วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / การเมือง
เปิดคำพิพากษาศาลฎีกายืนจำคุก'นปช.'2 ปี 8 เดือนคดีบุกบ้านสี่เสาฯ

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกายืนจำคุก'นปช.'2 ปี 8 เดือนคดีบุกบ้านสี่เสาฯ

วันศุกร์ ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 17.26 น.
Tag : แกนนำนปช. คดีบุกบ้านป๋าเปรม คุกนปช.
  •  

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกายืนคุกแกนนำ นปช. “นพรุจ-วีระกานต์-ณัฐวุฒิ-วิภูแถลง-เหวง” 2 ปี 8 เดือน ชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาฯ ไม่รอลงอาญา ชี้ไม่ชุมนุมโดยสงบ ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ละเมิดสิทธิ “พล.อ.เปรม”

เมื่อเวลา 10.00 น วันที่ 26 มิ.ย. ที่ห้องพิจารณา 701 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 หมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายนพรุจ หรือ นพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส


คดีนี้ศาลอาญา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2558 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 จำคุกคนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าพนักงานฯ ให้ยกฟ้องนายวีระศักดิ์และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 ริบของกลางทั้งหมด จำเลยอุทธรณ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พวกจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม เพียงกรรมเดียว จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ยกฟ้องจำเลยที่ 2-3

จำเลยที่1 และ4-7ยื่นฎีกา ขอกลับคำพิพากษา เป็นให้การรับสารภาพ ขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษด้วย

วันนี้ นายนพรุจ จำเลยที่ 1, นายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ , นายวิภูแถลง, นพ.เหวง แกนนำ นปช. จำเลยที่ 4-7 ทั้งหมดเป็นจำเลยที่ต้องสู้คดีถึงชั้นฎีกา เดินทางมาศาล หลังจากก่อนหน้านี้มีเหตุต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้ว 4 ครั้ง อาทิ กรณีจำเลยที่ 4-7 ยื่นขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ โดยวันนี้มี นางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษา นปช., นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. พร้อมญาติ แกนนำและมวลชน นปช. ส่วนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว กรณีจำเลยที่ 4-7 เพิ่งยื่นฎีกาแก้ไขคำให้การเป็นรับสารภาพนั้น ไม่อาจกระทำได้ ต้องกระทำก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มีปัญหาต้องวินิจฉัยนายนพรุจ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางทำร้ายเจ้าพนักงานหรือไม่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม (ยศในคำพิพากษา) ตำรวจผู้บาดเจ็บเป็นพยานเบิกความ ภายหลังผู้บังคับบัญชามีคำสั่งสลายชุมนุม พยานเห็นรถกระบะพุ่งเข้ามาจะชนแถวเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ตำรวจหลบพ้น รถเสียหลักชนเกาะกลางถนน คนขับรถวิ่งหนีเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเห็นจำเลยที่ 1 อยู่ท้ายรถยืนถือเสาธงพร้อมขว้างอิฐใส่ตำรวจ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์ พยายามเข้าไปดึงขาจำเลยที่ 1 ที่ยืนอยู่บนกระบะ จำเลยที่ 1 จึงกระโดดชันเข่ากระทุ้งใส่ เป็นเหตุให้ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์ ได้รับบาดเจ็บข้อมือขวาหัก จึงจับกุมจำเลยที่ 1 ดำเนินคดี

ศาลฎีกาเห็นว่าตำรวจเป็นประจักษ์พยานโดยตรง เบิกความไม่มีพิรุธ จำเลยที่ 1 ยืนบนรถกระบะและถูกจับกุมจริง เหตุแห่งการจับกุมเกิดจากจำเลยที่ 1 ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ เป็นความผิดซึ่งหน้า ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างไม่มีภาพถ่ายพยานหลักฐานเพียงพอนั้น เห็นว่าในเหตุชุลมุนวุ่นวาย เจ้าพนักงานตำรวจผู้ถ่ายรูปต้องคอยหลบหลีกก้อนอิฐที่ปาเข้าใส่จากหลายทิศทาง ไม่มีโอกาสถ่ายรูปจำเลยที่ 1 ให้เห็นทุกขั้นตอน ต้องอาศัยพยานในที่เกิดเหตุ ประจักษ์พยานที่จับกุมจำเลยที่ 1 ให้การตรงไปตรงมา ไม่มีพฤติการณ์กลั่นแกล้งจับกุมเพื่อหวังประโยชน์ใดๆ มีน้ำหนักรับฟังได้

และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (รักษาการ ผบ.ตร.ขณะเกิดเหตุ) สั่งการให้จับตนเพราะมีเหตุโกรธเคืองนั้น เห็นว่าการจับกุมจำเลยเกิดจากการทำผิดซึ่งหน้า เป็นการกล่าวอ้างเลื่อนลอย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเชื่อมโยงกัน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลล่าง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น เห็นว่าพฤติการณ์เป็นการก่อเหตุร้ายแก่เจ้าพนักงานตำรวจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง มิได้สำนึกถึงความผิด ไม่สมควรรอการลงโทษ ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ได้หมายความให้ใช้เสรีภาพปราศจากขอบเขตละเมิดสิทธิผู้อื่น กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่เบิกความเป็นพยานหลายปาก เกี่ยวกับวันเกิดเหตุที่กลุ่ม นปก. (ชื่อขณะนั้น) นัดหมายเดินขบวนไปปราศรัยที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตเคลื่อนขบวน ตำรวจจึงวางแผนรักษาความสงบเรียบร้อย โดย พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (ขณะเกิดเหตุ) ได้แจ้งผู้ชุมนุมว่าตำรวจไม่อนุญาตให้ผ่านเส้นทางเพราะเป็นพื้นที่หวงห้าม แต่จำเลยที่ 7 ยืนยันที่จะผ่านจุดสกัด

จากนั้นผู้ชุมนุมได้ประชิดจุดสกัดตามคำปราศรัยของจำเลยที่ 5 ดึงแผงรั้วเหล็กทิ้งคลองผดุงกรุงเกษม ผลักดันตำรวจและฝ่าแนวกีดขวาง จนไปปักหลักชุมนุมที่หน้าบ้านพัก พล.อ.เปรม โดยจำเลยปราศรัยโจมตีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจและจะชุมนุมจนกว่า พล.อ.เปรม จะลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี ตำรวจเจรจาให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยไม่ยินยอม พร้อมปราศรัยให้ผู้ชุมนุมฮึกเหิมพร้อมก่อความรุนแรง ตำรวจมีมติให้ผลักดันผู้ชุมนุมอย่างละมุนละม่อม ไปเชิญแกนนำมาเจรจา หากไม่เป็นผลให้ตัดสายสัญญาณเครื่องขยายเสียง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ถูกผู้ชุมนุมขว้างอิฐ ไม้ และขวดน้ำ จนต้องล่าถอย จึงมีมติให้จับกุมแกนนำและสลายการชุมนุมด้วยกระบอง แก๊สน้ำตา จากนั้นถูกผู้ชุมนุมใช้อิฐและสิ่งของอื่นขว้างเข้าใส่จนต้องล่าถอยมา 3 ครั้ง จึงสามารถสลายการชุมนุมได้สำเร็จ

ตามทางนำสืบ โจทก์มีพยานหลักฐานวัตถุพยานภาพ วิดีโอ และเทปปราศรัย ขณะจำเลยชุมนุมที่สนามหลวงเป็นการชุมนุมโดยสงบมาตลอด เหตุที่จำเลยที่ 4-7 ต้องการนำผู้ชุมนุมไปปราศรัยที่หน้าบ้านสี่เสาฯ นั้น จำเลยเบิกความถึงภาพ พล.อ.เปรม นำคณะยึดอำนาจเข้าเฝ้า ว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมของประธานองคมนตรี เมื่อปราศรัยมานานไม่ได้รับการตอบสนอง จึงนัดหมายไปทวงถาม พล.อ.เปรม โดยตรง เรียกร้องให้ตอบข้อสงสัยและกดดันให้ลาออก จำเลยที่ 4-7 เชื่อว่า พล.อ.เปรม อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ โดยความจริงแล้วจำเลยไม่มีหลักฐานมั่นคงมาพิสูจน์ให้รับฟังได้ และ พล.อ.เปรม ไม่ได้นัดหมายหรือแถลงข่าวให้จำเลยที่ 4-7 ฟังคำตอบหรือคำชี้แจง การที่จำเลยที่ 4-7 นำผู้ชุมนุมไปปราศรัยโจมตี จึงเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของ พล.อ.เปรม

จำเลยที่ 4-7 และกลุ่ม นปก. เคลื่อนขบวนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจโดยชอบในการควบคุมการชุมนุมสาธารณะ จำเลยและแกนนำได้ปราศรัยแสดงเจตนาจะไปให้ถึงบ้าน พล.อ.เปรม สำเร็จ ทั้งหมดเป็นหลักฐานประจักษ์ตอกย้ำละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิเสรีภาพของ พล.อ.เปรม ไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบ มั่วสุมชุมนุมโดยใช้กำลังประทุษร้าย กีดขวางการจราจรไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนจุดสกัด เมื่อถึงหน้าบ้านพัก พล.อ.เปรม จำเลยได้ปราศรัยจะชุมนุมอยู่ที่นี่จนกว่าจะชนะ จนกว่า พล.อ.เปรม จะพ้นตำแหน่ง ส่งเสียงดังรบกวนไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเครื่องขยายเสียง ประชาชนไม่สามารถใช้ถนนได้ การที่ตำรวจตัดสินใจดำเนินการยับยั้งสมเหตุสมผล เพราะแกนนำและผู้ชุมนุมไม่ตอบสนอง พร้อมต่อต้านขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจ มีเจตนาเผชิญหน้า ตำรวจไม่ได้ก่อเหตุทำร้ายผู้ชุมนุมก่อน ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมถึงแก่ความตาย จึงไม่เกินกว่าเหตุตามที่จำเลยอ้าง

ส่วนที่จำเลยที่ 4-7 ฎีกาขอลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า การกระทำเป็นลักษณะเตรียมวางแผนล่วงหน้าในการนำมวลชนจำนวนมากไปมั่วสุมใช้กำลังประทุษร้าย ทำลายทรัพย์สินราชการ ฝ่าฝืนคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของตำรวจ ต่อสู้ขัดขวางตำรวจจนเกิดการปะทะเป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน จำคุกจำเลยที่ 1, 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

บวงสรวงซีรีส์ ‘หลิง – ออม’ ปลื้มแฟนคลับจัดฟู้ดทรัคเปย์กว่า 20 คัน

สง่างาม! 'มายด์ ณภศศิ'สวมชุดไทยร่วมรำถวายพญานาค

(คลิป) ชำแหละ! 'นิรโทษกรรม ม.112' ฉบับ! 'พรรคประชาชน-เอ็นจีโอ'

'สุริยะ'รับมีงบกระจุกจริง แต่ยังไม่ได้อนุมัติ เหตุมีเอกสารคำขอไม่ตรงกัน

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved