานที่ดินเพื่อพิจารณา ซึ่งต่อมา กฟภ. แจ้งตอบรับราคาและตอบตกลงแบ่งซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของสถานีไฟฟ้าย่อยเชียงใหม่ 2 ของ กฟผ. ตามราคาและเงื่อนไขที่ กฟผ. ได้แจ้ง
4. คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในคราวประชุมครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 พิจารณาแล้วเห็นว่า การขายที่ดินในครั้งนี้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กฟผ. ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงมีมติอนุมัติให้ขายที่ดินที่เป็นที่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยเชียงใหม่ 2 (บางส่วน) จากโฉนดที่ดินเลขที่ 13234 ท้องที่ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 0-3-30 ไร่ ให้แก่ กฟภ. ในราคาที่ดินตารางวาละ 57,000 บาท เป็นเงินประมาณ 18,810,000 บาท หรือตามเนื้อที่ที่อาจจะเพิ่มขึ้น/ลดลง หลักจากทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ราคาค่าสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 833,530 บาท ค่าจ้างบริษัทเอกชนประเมินมูลค่าที่ดินเป็นเงิน 37,985 บาท และค่าดำเนินการเป็นเงินประมาณ 3,936,303 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 23,617,818 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า กฟภ. ต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในแปลงที่ดินที่จะขาย ค่าอากรแสตมป์ ค่าภาษีเงินได้ ค่าภาษีส่วนท้องถิ่น ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เองทั้งสิ้น ทั้งนี้ ให้นำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
12. เรื่อง โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2562 ของการประปาส่วนภูมิภาค
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2562 ของ กปภ. จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,121.144 ล้านบาท ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
โครงการ |
แหล่งเงิน |
การบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย |
รวม |
|
เงินอุดหนุน |
เงินกู้ในประเทศ |
เงินรายได้ กปภ. |
||
โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย (แผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยาย และแผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย) |
||||
1. สาขาเลย |
244.349 |
81.449 |
88.887 |
414.685 |
2. สาขาชัยนาท – (หันคา) |
293.020 |
97.674 |
80.073 |
470.767 |
3. สาขาสุไหงโก-ลก-(ตากใบ) (เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส) |
222.449 |
74.149 |
76.000 |
372.598 |
4. สาขานครนายก |
465.000 |
155.000 |
225.889 |
845.889 |
โครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปาภายหลังรับโอน |
||||
5. สาขาสิงห์บุรี (ท่าวุ้ง) |
12.904 |
4.301 |
- |
17.205 |
รวม |
1,237.722 |
412.573 |
470.849 |
2,121.144 |
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงมหาดไทย โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้เสนอขอความเห็นชอบให้ กปภ. ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2562 จำนวน 5 โครงการ โดยในการดำเนินโครงการฯ จะมีการก่อสร้างวางท่อส่งน้ำ ท่อจ่ายน้ำ ปรับปรุงเส้นท่อที่ชำรุดและวางท่อใหม่ในเขตจ่ายน้ำต่าง ๆ และพื้นที่ข้างเคียง ความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 962.3 กิโลเมตร และมีระบบผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายกำลังผลิต เพิ่มขึ้นอีก 67,200 ลูกบาศก์เมตร/วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำ เพิ่มขึ้นอีก 46,728 ราย ทั้งนี้ โครงการมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,121.144 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินอุดหนุน 1,237.722 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศ 412.573 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กปภ. 470.849 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างพอเพียง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค รวมถึงเพื่อบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียในระบบผลิต – จ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
13. เรื่อง โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาค
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จำนวนรวมทั้งสิ้น 9 โครงการ (ประกอบด้วยแผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. จำนวน 8 โครงการ และแผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปา จำนวน 1 โครงการ) วงเงินรวมทั้งสิ้น 9,629.991 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ทั้งนี้ ในส่วนของเงินกู้ในประเทศ ให้ มท. (กปภ.) ดำเนินการตามความเห็นของ กค. รวมทั้งให้ มท. (กปภ.) รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
หน่วย : ล้านบาท
แผนงาน/โครงการ |
แหล่งเงิน |
แผนการบริหาร จัดการลดน้ำสูญเสีย |
รวม |
|
เงินอุดหนุน |
เงินกู้ในประเทศ |
เงินรายได้ กปภ. |
||
1. แผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. |
||||
1.1 สาขาพัทยา – แหลมฉบัง – ศรีราชา [รองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก [Eastern Economic Corridor : (EEC)] |
1,125.000 |
375.000 |
348.979 |
1,848.979 |
1.2 สาขาชลบุรี – พนัสนิคม – (พานทอง) – (ท่าบุญมี) ระยะที่ 2 (รองรับ EEC) |
1,275.000 |
425.000 |
426.028 |
2,126.028 |
1.3 สาขาเชียงใหม่ – แม่ริม – สันกำแพง |
2,403.554 |
801.184 |
1,021.502 |
4,226.240 |
1.4 สาขายโสธร |
240.013 |
80.004 |
79.815 |
399.832 |
1.5 สาขานาทวี (รองรับเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต) |
232.043 |
77.347 |
39.000 |
348.390 |
1.6 สาขาภูเขียว – (บ้านเป้า) |
97.744 |
32.582 |
32.270 |
162.596 |
1.7 สาขาจัตุรัส |
90.724 |
30.241 |
40.142 |
161.107 |
1.8 สาขาปราจีนบุรี (ประจันตคาม) – (ศรีมหาโพธิ์) |
210.086 |
70.029 |
51.855 |
331.970 |
2. แผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กปภ. สาขาตราด [องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกาะกูด] |
18.637 |
6.212 |
- |
24.849 |
รวม |
5,692.801 (ร้อยละ 59.115) |
1,897.599 (ร้อยละ 19.705) |
2,039.591 (ร้อยละ 21.179) |
9,629.991 (ร้อยละ 100) |
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้เสนอขอความเห็นชอบให้ กปภ. ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2563 ของ กปภ. จำนวน 9 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 9,629.991 ล้านบาท โดยในการดำเนินโครงการฯ จะมีการดำเนินการปรับปรุงระบบประปาทั้งระบบ (ระบบน้ำดิบ ระบบผลิต ระบบจ่ายน้ำ และระบบอื่น ๆ) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ปรับปรุงการให้บริการ และแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ไปพร้อมกัน และมีแผนบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย ประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือ การบริหารจัดการแรงดัน การซ่อมท่อที่รวดเร็ว การสำรวจหาน้ำสูญเสียเชิงรุก การบริหารจัดการมาตรวัดน้ำ และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเส้นท่อซึ่งเป็นสาเหตุหลักของน้ำสูญเสียทั้งหมด ทั้งนี้ โครงการมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,629.991 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินอุดหนุน 5,692.801 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศ 1,897.599 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กปภ. 2,039.591 ล้านบาท
14. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ รายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (26 กันยายน 2560) ที่เห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และให้รายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (25 ธันวาคม 2561) รับทราบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถฯ ในระยะแรก และเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถฯ ในระยะต่อไป ทั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญของการดำเนินโครงการได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
1.1 ผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
1.1.1 ผลการดำเนินงาน
รายละเอียด |
ระยะที่ 1 (ต.ค.60- ก.ย. 61) |
ระยะที่ 2 (พ.ย. 61-ธ.ค. 62) |
รวม |
ผู้ประกอบการ SMEs เข้ารับการอบรม |
2,683 ราย |
1,630 ราย |
4,313 ราย |
ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสิทธิซื้อ FX Option |
2,269 ราย |
1,445 ราย |
3,714 ราย |
ผู้ประกอบการ SMEs ใช้สิทธิซื้อ FX Option |
618 ราย |
565 ราย |
1,183 ราย |
จำนวนสัญญา FX Option |
1,569 สัญญา |
2,356 สัญญา |
3,925 สัญญา |
มูลค่าสัญญา FX Option |
55.03 ล้านเหรียญสหรัฐ |
65.20 ล้านเหรียญสหรัฐ |
120.23 ล้านเหรียญสหรัฐ |
ค่า Premium |
16.06 ล้านบาท |
22.05 ล้านบาท |
38.11 ล้านบาท |
หมายเหตุ :
1) FX Option หรือสัญญาสิทธิของเงินตราต่างประเทศ คือ สัญญาที่ผู้ขายสิทธิให้สิทธิแก่ผู้ซื้อสิทธิในการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศ ณ เวลาในอนาคต ตามสกุลเงิน จำนวนเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ในสัญญา
2) ค่า Premium หมายถึง วงเงินสำหรับใช้เป็นค่าธรรมเนียม
1.1.2 ผลการใช้จ่ายงบประมาณ
กิจกรรม |
จำนวนเงิน (ล้านบาท) |
สนับสนุนเงินช่วยเหลืออุดหนุน สำหรับเป็นวงเงินค่าธรรมเนียม FX Option |
34.48 |
สนับสนุนการอบรมให้ความรู้แก่ SMEs |
4.28 |
สนับสนุนการประชาสัมพันธ์โครงการ |
1.83 |
รวม |
40.59 |
1.2 ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
1.2.1 ผู้ประกอบการบางส่วนไม่เห็นถึงความจำเป็นในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากมูลค่าส่งออก – นำเข้ายังไม่มาก หรือใช้เงินตราสกุลอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และมีพฤติกรรมการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน
1.2.2 ผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับบริการ FX Option แม้ผ่านการอบรมแล้ว
1.2.3 พนักงานสาขาของธนาคารบางส่วนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ จึงไม่สามารถให้คำแนะนำลูกค้าได้
1.2.4 การประชาสัมพันธ์โครงการแบบเชิงรุกยังไม่ทั่วถึงและตรงกลุ่มเป้าหมาย
1.2.5 การอบรมด้วยระบบ e-Learning ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน -30 กันยายน 2562 มีผู้เข้าเรียนจำนวน 389 ราย จากเป้าหมาย 2,000 ราย
2. การดำเนินการในระยะต่อไป : โครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสนุน SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ วงเงิน 450 ล้านบาท เนื่องจากการดำเนินการโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEsฯ (ตามข้อ 1) ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ประอบการ SMEs มากนัก ดังนั้น คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 จึงได้มีมติอนุมัติและเห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามมาตรา 34 (3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสุนน SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ วงเงินงบประมาณ 450 ล้านบาท รวมทั้งอนุมัติแผนการดำเนินงานโครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงฯ วงเงินงบประมาณ 225 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 ระยะที่ 1 โครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสนุน SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ วงเงิน 225 ล้านบาท
2.2 ระยะที่ 2 หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยในเบื้องต้นกำหนดไว้ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 อุดหนุนไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย (ค่าธรรมเนียม FX Option 80,000 บาท และค่าธรรมเนียมการค้าระหว่างประเทศ 20,000 บาท) แนวทางที่ 2 อุดหนุนไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย (ค่าธรรมเนียม FX Option/เงินสนับสนุนสิทธิ Forward Contract 80,000 บาท และค่าธรรมเนียมการค้าระหว่างประเทศ 20,000 บาท)
ทั้งนี้ หากโครงการระยะที่ 1 ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs และสามารถดำเนินงานได้เร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ หรือหากเห็นว่าสถานการณ์ค่าเงินมีความผันผวนสูงและจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะร่วมกันพิจารณาขออนุมัติดำเนินการโครงการในระยะที่ 2 ต่อไป
2.3 งบประมาณในการดำเนินโครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสนุน SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ วงเงินงบประมาณ 450 ล้านบาท เป็นการนำเงินที่เหลือตามมติคณะรัฐมนตรี (26 กันยายน 2560) ที่เห็นชอบให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณจากงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศให้แก่ สสว. เพื่อดำเนินการตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน กรอบวงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งมีผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินงาน รวม 40,586,589.70 บาท มีเงินคงเหลือจำนวน 459,413,410.29 บาท โดยมีดอกผลที่เกิดขึ้นจำนวน 254,031.26 บาท ดังนั้น จึงมีเงินคงเหลือเข้ากองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 459,667,441.55 บาท [ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 ที่บัญญัติให้ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ประกอบด้วย เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี]
15. เรื่อง ร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-2565)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-2565) ตามที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์หารมหาชน) เสนอ และให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) รับความเห็นและข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (สศส.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 โดยมีมติเห็นชอบและให้ สศส. รับความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป เช่น ควรมีแผนงาน/โครงการที่เป็น Quick win ในรูปแบบของ Service Center เพื่อช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ควรเน้นการส่งเสริมเรื่อง Design Thinking ให้เข้าไปอยู่ในทุกระบบความคิดในองค์กรต่าง ๆ ควรให้มีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ร่วมเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ควรพิจารณาแนวทางการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของภาคเอกชนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ทั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญของร่างแผนดังกล่าวได้ ดังนี้
วิสัยทัศน์
ประเทศไทยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และนวัตกรรมของโลก
เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย
แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงแรก มีระยะ 3 ปี โดยมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการขยายตัวของสินค้าและบริการสร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการคัดเลือกและประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์จาก UNESCO 1 เมือง ส่วนช่วงที่ 2-4 มีระยะช่วงละ 5 ปี
ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างและส่งเสริมการจัดการองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์
กลยุทธ์ สร้างฐานข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายและเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ในการต่อยอดเชิงธุรกิจ และเผยแพร่การใช้งานฐานข้อมูลและองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี
แนวทางในการดำเนินงาน รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่องค์ความรู้พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงฐานข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปที่สนใจเพื่อนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการในเชิงพาณิชย์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับทักษะและความสามารถบุคลากรในธุรกิจสร้างสรรค์และกระตุ้นกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์
กลยุทธ์ พัฒนาและส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรและแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้มีกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมทั้ง สร้างและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
แนวทางในการดำเนินงาน สร้างทรัพยากรมนุษย์และวางรากฐานการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มทักษะฝีมือแรงงานโดยร่วมกับภาคการศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรและส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากร
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจและสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
กลยุทธ์ เพิ่มความสามารถและทักษะในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งสนับสนุนทางด้านเงินทุนสำหรับธุรกิจสร้างสรรค์และส่งเสริมด้านการตลาด ตลอดจนผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้นำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ยกระดับสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล
แนวทางในการดำเนินงาน
พัฒนาช่องทางการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ และจัดทำมาตรการด้านการเงินและสิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อจูงใจให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แบรนด์ไทย ให้เกิดการรับรู้และยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาเมืองและระบบนิเวศสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับแนวคิดเชิงสร้างสรรค์
กลยุทธ์
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์และการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบด้านทรัพย์สินทางปัญญาและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการให้บริการของหน่วยานภาครัฐ
แนวทางในการดำเนินงาน
พัฒนาย่านสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกเพื่อเป็นแรงจูงใจในการย้ายถิ่นฐาน/พำนัก และสร้างการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเป็นเมืองและย่านสร้างสรรค์ของชุมชนและท้องถิ่น
16. เรื่อง ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานดำเนินการทุกขั้นตอนให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานไปดำเนินการแก้ไขเงื่อนเวลาในร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่ผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 แล้ว จากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ต่อไปได้
กระทรวงแรงงานรายงานว่า
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ 2563 ให้ความเห็นชอบ การผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562 – 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกระทรวงแรงงานผ่านเจ้าหน้าที่หรือผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่สามารถขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนดเวลา รวมถึงผู้ติดตาม อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานไปพลางก่อนได้ โดยใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name List) และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิม โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวจนกว่าจะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จ และให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน ออกประกาศที่เกี่ยวข้อง
2. แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งได้รับการผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ให้ครบทุกขั้นตอนภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 มิฉะนั้น การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นอันสิ้นสุด
3. ภายหลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 และการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ดังกล่าว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พิจารณาจำกัดการเคลื่อนย้ายบุคคล และการงดกิจกรรมที่มีการชุมนุมชน เพื่อควบคุมมิให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบาดแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง
4. กระทรวงแรงงานได้ตรวจสอบข้อมูลนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานที่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกระทรวงแรงงานผ่านเจ้าหน้าที่หรือผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 แล้ว ปรากฏว่า มีแรงงานต่างด้าวคงเหลือที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 จำนวน 555,993 ราย
5. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบันไม่คลี่คลายลงหรือเข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว หรือหากสภาวะการแพร่ระบาดของโรคคลี่คลายลงแล้ว แต่ประชาชนยังต้องเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกัน (Social Distancing) เพื่อป้องกันการกลับมาติดโรคจึงไม่ควรที่จะเร่งรีบเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562
สาระสำคัญ
1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 จากเดิมให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
2. ทบทวนระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Overstay) รวมถึงการยกเว้นการปฏิบัติตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร สั่ง ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
3. ทบทวนระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวที่กรมการจัดหางานออกให้และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมไปพลางก่อน
4. ให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 และนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ถือปฏิบัติตามมาตรการที่ส่วนราชการประกาศกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และที่ประกาศเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด เช่น การโดยสารยานพาหนะต้องเป็นไปตามจำนวนที่ทางราชการกำหนด การจำกัดจำนวนและปรับระยะเวลาการปฏิบัติงาน การเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร (Social Distancing) เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางละอองฝอย หรือการให้บริการด้วยการสื่อสารแบบดิจิทัล เป็นต้น
5. การบริหารจัดการเพิ่มเติมจากขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ดังนี้
(1) กระทรวงแรงงานจะจัดระบบนัดหมายให้แรงงานต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ
(2) เมื่อแรงงานต่างด้าวได้รับใบรับรองผลการตรวจสุขภาพแล้ว สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานผ่านทางระบบออนไลน์ (https://e-workpermit.doe.go.th/)
(3) นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานต้องพาแรงงานต่างด้าวไปจัดเก็บข้อมูลชีวภาพและอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics Data) ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง และจัดเก็บลายนิ้วมือ ณ ศูนย์บริการงานทะเบียนภาค สาขาจังหวัด หรือสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีระบบออนไลน์รองรับ
ทั้งนี้ การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นการควบคุมมิให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แพร่ระบาดออกไปเป็นวงกว้าง ในสถานที่ที่มีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมากส่งเสริมให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยุติลงได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น เสริมสร้าง ความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศโดยรวมซึ่งสอดคล้องกับมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563
แรงงานต่างด้าวซึ่งนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกระทรวงแรงงานผ่านเจ้าหน้าที่หรือผ่านระบบออนไลน์ไว้แล้วภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ได้ ในช่วงระยะเวลาที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังคงเป็นแรงงานต่างด้าวที่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้ในกิจการที่ขาดแคลนแรงงาน
17. เรื่อง การปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้
1. รายจ่ายประจำ ในทุกงบรายจ่ายที่ไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ และการดำเนินกิจกรรม (Event) ที่มีการจ้างผู้จัดกิจกรรม (Organizer) หรือดำเนินการเอง ให้พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณลง ร้อยละ 25
2. รายจ่ายลงทุน ในทุกงบรายจ่ายที่ไม่มีข้อผูกพัน (รายการปีเดียว) ที่เป็นครุภัณฑ์ทดแทนหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่สามารถชะลอการดำเนินงานได้ ให้พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณลง ร้อยละ 50
3. รายการและงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถชะลอการดำเนินการได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ
ตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการบรรเทาหรือแก้ไขผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณฯ ตามแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เสนอคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อให้ความเห็นชอบและส่งข้อเสนอการปรับปรุงให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 22 เมษายน 2563
18. เรื่อง การเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ เสนอ ดังนี้
คปร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ได้พิจารณาเรื่อง การขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น สำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข รองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 แล้ว มีมติดังนี้
1) การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราว) ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 24 สายงาน รวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา
1.1) เห็นชอบให้จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ รวม 38,105 อัตรา เพื่อบรรจุบุคคลดังกล่าวเข้ารับราชการให้ตรงตามตำแหน่งงานที่จ้างอยู่เดิม อย่างไรก็ดี หากภายหลังบริบทของงานเปลี่ยนแปลงไป ให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข ปรับเปลี่ยนสายงานของอัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่จะจัดสรรเป็นสายงานบริการทางการแพทย์อื่น ๆ ได้ตามความจำเป็น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนกรอบอัตรากำลังตามที่ คปร. กำหนด และจะต้องสอดคล้องกับแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้บรรจุในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีวุฒิคัดเลือกก่อนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่จะต้องสอบแข่งขัน และถือว่าอัตราข้าราชการตั้งใหม่ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบรรจุบุคลากรตามแผนปฏิรูปกำลังคนฯ ด้วย
1.2) เห็นชอบให้กำหนดเงื่อนไขว่าเมื่อบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งที่ได้รับจัดสรรแล้ว ให้ยุบเลิกตำแหน่งพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราวตามจำนวนที่ได้บรรจุบุคคลเข้ารับราชการและให้กระทรวงสาธารณสุขปรับรูปแบบการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขโดยเน้นเฉพาะการจ้างงานสนับสนุนทั่วไปเท่านั้น และให้กระทรวงสาธารณสุขรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนสายงาน การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ตลอดจนการยุบเลิกตำแหน่งที่จ้างงานด้วยรูปแบบอื่นให้ คปร. ทราบด้วย
1.3) เห็นชอบให้ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข แบ่งการกำหนดตำแหน่งอัตราข้าราชการ ตั้งใหม่เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ให้กำหนดตำแหน่งเพื่อรองรับการบรรจุกลุ่มบุคลากรที่ให้บริการในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยตรง รวม 25,051 อัตรา ภายในเดือนพฤษภาคม 2563
ระยะที่ 2 ให้กำหนดตำแหน่งเพื่อรองรับการบรรจุกลุ่มบุคลากรที่สนับสนุนการให้บริการในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวม 5,616 อัตรา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นไป
ระยะที่ 3 ให้กำหนดตำแหน่งเพื่อรองรับการบรรจุกลุ่มบุคลากรที่ให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ รวม 7,438 อัตรา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการโอนเงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีและเงินนอกงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งจ่ายเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนของบุคลากรที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการดังกล่าวตามจำนวนวงเงินงบประมาณงบบุคลากรที่จะใช้ เพื่อลดการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเงินงบกลาง ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อที่ประชุม
2) การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 5 สายงาน รวมทั้งสิ้น 7,579 อัตรา
2.1) ตำแหน่งนายแพทย์และทันตแพทย์
เห็นชอบให้จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งนายแพทย์และทันตแพทย์ให้กับสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ ที่เป็นนักศึกษาคู่สัญญากับกระทรวงสาธารณสุขและสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2563 รวม 2,792 อัตรา โดยเป็นตำแหน่งนายแพทย์ จำนวน 2,157 อัตรา และตำแหน่งทันตแพทย์ จำนวน 635 อัตรา และให้นำจำนวนอัตราข้าราชการตำแหน่งนายแพทย์ที่ได้รับจัดสรรตามข้อ 1) มานับรวมเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนตำแหน่งนายแพทย์ตามเป้าหมาย
ที่กำหนดในแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่ง คปร. จะจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งนายแพทย์และตำแหน่งทันตแพทย์ให้เป็นปีสุดท้ายด้วย ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องบรรจุนักศึกษาคู่สัญญาของนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์เป็นข้าราชการต่อไป ให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนความต้องการอัตรากำลัง และแสดงความจำเป็นพร้อมกับแผนการใช้ประโยชน์ว่าจะใช้ตำแหน่งดังกล่าวในการปฏิบัติภารกิจตามแผนงานหรือยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างไร เพื่อให้ คปร. พิจารณาต่อไป
2.2) ตำแหน่งเภสัชกร
เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขบรรจุนักศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์ที่เป็นนักศึกษาคู่สัญญาของกระทรวงสาธารณสุขเป็นพนักงานราชการแทนการบรรจุเป็นข้าราชการตามมติ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 และให้นำจำนวนอัตราข้าราชการตำแหน่งเภสัชกรที่ได้รับจัดสรรตามข้อ 1) มานับรวมเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนตำแหน่งเภสัชกรตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยยังไม่จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตามที่ขอ
2.3) ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพและนักวิชาการสาธารณสุข
เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาทบทวนเหตุผลความจำเป็นของภารกิจ จัดทำแผนกำลังคนรองรับและแสดงความสอดคล้องกับแผนปฏิรูปกำลังคนฯ เพื่อให้อัตราข้าราชการที่จะขอตั้งใหม่มีความชัดเจนทั้งภารกิจและหน่วยงานที่จะปฏิบัติ รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ โดยจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับอัตรากำลังที่ได้รับจัดสรรและหากมีความจำเป็นให้จัดทำรายละเอียดเสนอ คปร. ในโอกาสต่อไป
3) การคัดเลือกบรรจุบุคคลซึ่งมิได้สำเร็จการศึกษาในวุฒิที่ ก.พ. กำหนดให้คัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004/ว 17 ลงวันที่ 19 กันยายน 2562
เห็นชอบให้สำนักงาน ก.พ. พิจารณาดำเนินการตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เพื่อคัดเลือกบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นกรณีที่มีเหตุพิเศษเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยไม่ต้องดำเนินการสอบแข่งขัน ทั้งนี้ ให้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ของผู้ที่จะบรรจุเข้ารับราชการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. และคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้เดิม ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/154 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556 และ
ที่ นร 1012.2/235 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2560 แล้วแต่กรณี
4) การขอสนับสนุนเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข
เห็นชอบให้บุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้รับเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนในอัตรา ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ปฏิบัติงานโดยตรง ให้ได้รับในอัตราเดือนละ 1,500 บาท
กลุ่มที่ 2 ผู้ปฏิบัติงานสนับสนุน ให้ได้รับในอัตราเดือนละ 1,000 บาท
ประมาณการงบประมาณที่จะต้องใช้สำหรับการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษรายเดือน เป็นระยะเวลา 7 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,746,397,500 บาท
สำหรับหลักเกณฑ์การได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ให้กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) จัดทำระเบียบหรือหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ โดยอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินอื่นที่กำหนดให้จ่ายเป็นรายเดือน
ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์ตามข้อนี้ไปใช้บังคับโดยอนุโลมกับข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น และบุคลากรภาครัฐอื่น ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้
5) การจัดสรรโควตาพิเศษความดีความชอบพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุข
เห็นชอบให้บุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้รับการเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ ดังนี้
5.1) ระบบการเลื่อนเงินเดือนแบบร้อยละ ให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานโดยตรงและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสนับสนุน ได้รับการเลื่อนเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนเงินเดือนปกติอีกร้อยละ 1 ของฐานในการคำนวณต่อรอบการประเมิน ทั้งนี้ เมื่อรวมการเลื่อนเงินเดือนกรณีปกติกับการเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณ
5.2) ระบบการเลื่อนเงินเดือนแบบขั้น ให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานโดยตรงและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสนับสนุนได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนทั้งกรณีปกติและกรณีพิเศษนอกเหนือโควตาปกติ รวมทั้งปีไม่เกิน 2 ขั้น โดยไม่นับรวมอยู่ในโควตาการเลื่อนขั้นเงินเดือนของผู้มีผลงานดีเด่น ร้อยละ 15 ของจำนวนผู้ปฏิบัติงานในรอบการประเมิน
ประมาณการงบประมาณที่จะต้องใช้สำหรับการเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,023,270,920 บาท
สำหรับหลักเกณฑ์การเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษนอกเหนือโควตาปกติให้สำนักงาน ก.พ. แจ้งแนวทางปฏิบัติเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษนอกเหนือโควตาปกติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาใช้โดยอนุโลม
ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์ตามข้อนี้ ไปใช้บังคับโดยอนุโลมกับข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น และบุคลากรภาครัฐอื่น ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้
6) การเพิ่มอายุราชการเพิ่มทวีคูณในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับบุคลากรสาธารณสุข
มีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังชี้แจงว่า กรณีการขอเพิ่มอายุราชการทวีคูณในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับบุคลากรสาธารณสุขเนื่องจากการนับเวลาราชการเป็นทวีคูณของข้าราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 24 ซึ่งบัญญัติไว้โดยสรุปว่า ข้าราชการสามารถนับเวลาราชการเป็นทวีคูณได้ 2 กรณี ได้แก่ (1) ผู้ซึ่งกระทำหน้าที่ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ในระหว่างเวลาที่มีการรบหรือการสงครามหรือมีการปราบปรามจลาจล หรือในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือในระหว่างเวลาที่สั่งให้เป็นนักดำเรือดำน้ำ และ (2) ในกรณีที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีอำนาจพิจารณาให้ข้าราชการซึ่งประจำปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตที่ได้มีการประกาศกฎอัยการศึกนั้น ได้รับการนับเวลาราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างนั้นเป็นทวีคูณได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ดังนั้น การนับเวลาราชการเป็นทวีคูณสำหรับบุคลากรสาธารณสุข จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
7) การลดดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคลกรุงไทยธนวัฏ/ธนาคารออมสิน ระยะเวลา 1 ปี สำหรับบุคลากรสาธารณสุข
มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับข้าราชการและบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน อย่างไรก็ดี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสินอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายมาตรการเดิม หรือกำหนดมาตรการอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจะแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ. ทราบต่อไป
8) การปรับอัตราจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขตามข้อ 6 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 จำนวน 2 เท่าจากอัตราเดิม
มีมติรับทราบตามความเห็นของกระทรวงการคลังว่า กรณีนี้เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขกรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 ดังนั้น จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว
19. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2562 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในคราวประชุมฯ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ได้เห็นชอบในหลักการร่างรายงานฯ ประจำปี 2562 ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 คณะอนุกรรมการกำกับและติดตามการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พม. ได้เห็นชอบร่างรายงานฯ ที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้แก้ไขและเพิ่มเติมตามความเห็นของคณะกรรมการฯ โดยเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงการต่างประเทศได้นำส่งรายงานฯ ฉบับภาษาอังกฤษให้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยแล้ว ซึ่งรายงานฯ มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
เรื่อง |
สาระสำคัญ |
1. การจัดสรรงบประมาณ |
มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้งระบบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.53 รวม 3,806.82 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีจำนวน 3,641.98 ล้านบาท |
2. การสืบสวนปราบปรามคดีค้ามนุษย์ |
ได้สืบสวนปราบปรามคดีค้ามนุษย์ 288 คดี จำแนกเป็น การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ (การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก และการแสดงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น) 185 คดี การนำคนมาขอทาน 9 คดี การบังคับใช้แรงงาน (แรงงานทั่วไป แรงงานในภาคประมง เอาคนลงเป็นทาส และการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม) 94 คดี โดยจับกุมผู้ต้องหา 555 คน (ชาย 330 คน หญิง 225 คน) สัญชาติไทย 402 คน เมียนมา 120 คน กัมพูชา 4 คน ลาว 6 คน และอื่น ๆ 23 คน รวมทั้งช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 1,821 คน (ชาย 1,158 คน หญิง 663 คน) สัญชาติไทย 251 คน เมียนมา 1,306 คน กัมพูชา 96 คน ลาว 38 คน และอื่น ๆ 130 คน |
3. สถิติการดำเนินคดีชั้นพนักงานสอบสวนชั้นพนักงานอัยการและชั้นศาล |
ดำเนินคดีชั้นพนักงานสอบสวน 288 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 39 คดี สอบสวนเสร็จสิ้น 249 คดี และมีความเห็นควรสั่งฟ้องทั้งหมด 249 คดี ชั้นพนักงานอัยการ 364 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 351 คดี และชั้นศาล 396 คดี พิพากษาเสร็จสิ้น 283 คดี และมีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 54,180,366 บาท |
4. มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ |
ใช้มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง และทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่ดังกล่าวลดลงอย่างชัดเจน โดยในปี 2562 มีการชี้มูลความผิดและมีความเห็นสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 4 คน ที่ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เมื่อปี 2560 รวมทั้งตัดสินจำคุกเจ้าหน้าที่รัฐ 6 คน ที่ถูกดำเนินคดีระหว่างปี 2558-2561 ในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องระวางโทษตั้งแต่ 34-225 ปี |
5. การคุ้มครองและการเยียวยาผู้เสียหาย |
- ผู้เสียหายเลือกเข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน 1,560 คน (ร้อยละ 85.67) ของผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ 1,821 คน สำหรับผู้เสียหาย 261 คน (ร้อยละ 14.33) ไม่ประสงค์เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน แต่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอื่น ๆ ที่พึงได้รับ นอกจากนี้ รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากกองทุน เพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 11.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 93 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งจ่ายไป 6.15 ล้านบาท - ผู้เสียหายสามารถเดินทางออกไปภายนอกสถานคุ้มครอง เช่น ไปเรียน ไปทำงาน หรือออกไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อไม่ต้องมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยได้จัดทำบัตรประจำตัวและอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยผู้เสียหายต่างชาติ 1,222 คน (ร้อยละ 85.7) - กำหนดให้นายจ้างใช้สัญญาจ้าง 3 ภาษา ไว้ในฉบับเดียวกัน (ภาษาของแรงงานต่างด้าว ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ) เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะทำให้แรงงานต่างด้าวทุกคนได้รับการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย |
6. การจัดทำแอปพลิเคชัน (Mobile Application) |
จัดทำแอปพลิเคชัน (Mobile Application) ชื่อ “PROTECT-U” เพื่อเพิ่มช่องทางสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้เข้าถึงบริการการช่วยเหลือคุ้มครอง รวมทั้งเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสเมื่อพบเหตุค้ามนุษย์ เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายได้อย่างรวดเร็วขึ้น |
7. การเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่บังคับใช้ กฎหมาย |
การเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น พนักงานตรวจแรงงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทีมสหวิชาชีพ และผู้ปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั่วประเทศ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องในการดำเนินคดีและตัดสินโทษผู้ค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมทั้งคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน |
ต่างประเทศ
20. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สำหรับโครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศของ สปป.ลาว เพื่อเชื่อมโยงกับระบบ ASEAN Single Window
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สำหรับโครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศของ สปป.ลาว เพื่อเชื่อมโยงกับระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) (โครงการพัฒนาระบบฯ) ในรูปแบบเงินให้เปล่าทั้งจำนวน วงเงินรวม 18,820,805.12 บาท โดยใช้เงินสะสมของ สพพ. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อเชื่อมโยงกับระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window: ASW) (โครงการพัฒนาระบบฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบ ASW ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งขอบเขตการดำเนินงานนั้น จะเป็นการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ 3 ระบบ ได้แก่ 1.) การพัฒนาระบบ National Single Window - Routing Platform (NSW - RP) เพื่อส่งผ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA e - Form D) กับประเทศสมาชิกอาเซียน 2.) การพัฒนาโปรแกรมใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate of Origin: e - CO) ให้สามารถส่งข้อมูล ATIGA e - Form D รวมถึงรับข้อมูลตอบกลับจากประเทศสมาชิกอาเซียนผ่าน ASW 3.) การพัฒนาโปรแกรมการดูข้อมูล e - CO ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ NSW - RP ให้สามารถรับข้อมูล ATIGA e - Form D จากต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ในการค้นหาข้อมูลจาก ATIGA e –Form D
ที่ประชุมคณะกรรมการ สพพ. ครั้งที่ 12/2562 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 มีมติให้ สพพ. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาว วงเงินรวม 18,820,805.12 บาท โดยใช้เงินสะสมของหน่วยงานในรูปแบบของเงินให้เปล่าทั้งจำนวน
21. เรื่อง การรับรองขอบเขตอำนาจหน้าที่สภาการเทคนิคอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแห่งอาเซียน (Ad-referendum Adoption of the Term of Reference of the ASEAN TVET Council)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ (TOR) ของ ASEAN TVET Council (ATC) เพื่อการรับรองของรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน (ASEAN Education Ministers Meeting: ASED) และรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers Meeting: ALMM) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามในหนังสือเห็นชอบ/รับรอง (Adoption) ขอบเขตอำนาจหน้าที่สภาการเทคนิคอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแห่งอาเซียน (Term of Reference of the ASEAN TVET Council) ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ความเห็นชอบ (Endorsement) ขอบเขตอำนาจหน้าที่สภาการเทคนิคอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแห่งอาเซียน และเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะ SOMED และกระทรวงแรงงาน ในฐานะ SLOM เสนอชื่อผู้แทนระดับอาวุโสของไทยเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในสภาการเทคนิคอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแห่งอาเซียน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
สาระสำคัญของขอบข่ายอำนาจหน้าที่ ดังนี้
หน้าที่
1) ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
2) อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีด้านการอาชีวศึกษา
3) พัฒนาแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอาชีวศึกษา
4) สนับสนุนการบริหารองค์ความรู้ด้านการอาชีวศึกษาผ่านการวิจัย การศึกษา และการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ให้ความรู้ต่างๆ
กิจกรรมหลัก
1) จัดการแข่งขัน/กิจกรรมพัฒนาทักษะ
2) วิจัยและพัฒนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอาชีวศึกษาและฝึกอบรม
3) ส่งเสริมการพัฒนาภาพลักษณ์การอาชีวศึกษา
4) พัฒนาศักยภาพผู้เรียนและบุคลากรทางการศึกษา
5) เสริมสร้างระบบการประกันสุขภาพ และ
6) แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาการอาชีวศึกษาและฝึกอบรม
กลไกการดำเนินงาน
1) สมาชิกประกอบด้วยผู้แทนจากสาขาความร่วมมืออาเซียนด้านเศรษฐกิจ การศึกษา แรงงาน ธุรกิจ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับประเทศไทย ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์/กระทรวงอุตสาหกรรม
2) กำหนดให้มีการประชุมปีละไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง
3) เจ้าภาพจัดการประชุมรับผิดชอบงบประมาณสำหรับการจัดประชุม และให้แต่ละประเทศรับผิดชอบค่าเดินทางเข้าร่วมการประชุม (cost-sharing basis)
แต่งตั้ง
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายศรายุธ ทองกูล นักการข่าวเชี่ยวชาญ กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านข่าวกรองความมั่นคงและสถาบันหลัก (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1. ให้นายกอบชัย บุญอรณะ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอองระดับสูง) จังหวัดชัยภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวง
2. ให้นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดภูเก็ต สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอองระดับสูง) จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง
3. ให้นายณรงค์ วุ่นซิ้ว พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอองระดับสูง) จังหวัดภูเก็ต สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
25. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ดังนี้
1. นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ประธานกรรมการ
2. นายสุวรรณ บูราพรนุสรณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์)
3. นางอุษา กลิ่นหอม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการเกษตร)
4. นายธีระ พุ่มเสนาะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการบริหารจัดการ)
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวี วัชระเกียรติศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการวิจัยและกระบวนการเรียนรู้)
6. นายเสถียร ใจคำ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการพัฒนาชุมชนและเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
26. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ชุดใหม่ รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิม ได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ดังนี้
1. นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ
2. นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการเกษตร)
3. นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี/นวัตกรรม)
4. นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการพาณิชย์/อุตสาหกรรม)
5. นางจิราวรรณ แย้มประยูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการบริหาร/การเงิน)
6. นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการกฎหมาย)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
27. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการการประปานครหลวง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการการประปานครหลวง จำนวน 4 คน แทนกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์และลาออก ดังนี้
1. นายจำเริญ โพธิยอด (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) กรรมการ
2. พลเอก สิงห์ทอง หมีทอง กรรมการ
3. นายวรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการ
4. นายชัยทัต แซ่ตั้ง กรรมการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
28. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้
1. รับทราบกรณี นายสุภกร บัวสาย พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาในคณะกรรมการสภาการศึกษา เนื่องจากลาออก
2. เห็นชอบแต่งตั้ง นายนิติ นาชิต เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาในคณะกรรมการสภาการศึกษา แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ (ตามข้อ 1.)
โดยให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นไป และในครั้งต่อ ๆ ไปให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสภาการศึกษาให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)
29. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 112/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 112/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจในทุกพื้นที่ของประเทศ ทั้งในด้านการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายและหนี้สิ้น การขาดรายได้ การถูกเลิกจ้าง และการปิดกิจการชั่วคราว ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงได้จัดให้มีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1 – 3 เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะมาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายหลากหลายอาชีพทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ตลอดจนให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทั่วถึง เป็นธรรม โดยเร็ว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
1. องค์ประกอบ
1.1 ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ
1.2 ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการ
1.3 ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการ
1.4 ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรรมการ
1.5 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
1.6 ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการ
1.7 ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
1.8 ปลัดกระทรวงแรงงาน กรรมการ
1.9 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการ
1.10 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ
1.11 ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรรมการ
1.12 ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรรมการและเลขานุการ
2. หน้าที่และอำนาจ
2.1 ติดตาม รวบรวม และบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน
2.2 ตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการของรัฐต่าง ๆ
2.3 นำผลการดำเนินการตามข้อ 2.1 และ 2.2 มาวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความครอบคลุม ทั่วถึงและเป็นธรรม
2.4 กำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินมาตรการชดเชยรายได้ฯ ให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส รวมทั้งเสนอแนะกลไกและขั้นตอนการดำเนินงานที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างแท้จริง ต่อนายกรัฐมนตรี หรือศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2563 เรื่อง การจัดโครงการสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563
2.5 ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงและรายงานข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการ
2.6 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคล เพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
2.7 ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี